'รมช.กลาโหม' ชื่นชม ทีมเชียงใหม่โมเดล บูรณาการแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ดี
"รมช.กลาโหม" ชื่นชม “ผู้ว่าฯเซมเบ้” ตั้ง ศูนย์ประสานงานให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัยจว.เชียงใหม่ บูรณาการแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ดี
เมื่อวันที่ 7 ต.ค.67 พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม ในฐานะที่ปรึกษาศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.)ปฏิบัติการส่วนหน้า ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมและการดำเนินงานของศูนย์ประสานงานให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัยจังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้การบูรณาการทำงานในรูปแบบของทีมเชียงใหม่โมเดล
โดยได้ประชุมรับฟังสรุปผลการปฏิบัติภารกิจแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และการบูรณาการให้การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย เพื่อนำข้อมูลจากสถานการณ์ในปัจจุบันมาวิเคราะห์ ก่อนระดมกำลังพลและเครื่องมือทหารช่าง มาให้ความช่วยเหลือในการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยในจังหวัดเชียงใหม่
โดยมี นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายก อบจ.เชียงใหม่ และหน่วยงานต่างๆ ร่วมให้ข้อมูล
โดย พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้ยินชื่อเสียงของการดำเนินงานของทีมเชียงใหม่โมเดล ประกอบกับได้รับมอบหมายในการเป็นที่ปรึกษาของศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลถล่ม (ศปช.) ซึ่งทางจังหวัดเชียงใหม่กำลังประสบปัญหาอุทกภัยอยู่ในขณะนี้ โดยได้มีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัยจังหวัดเชียงใหม่ จึงได้มาเยี่ยมชมการดำเนินงานของศูนย์ดังกล่าวที่เกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่าย
ซึ่งจากการเยี่ยมชม ก็มีความเห็นด้วยอย่างยิ่งที่ทางจังหวัดเชียงใหม่มีการจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจนี้ขึ้นมา เพราะเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่มีการรวบรวมเอาหน่วยงานต่างๆ มาอยู่ที่เดียวกัน ทำงานร่วมกัน ทำให้การหารือในการตัดสินใจต่างๆ เป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ครอบคลุมทุกด้าน และไม่มีการซ้ำซ้อน เพราะต้องคำนึงถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนเป็นสำคัญ ต้องแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว หากช้าไปเพียงหนึ่งวันก็จะทำให้พี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อนเพิ่มขึ้น
ดังนั้นในนามของกระทรวงกลาโหม จึงพร้อมให้การสนับสนุนการทำงานในลักษณะเช่นนี้ต่อไป ซึ่งหลังจากจบภารกิจนี้แล้ว ก็ขอให้จังหวัดเชียงใหม่ทำการถอดบทเรียนของเชียงใหม่โมเดล ส่งเสนอให้กับกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้เป็นโมเดลตัวอย่างในการทำงานให้กับจังหวัดอื่นๆ ได้พิจารณานำไปปรับใช้ในพื้นที่ของตนเอง