42 ปี ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ ต่อยอดสู่ธุรกิจ

42 ปี ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ ต่อยอดสู่ธุรกิจ

42 ปี สืบสาน รักษา ต่อยอด ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ พลิกฟื้นคืนความสมบูรณ์แก่พื้นที่ป่า 8,500 ไร่ จากเพื่อมีกินมีใช้ ก้าวสู่ธุรกิจ

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ 1 ใน 6 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  ตัวอย่างผลสำเร็จของการพลิกฟื้นคืนความสมบูรณ์แก่พื้นที่ป่า 8,500 ไร่ ด้วยการศึกษาทดลองภายใต้สภาพภูมิประเทศและภูมิสังคมในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต เพื่อให้ประชาชนได้มาศึกษาเรียนรู้และนำไปปฏิบัติในพื้นที่ของตนเอง        

นางสุพร ตรีนรินทร์ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เปิดเผยภายหลังพิธีเปิดงานนิทรรศการ “42 ปี  สืบสาน รักษา ต่อยอด ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นประธานในพิธี ว่าจากการดำเนินงานตามแนวพระราชดำริ ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องใคร้ฯ จวบจนปัจจุบัน (พ.ศ. 2567)  ครบ 42 ปี กว่า 4 ทศวรรษ ภายใต้แนวทาง “ต้นทางคือป่าไม้ ปลายทางคือประมง ระหว่างทางคือเกษตรกรรม” ประชาชนได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้จากตัวอย่างความสำเร็จวิธีการทำกินและการดำเนินชีวิตที่เหมาะสม โดยมีหลักสูตรฝึกอบรมที่โดดเด่น 32 หลักสูตร ใน 5 ด้าน ประกอบด้วย ดิน น้ำ ป่าไม้ พืช และประมง 

42 ปี ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ ต่อยอดสู่ธุรกิจ

“ในปี 2567 ที่ผ่านมา มีประชาชนเข้าอบรมกว่า 662 คน และศึกษาดูงานกว่า 16,744 คน มีเกษตรกรขยายผลที่ประสบความสำเร็จ 192 ราย โดยเกษตรกรเหล่านี้ได้น้อมนำพระราชดำริมาเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพ เพื่อให้มีกินมีใช้ไม่ขัดสน ปัจจุบันได้ต่อยอดขยายผลด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์รวมถึงการแปรรูปผลผลิต นับเป็นผลสำเร็จในการขยายผลจากศูนย์ศึกษาฯ สู่ประชาชนอย่างชัดเจน จากเป้าหมายเพื่อการผลิตให้มีกินมีใช้ในครอบครัว จนสามารถยกระดับสู่ผู้ประกอบการที่มีผลิตภัณฑ์เป็นของตนเอง และได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค” นางสุพร กล่าว

นายสุจินต์ แสงแก้ว เกษตรกรศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ ด้านการเพาะเลี้ยงกบและขยายพันธุ์กบ ได้นำผลสำเร็จในการประกอบอาชีพที่ได้รับความรู้จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ มาจัดแสดงด้วยแนวคิด “จากสัตว์ในท้องนา พัฒนาสู่…สัตว์เลี้ยงสร้างรายได้  และจากสัตว์ปีกสวยงาม พัฒนาสร้างเป็นสัตว์เศรษฐกิจสู่สากล”

ศูนย์เรียนรู้ฯ แห่งนี้มีความโดดเด่นในการบริหารจัดการพื้นที่บริเวณบ้านที่มีจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด สร้างรายได้จากอาชีพเสริมจนมาเป็นอาชีพหลัก โดยการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์กบนา การเลี้ยงไก่ฟ้า ต่อยอดด้วยการเลี้ยงและขยายพันธุ์เป็ดสวยงาม พร้อมทั้งผลักดันและสร้างเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงกบ รวมถึงเลี้ยงเป็ดแมนดาริน แบ่งปันขยายผลลูกกบนาให้แก่ชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง สร้างแหล่งอาหาร สร้างรายได้ ดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

42 ปี ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ ต่อยอดสู่ธุรกิจ

“เป็ดแมนดารินที่ต่อยอดจากการฝึกอบรมการเลี้ยงไก่ฟ้าจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ประสบความสำเร็จอย่างดี และถ่ายทอดให้แก่ชาวบ้านข้างเคียง  ปัจจุบันตำบลป่าเมี่ยงได้เป็นแหล่งผลิตเป็ดแมนดาริน ส่งตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ลูกค้าส่วนใหญ่ซื้อไปเลี้ยงเป็นสัตว์สวยงาม มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน โดยเมื่อจับคู่กันแล้วก็จะครองคู่กันตลอดไป สื่อถึงความรักเดียวใจเดียว ปัจจุบันราคาขายคู่ละ 10,000 บาท  นับเป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ให้แก่พี่น้องชาวบ้านได้เป็นอย่างดี นอกเหนือจากการเลี้ยงกบนา” นายสุจินต์ กล่าว

เป็ดแมนดาริน เป็นนกขนาดกลาง มีความยาวลำตัวเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 48 เซนติเมตร ในฤดูผสมพันธุ์ตัวผู้จะมีสีฉูดฉาดหลายสี หน้าผากและหัวเป็นสีทองแดง สีม่วง และสีเขียวเหลือบเป็นมันเงา ขนปีกสีส้มขนาดใหญ่เป็นแผงข้างละเส้น และจะสวยงามมากขึ้นในฤดูผสมพันธุ์ ขณะที่ตัวเมียจะมีขนาดตัวย่อมลงมา และสีสันไม่ฉูดฉาดเท่าตัวผู้ ชอบอาศัยอยู่ตามหนองบึง และลำห้วยที่มีต้นไม้ขึ้นปกคลุม มักเกาะตามกิ่งไม้เป็นฝูงเล็ก ๆ กินพืชน้ำชนิดต่าง ๆ รวมถึงสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร  การเพาะเลี้ยงไม่ยาก สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมของประเทศไทยได้ดี