ยกระดับกาแฟ 'โรบัสต้าชุมพร' ธ.ก.ส.เติมทุน เชื่อมชุมชนสู่ท่องเที่ยวเกษตร
ยกระดับกาแฟ "ชุมพรโรบัสต้า"แปรรูป สู่มาตรฐานสากล เพิ่มมูลค่าสินค้า ธกส.เติมทุน หนุนผู้ประกอบการ เชื่อมโยงชุมชนสู่การท่องเที่ยวเชิงเกษตร พัฒนา 12 เส้นทาง ตั้งเป้าสร้างฐานชุมชนท่องเที่ยว 97 ชุมชน พัฒนาเครือข่ายมากกว่า 290 ชุมชน รองรับการเติบโตไปสู่ตลาดโลก
9 ก.ย.2567 นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จังหวัดชุมพรถือเป็นแหล่งเพาะปลูกกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้ามากที่สุดในประเทศไทย เนื่องจากมีสภาพภูมิศาสตร์และอากาศที่เหมาะสม โดยในส่วนของ ธ.ก.ส. พร้อมยกระดับผู้ประกอบการกาแฟกว่า 21 เครือข่ายในจังหวัดชุมพร ด้วยการชูกาแฟโรบัสต้า ของดีจังหวัดชุมพร มาสร้างมาตรฐานในทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการรวบรวม การทำ Packaging การแปรรูป และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีมูลค่าสูง
โดยเชื่อมโยงกับเครือข่ายด้านการวิจัยและเทคโนโลยี มาเติมองค์ความรู้ให้กับผู้ประกอบการ ในการปรับเปลี่ยนการผลิตให้ได้มาตรฐาน รวมถึงบริหารจัดการช่องทางการตลาด อาทิ การจำหน่ายสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือการนำลูกค้าไปศึกษาดูงาน ผ่านโครงการต่างๆ อันเป็นการเพิ่มโอกาสทางการตลาดและช่องทางการจำหน่าย
ทั้งนี้ ธ.ก.ส. มีนโยบายในการจัดทำฐานข้อมูล (Database) ที่มีการเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์ความต้องการตลาดและกลุ่มเป้าหมาย เพื่อนำมาใช้ในการวางแผน คิดค้น และพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร รวมถึงการบริหารจัดการการผลิตที่ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคต่าง ๆ ได้อย่างตรงจุด ควบคู่กับการต่อยอดสินค้าให้ได้มาตรฐานสากล เพื่อขยายฐานไปสู่ตลาดที่มีกำลังซื้อสูง รวมถึงการเติมเงินทุนให้เกษตรกรในอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนผ่านสินเชื่อที่หลากหลาย เช่น สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย สินเชื่อแทนคุณ และสินเชื่อ BCG เป็นต้น
นายฉัตรชัย กล่าวอีกว่า สำหรับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านถ้ำสิงห์ เป็นหนึ่งในผู้นำด้านการผลิตกาแฟโรบัสต้าในจังหวัดชุมพร ที่มีกระบวนการผลิตที่พิถีพิถันทุกขั้นตอน ตั้งแต่การคัดเลือกสายพันธุ์กาแฟ การเก็บผลผลิต การตาก การสี และการคั่ว โดยใช้เวลาในการบ่มไว้กว่า 1 ปี ทำให้เมล็ดกาแฟของถ้ำสิงห์มีรสชาติเข้มข้น กลิ่นหอม และไม่มีรสเปรี้ยว
นอกจากนี้ ยังมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในกระบวนการผลิตกาแฟ เช่น การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการตากกาแฟ การใช้เครื่องจักรในการคั่วเมล็ดกาแฟ และการแปรรูปเป็นกาแฟรูปแบบต่างๆ ทำให้กาแฟถ้ำสิงห์เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ไม่ว่าจะเป็นกาแฟดริป กาแฟสำเร็จรูป กาแฟกระป๋องพร้อมทาน หรือลูกอมกาแฟ เป็นต้น
โดยทางวิสาหกิจชุมชนฯ มีการจำหน่ายเมล็ดกาแฟไปยังเครือข่ายชุมชนกาแฟในจังหวัดชุมพรและจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ ผ่านทางออฟไลน์และออนไลน์ และมีการเปิดสาขาร้านกาแฟถ้ำสิงห์อีกกว่า 6 สาขาในจังหวัดชุมพร และเตรียมขยายสาขาไปยังพื้นที่จังหวัดใกล้เคียงในเร็วๆ นี้
นายฉัตรชัย ระบุว่า ทั้งนี้ ธ.ก.ส. ได้ให้การสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านถ้ำสิงห์ในด้านเงินทุนสำหรับต่อยอดและหมุนเวียนธุรกิจ รวมถึงมีการสนับสนุนช่องทางการตลาด ด้วยการให้พื้นที่ด้านหน้าสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. ชุมพร (สกต.ชุมพร) ในการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ การรับรองมาตรฐาน A-Product ให้แก่ผลิตภัณฑ์กาแฟถ้ำสิงห์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค
นอกจากการผลิตกาแฟแล้ว ในกระบวนการปลูกกาแฟ วิสาหกิจชุมชนฯ ยังได้สร้างธนาคารน้ำใต้ดิน เพื่อใช้กักเก็บปริมาณน้ำฝนในช่วงฤดูฝน ด้วยการเจาะท่อลงในพื้นดินทั่วพื้นที่สวน และขุดบ่อบาดาลเอาไว้ เพื่อให้น้ำฝนที่ตกลงมาโดนดูดซับผ่านท่อ และพื้นดินลงไปในชั้นใต้ดิน และไหลไปรวมกันที่บ่อบาดาล ทำให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ มีน้ำใช้ตลอดปี และสามารถนำน้ำบาดาลที่กักเก็บไว้มาใช้ในฤดูแล้งได้ตลอด ซึ่งถือเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
นายฉัตรชัย กล่าวด้วยว่า ชุมพรเป็นจังหวัดที่มีทัศนียภาพที่งดงาม ทั้งทะเล ภูเขา ป่าไม้ และมีผลไม้หลากหลายชนิด ซึ่ง ธ.ก.ส. มีนโยบายสนับสนุนผ่านโครงการท่องเที่ยวเชิงเกษตร (BAAC Agro-Tourism) โดยนำจุดเด่นของชุมชนมาพัฒนา ต่อยอด และวางแนวทางการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับความต้องการนักท่องเที่ยว พร้อมเชื่อมโยงเครือข่ายท่องเที่ยวให้เข้มแข็ง เพื่อสร้างโอกาส สร้างงาน และสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนอย่างยั่งยืน
สำหรับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านถ้ำสิงห์ มีสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร ได้แก่ ผาตาอู๊ด ถ้ำสิงห์ ที่สามารถเปิดประสบการณ์ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสธรรมชาติและวิถีชุมชน เช่น การกางเต็นท์ ชมทะเลหมอกที่จุดชมวิวเขาถ้ำศิลางู เป็นต้น โดยนักท่องเที่ยวยังสามารถเข้ามาเยี่ยมชมไร่กาแฟ พร้อมชมกระบวนการผลิต และชิมกาแฟโรบัสต้าที่ดีที่สุดได้อย่างเต็มที่
โดย ธ.ก.ส. ตั้งเป้าสร้างฐานชุมชนท่องเที่ยวทั่วประเทศ สะสม 97 ชุมชน พัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชิงเกษตร 12 เส้นทาง และพัฒนาเครือข่ายท่องเที่ยวมากกว่า 290 ชุมชน โดยคาดหวังว่าจะสามารถดึงนักท่องเที่ยวได้กว่า 200,000 ราย และสร้างรายได้ให้กับชุมชนท่องเที่ยวสะสมกว่า 50 ล้านบาท