'สุขุมพันธุ์'ลุยตรวจ'อุโมงค์ยักษ์'บางซื่อ

'สุขุมพันธุ์'ลุยตรวจ'อุโมงค์ยักษ์'บางซื่อ

"ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์" ลุยตรวจ "อุโมงค์ยักษ์" บางซื่อ เปิดทางแก้น้ำท่วม6เขต งบ 2.4 พันล้าน-เสร็จต้นปี 60 เล็งเปลี่ยนท่อระบายน้ำทั่วกรุงฯ

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) พร้อมคณะลงพื้นที่ตรวจความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ จากคลองลาดพร้าวถึงแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสถานที่ก่อสร้างบริเวณถนนกําแพงเพชร (บ่อ 3) เขตจตุจักร โดยมีนายสมพงษ์ เวียงแก้ว รองผู้อํานวยการสํานักการระบายน้ำ และคณะผู้บริหารสํานักการระบายน้ำได้รายงานความก้าวหน้าโครงการ จากนม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ได้ลงลิฟฟ์ลึกลงมา 30 เมตรพร้อมนั่งรถรางในอุโมงค์ระยะทาง 700 เมตร เพื่อตรวจความคืบหน้าของโครงการ ซึ่งมีการขุดเจาะตลอด 24 ชั่วโมง หรือประมาณ 15 เมตรต่อวัน

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ จากคลองลาดพร้าวถึงแม่น้ำเจ้าพระยาเริ่มจากถนนรัชดาภิเษก ลอดใต้คลองบางซื่อไปออกแม่น้ำพระยาบริเวณเกียกกาย สร้างขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเนื่องจากฝนตกหนัก ครอบคลุมพื้นที่ ประมาณ 56 ตารางกิโลเมตร รวมพื้นที่ 6 เขตประกอบด้วย อีกทั้งจะช่วยแก้ไขปัญหาพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วมทั้ง 6 จุด ประกอบด้วย 1.ถนนพหลโยธิน ช่วงจากสี่แยกสะพานควายถึงห้าแยกลาดพร้าว 2.ถนนวิภาวดีรังสิต ช่วงจากสี่แยกสุทธิสารถึงห้าแยกลาดพร้าว 3.ถนนรัชดาภิเษก ช่วงจากสี่แยกรัชโยธินถึงคลองบางซื่อ 4.ถนนลาดพร้าว ช่วงจากสี่แยกรัชดาลาดพร้าวถึงคลองบางซื่อ 5.ถนนกําแพงเพชร ช่วงจากใต้ทางด่วนศรีรัชถึงตลาดนัดสวนจตุจักร 6.ถนนสามเสน ช่วงจากคลองบางกระบือถึงสี่แยก เกียกกาย นอกจากนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในคลองบางซื่อบริเวณคอขวดช่วงถนนพหลโยธินถึงถนนวิภาวดีรังสิตด้วย

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ อุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ มีสถานีสูบน้ำตั้งอยู่ตอนปลายของอุโมงค์แนวริมแม่นน้ำเจ้าพระยาที่บริเวณเกียกกาย โดยมีกําลังสูบรวมขนาด 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มีอาคารรับน้ำจํานวน 3 แห่ง อุโมงค์มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5.0 เมตร ระยะทางยาวประมาณ 6,400 เมตร พร้อมกับมีอาคารสํานักงานจํานวน 1 แห่ง ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 2,442 ล้านบาท เป็นเงินอุดหนุนจากรัฐบาล 50 เปอร์เซ็นต์ โดยมีค่าว่าจ้างที่ปรึกษาจํานวน 41 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งโครงการ 2,483 ล้านบาท ซึ่งสํานักการระบายน้ำได้ว่าจ้างบริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จํากัด (มหาชน) เป็นผู้ดําเนินการ ก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำฯ และได้ว่าจ้างบริษัท ไทยเอนยิเนียริ่งคอนซัลแตนทส์ จํากัด ร่วมกับบริษัท คอนซัลติ้ง เอนยิเนีย จํากัด เป็นที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงาน ซึ่งขณะนี้ ผลงานการก่อสร้างดําเนินการไปแล้ว 46.50 เปอร์เซ็นต์ เร็วกว่าตามแผนงานจากเดิมที่ 44.74 เปอร์เซ็นต์ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณต้นปี 2560

“ส่วนอาคารสูบน้ำ อาคารรับน้ำ มีความ คืบหน้าอยู่ที่ 70 เปอร์เซ็นต์ เมื่อแล้วเสร็จอุโมงค์ยักษ์บางซื่อจะระบายน้ำได้ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะสามารถแก้ไขพื้นที่ที่มีน้ำท่วมเรื้อรัง อาทิ ถนนรัชดา ถนนวิภาวดีฯ และถนนพหลโยธิน ส่วนมาตรการก่อนอุโมงค์ยักษ์เสร็จสิ้นกทม.ต้องเตรียมพร้อมทั้งการลอกท่อ เปิดทางน้ำไหล และติดตั้งเครื่องสํบน้ำ อย่างไรก็ตามภารกิจต่อไปที่ต้องดำเนินการคือการเปลี่ยนท่อระบายน้ำกรุงเทพฯ ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เพราะต้องใช้เวลาประมาณ 20 ปี ซึ่งผมและท่านมท.1 ก็เคยคุยกันไว้แล้วว่าอย่างไรก็ต้องมีการขยายท่อระบายน้ำในกรุงเทพฯ”ผู้ว่าฯกทม. กล่าว