'45 ปี แห่งการพัฒนาฯ' ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน ต่อยอดพระราชดำริ

'45 ปี แห่งการพัฒนาฯ' ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน ต่อยอดพระราชดำริ

ครบรอบ 45 ปีการสถาปนาศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ร่วมกับ กปร.จัดงาน “45 ปี แห่งการพัฒนา 72 พรรษา มหามงคล” แสดงผลงานความสำเร็จจากการพัฒนาต่อยอดแนวพระราชดำริ และการขยายผลไปสู่ประชาชนและชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมของ 13 หน่วยงาน

20 ส.ค.2567 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) จัดงานครบรอบ 45 ปีการสถาปนาศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ภายใต้ชื่อ “45 ปี แห่งการพัฒนา 72 พรรษา มหามงคล”

ภายในงานจัดแสดงผลงานความสำเร็จจากการพัฒนาต่อยอดแนวพระราชดำริและการขยายผลไปสู่ประชาชนและชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมของ 13 หน่วยงาน โดยมีนายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นประธานเปิดงาน โอกาสนี้ นายศุภรัชต์ อินทราวุธ รองเลขาธิการ กปร. กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงานครั้งนี้ 
              
ภายในงานจัดแสดง นิทรรศการ Cassava entire by Khao Hin Sorn นิทรรศการสืบสานการพัฒนา ผลิตพืชก้าวหน้า เพิ่มมูลค่าผลผลิต นิทรรศการปลานิลของพ่อ นิทรรศการศิลปาชีพที่บ้านพ่อ นิทรรศการการพัฒนาสวนรุกขชาติเพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ทางธรรมชาติ เพิ่มพื้นที่สีเขียวลดปริมาณคาร์บอนสู่ความยั่งยืน และนิทรรศการอัตลักษณ์สมุนไพร สวนสมุนไพรเขาหินซ้อน เป็นต้น

\'45 ปี แห่งการพัฒนาฯ\' ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน ต่อยอดพระราชดำริ

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรม การประกวด Eco Printing การพิมพ์ลายผ้าด้วยใบไม้ การวาดภาพระบายสี การประกวดภาพถ่าย การประกวด Content บอกรักแม่ การแข่งกรอกวัสดุปลูกลงในถุงดำ ที่ได้รับความสนใจจากผู้เยี่ยมชมงานในครั้งนี้ 

อีกทั้ง ยังมีการฝึกอบรมอาชีพระยะสั้น เช่น การผลิตและใช้เชื้อจุลินทรีย์ป้องกันกำจัดศัตรูพืช (เชื้อราไตรโคเดอร์มา) การปลูกผัก การทำก้อนเชื้อเห็ด  การทำน้ำมันไพล การทำยาดมสมุนไพร การทำคอกเทลสลัดโรล แหนมหมูเห็ด โดนัทจิ๋ว และมีการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรจากเกษตรกรขยายผลหมู่บ้านรอบศูนย์ฯ 

นางกาญจนา พึ่งเกษม เกษตรกรหมู่ที่ 6 ต.บ้านซ่อง อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา หนึ่งในเกษตรกรขยายผลจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ ได้นำผลผลิตมาจำหน่ายภายในงาน เปิดเผยว่า นำความรู้ที่ได้รับจากศูนย์ฯ ไปทำในพื้นที่ของตน ซึ่งเดิมทำการเกษตรเชิงเดี่ยวได้ปรับเป็นการทำเกษตรแบบผสมผสานบนพื้นที่ 7 ไร่ 1 งาน ประกอบด้วย ปลูกพืชผักสวนครัว เพาะเห็ด เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ มีสระน้ำขุด จำนวน 2 บ่อ สำหรับทำการเกษตรและเลี้ยงปลา  ทำให้มีรายได้โดยเฉลี่ยประมาณ 3,000 - 4,000 บาท ต่อเดือน

“รู้สึกดีใจที่มีศูนย์ฯ แห่งนี้  ทำให้เกษตรกรได้เข้ามาเรียนรู้เรื่องการประกอบอาชีพ และได้รับปัจจัยการผลิตด้านต่าง ๆ ที่กลายเป็นทุนตั้งต้นในการเริ่มทำการเกษตร ซึ่งตอนนี้ได้เข้าร่วมกลุ่มกับเกษตรกรรายอื่น ๆ เพื่อขยายช่องทางในจำหน่ายผลผลิตต่าง ๆ เช่น กลุ่มเห็ด กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และตอนนี้กำลังฝึกฝนด้านอื่น ๆ เช่น ทําปลาส้ม ปลาร้า โดยมีสมาชิกในกลุ่มที่มีความรู้และความสามารถด้านนี้มาช่วยสอนให้” นางกาญจนา กล่าว

\'45 ปี แห่งการพัฒนาฯ\' ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน ต่อยอดพระราชดำริ

นางวิภารัตน์ ช่วยแก้ว ราษฎรหมู่ที่ 9 ต.บ้านซ่อง อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา เปิดเผยว่า เคยทำงานบริษัทเอกชน ในช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ระบาดได้กลับมาอยู่บ้าน และใช้พื้นที่ 10 ไร่  2 งาน ทำการเกษตรอินทรีย์ ปลูกพืชสมุนไพร อาทิ ขมิ้น ไพล พร้อมกับเพาะเห็ดนางฟ้าภูฐาน หลังจากเก็บดอกเห็ดแล้วก็นำก้อนเชื้อไปหมักเป็นปุ๋ยใส่บำรุงต้นไม้ต่อได้ โดยความรู้และปัจจัยการผลิตเบื้องต้นได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ 

\'45 ปี แห่งการพัฒนาฯ\' ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน ต่อยอดพระราชดำริ               
“จากการน้อมนำแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในด้านการปรับปรุงบำรุงดิน อาทิ การใช้หญ้าแฝกในการบำรุงดิน  ทำให้สามารถปลูกพืชชนิดต่างๆ ได้ โดยเฉพาะพืชสมุนไพร ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพดี ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ทุกวันนี้มีความหวัง และมีความมั่นคงในชีวิต สามารถพึ่งพาตนเองได้ ถึงแม้จะเป็นแม่บ้านก็สามารถมีรายได้ที่มั่นคงได้"

นางวิภารัตน์ บอกอีกว่า เธอมีความสนใจในกิจกรรมต่างๆ ของศูนย์ และเฝ้าติดตามการประกาศของแต่ละกิจกรรม ของศูนย์อย่างต่อเนื่อง หากมีการเปิดโครงการฝึกอบรมอาชีพเรื่องอะไรก็จะรีบสมัครเข้ามาอบรมทันที เพราะทำให้มีความรู้และได้ช่องทางในการทำกินเพิ่มมากขึ้น ดีใจที่มีศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ แห่งนี้