'สเก็ตบอร์ด' ความหวังใหม่ที่โตเกียว

'สเก็ตบอร์ด' ความหวังใหม่ที่โตเกียว

จากการถูกตีตราเป็นกีฬาต้องห้ามในอดีต ทุกวันนี้ “สเก็ตบอร์ด” ยกระดับตัวเองสู่ความเป็นกีฬามหาชน

 กระทั่งได้รับการบรรจุเข้าสู่โอลิมปิกอย่างเป็นทางการ ในปี 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นไปเรียบร้อย

จากความคิดริเริ่มแปลกๆของคนกลุ่มหนึ่ง ทุกวันนี้ สเก็ตบอร์ด ก้าวมาได้ไกลอย่างไม่น่าเชื่อ และอาจเป็นหนึ่งในความหวังของชาวไทยในอีก 4 ปีข้างหน้าด้วย...

ท้องทะเลสู่ท้องถนน

จุดเริ่มต้นของสเก็ตบอร์ดต้องย้อนกลับไปในทศวรรษที่ 50 เมื่อกลุ่มนักเล่นกระดานโต้คลื่นหัวก้าวหน้าในแคลิฟอร์เนีย เกิดไอเดียนำกระดานมาเล่นบนท้องถนนยามที่ทะเลไม่มีคลื่น ด้วยการนำล้อสเก็ตมาประกอบกับไม้กระดาน จนเป็นที่มาของฉายา “ไซด์วอล์ค เซิร์ฟฟิง” (Sidewalk Surfing) 

เพราะแม้แต่นักเล่นสเก็ตบอร์ดในยุคแรก ก็เริ่มพัฒนารูปแบบการเล่น ด้วยพื้นฐานที่ดัดแปลงมาจากการเล่นกระดานโต้คลื่นในทะเลจริงๆ

ความแปลกใหม่ ทำให้ สเก็ตบอร์ด ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงในหมู่วัยรุ่น แต่การที่ปราศจากรูปแบบชัดเจน รวมถึงอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัย นำไปสู่อุบัติเหตุร้ายแรงต่อผู้เล่น ส่งผลให้ สเก็ตบอร์ด กลายเป็น “กีฬาต้องห้าม” ในหลายๆสถานที่ รวมถึงผู้ปกครอง จนกระแสของกีฬาชนิดนี้ค่อยๆถดถอยลงไป

ใต้ดินสู่มหาชน

กระทั่งในช่วงกลางทศวรรษที่ 70 กระแสของ สเก็ตบอร์ด ก็เริ่มหวนกลับมาอีกครั้ง เมื่อมีการสร้างลานสเก็ตบอร์ดคอนกรีตขึ้นตามสถานที่ต่างๆทั่วสหรัฐ และมีการตั้ง “สเก็ตบอร์ด ซิตี” ขึ้นในแถบพอร์ท ออเรนจ์ รัฐฟลอริดา 

ขณะเดียวกัน ก็มีผู้เล่นหน้าใหม่ที่มาพร้อมกับไอเดียแหวกแนวจากเดิมเกิดขึ้น หนึ่งในนั้นคือ อลัน เกลแฟนด์ หรือ “โอลลี” ผู้คิดค้นท่ากระโดดโดยให้ล้อหน้ากระดกขึ้นก่อน จนท่าดังกล่าวถูกเรียกขานตามชื่อเล่นของเจ้าตัวว่า “โอลลี” 

“โอลลี” ยังถูกนำไปดัดแปลงเป็นท่าต่างๆมากมาย อาทิ“คิกฟลิป”การกระโดดตัวคล้ายกัน และให้สเก็ตบอร์ดหมุนครบ 360 องศาในจังหวะที่ลงพื้น คิดค้นโดย ร็อดนีย์ มัลเลน ในปี 1982

ความนิยมในสเก็ตบอร์ดพุ่งถึงจุดสูงสุด พร้อมกับการมาถึงของ โทนี่ ฮอว์ค สุดยอดนักสเก็ตบอร์ดตลอดกาล ผู้คว้าแชมป์มากมายตลอดเวลากว่าสองทศวรรษ ด้วยลีลาการเล่นอันน่าตื่นตาตื่นใจ  

การกลับมาได้รับความนิยมต่อเนื่อง ส่งผลให้ในปี 1995 อีเอสพีเอ็น เข้ามาสนับสนุนด้วยการบรรจุกีฬาชนิดนี้ในกลุ่มของ เอ็กซ์ตรีมเกมส์ จนเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน โดยแบ่งการแข่งขันออกเป็น 2 ประเภท ประกอบด้วย “เวิร์ต” เป็นการใช้สเก็ตบอร์ดแล่นไปในสนามขนาดครึ่งวงกลม เพื่อแสดงท่าทางต่างๆ และ “ผาดโผน” จะเป็นแนวสตรีทคือโชว์ลีลากระโดดข้ามสิ่งกีดขวางไปตามสนามที่เป็นลานขนาดใหญ่ โดยมีกรรมการเป็นผู้ให้คะแนนตามความยากง่ายของท่วงท่า 

ไทยเอ็กซ์ตรีม

ในประเทศไทย สเก็ตบอร์ด เป็นชนิดกีฬาที่เล่นกันมานานแล้ว กระทั่งถูกรวมเข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งใน สมาคมกีฬาเอ็กซ์ตรีมแห่งประเทศไทย (Thailand Extreme Sports Association หรือ TESA) ในปี พ.ศ. 2546 ร่วมกับกีฬาเอ็กซ์ตรีมชนิดอื่นๆ อาทิ อินไลน์สเก็ต, บีเอ็มเอ็กซ์ฟรีสไตล์ ,บีเอ็มเอ็กซ์ แฟลตแลนด์ และ โรลเลอร์สปอร์ต ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของ นายปิติ ภิรมย์ภักดี ​ในฐานะนายกสมาคมฯ

และจากการที่ สเก็ตบอร์ด ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ ไอโอซี ให้เป็น 1 ใน 5 ชนิดกีฬาใหม่ ในโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว ปี 2020 ก็ถือเป็นแรงกระตุ้นชั้นดี ที่จะทำให้กีฬาชนิดนี้คึกคักยิ่งกว่าเดิม

“สมาคมกีฬาเอ็กซ์ตรีมแห่งประเทศไทย ได้มีประชุมวางแผนงานในการพัฒนาไว้ในระยะยาว 4 ปี เพื่อพัฒนานักกีฬาแถวหน้าของเมืองไทย และนักกีฬาดาวรุ่งอย่างเต็มที่ โดยมีเป้าหมายหลักคือพานักกีฬาไทยสู่การแข่งขัน เอเชียนเกมส์ 2018 และ โอลิมปิกเกมส์ 2020 และผลักดันกีฬาสเก็ตบอร์ดในไทยให้เป็นกีฬามวลชนที่ได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่นทั่วประเทศ ทางสมาคมฯกำลังศึกษาโครงการทำศูนย์ฝึกนานาชาติ (Skate Academy)ที่สิงห์พาร์ค เชียงราย ซึ่งจะเป็นศูนย์ฝึกระดับโลก รับรองโดย สหพันธ์ฯอยู่ในขณะนี้ด้วย" นายใหญ่สมาคมเอ็กซ์ตรีม กล่าวถึงแผนในอนาคต  

ล่าสุด สองนักกีฬาระดับความหวัง อธิวัฒน์ เรืองศรี เจ้าของแชมป์ในประเทศไทยคนล่าสุด และ ณภัทร์ วิจิตรจรุง อันดับ 3 ชิงแชมป์ประเทศไทย พร้อมด้วย ณรงค์ ตันพงศ์ ผู้ตัดสินของไทย ที่ได้รับการรับรองจากสหพันธ์กีฬาสเก็ตบอลสากล (ไอเอสเอฟ) ก็ออกเดินทางไปเข้าร่วมในการแข่งขันชิงแชมป์เอเชีย “เอเชียน สเก็ตบอร์ด แชมเปียนชิพ 2016” ที่นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ระหว่างวันที่ 25-27 พ.ย.

ไฮไลท์ของรายการนี้ คือการคัดเลือกนักสเก็ตบอร์ดที่ดีที่สุดของเอเชีย 2 คนไปเข้าแข่งขันรายการโปรเซอร์กิต ที่เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน รวมถึงชิงแชมป์โลก ที่สำคัญ คือเป็นการจัดอันดับครั้งแรกในเอเชีย เพื่อคัดนักกีฬาเข้าร่วม เอเชียนเกมส์ 2018 และโอลิมปิกเกมส์ 2020 อีกด้วย

ฮีโร่คนต่อไปของชาวไทย ในอีก 4 ปีข้างหน้า อาจมาจากกีฬาที่ครั้งหนึ่งเคยเป็น “กีฬาต้องห้าม” ก็ได้ ใครจะรู้