'สมคิด' หนุนแก้ กม.ที่ดิน ขยายสิทธิ 'ส.ป.ก.' เพื่ออุตสาหกรรม-ท่องเที่ยว
"สมคิด" หนุนแก้ปัญหาที่ดิน แบ่งที่ดินกองทัพให้ประชาชนใช้ประโยชน์ พร้อมขยายสิทธิ "ส.ป.ก." ทำอุตสาหกรรม และท่องเที่ยว ด้านนักวิชาการหนุนปฏิรูปกม.ที่ดิน หวังพลิกเศรษฐกิจ
ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน สมาคมสินแร่และวัสดุก่อสร้าง ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้จัดการสัมมนาเรื่อง “ที่ดินของรัฐ : บริหารจัดการใหม่พลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย”
โดย นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ที่ดินของรัฐ กับข้อจำกัดและโอกาสการพัฒนาในมุมของกฎหมาย ตอนหนึ่งระบุว่า ประเทศไทยมีที่ดินรวม 320 ล้านไร่ แต่ถ้ารวมทุกโฉนดพบว่ามีที่ดินเกิน 320 ล้านไร่ เพราะมีปัญหาการทับซ้อน ข้อมูลของแต่ละหน่วยงานไม่ตรงกัน งานยากของรัฐบาลคือการลดความเหลื่อมล้ำในการใช้ที่ดิน เช่น เอาที่ดินจากกองทัพซึ่งไม่ได้ใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจโอนให้กรมธนารักษ์ แล้วกรมธนารักษ์ให้คนยากจนเช่าทำกินในราคาถูก
“ที่ดินของรัฐหลายเรื่องทำยาก ช้าเกือบทุกเรื่อง ต้องปรับปรุงกฎหมายที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน ประเทศไทยเจ้าระเบียบ เขียนระเบียบเขียนกติกามากจนทำอะไรไม่ได้ เหมือนทำรั้วเพราะกลัวขโมยจนออกจากบ้านตัวเองไม่ได้ กลัวทุกเรื่องทุกอย่างจนกลายเป็นปัญหา ทั้งนี้ รัฐบาลชุดก่อนต้องการทวงคืนผืนป่า เป็นเรื่องที่ถูกต้องแต่ไม่ถูกทุกเรื่อง ใช้กฎหมายคสช.รื้อถอน วันนี้คดีแห้งไปแล้วกว่า 3 หมื่นคดี ได้ที่ดินคืนแล้วไม่รู้จะทำยังไงต่อ กฎหมายเกี่ยวกับที่ดินมีเยอะมาก หากจะแก้ต้องไปในทิศทางเดียวกัน” นายสมคิด กล่าว
นายสมคิด กล่าวด้วยว่าที่ดินส.ป.ก.ตามกฎหมายให้ทำการเกษตรอย่างเดียวแต่โลกวันนี้เกษตรอย่างเดียวไม่เพียงพอ รัฐได้ผลตอบแทนเป็นภาษีก็น้อย เราสามารถปรับโครงสร้างส.ป.ก.ได้ ไม่ได้แปลว่าจะยกที่ส.ป.ก.ให้เป็นของเอกชน แต่แปลว่าถ้าไม่เหมาะกับการเกษตรอาจจะเป็นอุตสาหกรรมหรือเพื่อการท่องเที่ยวได้ อย่างไรก็ดีจากสถิติผู้ที่มาร้องทุกข์ที่ทำเนียบรัฐบาล อันดับแรกคือเรื่องที่ดินทำกิน แปลว่าทุกรัฐบาลที่ผ่านมาไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ถ้าจะแก้ได้ต้องบูรณาการจริงๆทุกหน่วยงาน
ขณะที่ นายกิติชัย รัตนะ อาจารย์ประจำภาควิชาอนุรักษ์วิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวตอนหนึ่งในช่วงสัมมนา หัวข้อที่ดินของรัฐ บริหารจัดการใหม่ พลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย ว่า ปัจจุบันมีความไม่ชัดเจนว่าที่ดินส.ป.ก. ทำประโยชน์เพื่อเกษตรได้ดีจริงหรือ เพราะพบว่าการใช้ประโยชน์ที่ดินส่งผลต่อผลิตภาพต่ำมาก เกษตรกรไทยติดกับเรื่องต้นทุนการผลิตและหนี้สิน ดังนั้นมีความจำเป็นที่รัฐสภาต้องเพิ่มมูลค่าที่ดินใหม่ รัฐบาลกลางต้องจัดสรรแบ่งปันบริหารการใช้ประโยชน์ที่ดินด้วยแนวคิดแบบพลิกโฉม ด้วยการออกกฎหมายใหม่ ยกเลิกกฎหมายเก่าที่ไม่จำเป็น
ทางด้าน นายชวลิต ชูขจร อดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานที่มีที่ดินของตนเอง และมีกฎหมายบังคับใช้ 16 ฉบับใช้บังคับอยู่ แต่ละฝ่ายต่างถือกฎหมายคนละฉบับในการทำหน้าที่ของตน เมื่อมีนโยบาย กฎหมาย และภาษีเข้ามากำกับ ทำให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยไม่คำนึงถึงความคุ้มค่าหรือผลผลิต
“ที่ดินส.ป.ก.40ล้านไร่ เคยมีนโยบายต้องรักษาไว้เพื่อความมั่นคงของประเทศ ใช้กฎหมายส.ป.ก.ที่ห้ามจำหน่ายจ่ายโอน แต่ความจริงที่ดินรัฐมีการบุกรุกตลอด รัฐจัดการแบบมีปัญหาดินพอกหางหมู ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าปัญหามีอยู่จริง สำหรับปัญหาใหญ่คือความไม่เป็นเอกภาพของหน่วยงานราชการ มีการตั้งสคทช.เพื่อให้เป็นหนึ่งเดียว แต่สิ่งที่หน่วยงานต่างๆกำลังทำอยู่ไม่เชื่อว่าจะแก้ไขปัญหาอะไรได้” นายชวลิต กล่าว
ขณะที่นายพรสิทธิ์ ด่านวนิช รองนายกสมาคมสินแร่และวัสดุก่อสร้าง กล่าวว่าตนเองเป็นตัวแทนของภาคเอกชนที่ประสบปัญหาการใช้ที่ดินของรัฐโดยเฉพาะเรื่องที่ดินส.ป.ก.กับการทำเหมืองแร่ ที่ดินส.ป.ก. ทั้งหมด 40 ล้านไร่ สำรวจแล้วมีแร่อยู่ในบริเวณแค่ 4 ล้านไร่ และเอกชนยื่นขอใช้พื้นที่เพียง 3 แสนไร่ จะเกิดประโยชน์ในแง่ค่าภาคหลวง ค่าตอบแทนพิเศษสำหรับส.ป.ก. รายได้ส่วนใหญ่ 60% จะตกแก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเมื่อมีการทำเหมืองจะเกิดการจ้างงานชาวบ้านในพื้นที่ จะมีกองทุนให้กับชุมชนใกล้เคียง หลังการทำเหมืองจะมีแหล่งเก็บน้ำขนาดใหญ่สำหรับเกษตรกร