พระสงฆ์ชาวบ้านทำพิธีสรงน้ำ พระพุทธรูปเก่าแก่ถ้ำพระภูสิงห์

พระสงฆ์ชาวบ้านทำพิธีสรงน้ำ พระพุทธรูปเก่าแก่ถ้ำพระภูสิงห์

คณะสงฆ์ตำบลภูสิงห์ พร้อมด้วยชาวบ้านในตำบลภูสิงห์ กว่า 300 คนร่วมทำพิธีสรงน้ำพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ อายุกว่าร้อยปีในถ้ำพระภูสิงห์ ประเพณีปฏิบัติเทศกาลเดือน 5 ที่สืบทอดมาหลายชั่วอายุคน

วันที่ 27 เม.ย.60 พระครูสิริพัฒน นิเทศก์ ประธานสงฆ์วัดพุทธาวาสภูสิงห์ นำตัวแทนคณะสงฆ์หลวงพ่อไพศาล วัดคำชมภูหลวงปู่จี วัดป่าดงน้อย พร้อมผู้นำชุมชนและชาวบ้านจาก 9 หมู่บ้าน ในพื้นที่ตำบลภูสิงห์ อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ ประกอบพิธีศักดิ์สิทธิ์ในพิธีขอขมาพระรัตนตรัย สรงน้ำพระพุทธรูปร้อยปี ในถ้ำพระภูสิงห์ บนยอดเขาภูสิงห์ซึ่งเป็นประเพณีเดือน5 ที่ชาวตำบลภูสิงห์ได้ถือปฏิบัติมาหลายชั่วอายุคน แม้จะต้องเดินทางอย่างยากลำบาก ต้องเดินเท้าขึ้นเขาที่ลาดชันบุกป่าที่รกชัฏ ทั้งยังต้องแบกข้าวของขึ้นไปประกอบพิธีแต่ด้วยแรงศรัทธาระยะทางกว่า 1 กม. จึงไม่ใช่อุปสรรคของชาวบ้านตำบลภูสิงห์ จาก 9 หมู่บ้าน ในรอบ 1 ปีจะขึ้นมากราบไหว้ สรงน้ำขอพรเพียงครั้งเดียว

โดยพระครูสิริพัฒน นิเทศก์ ได้นำคณะสงฆ์กล่าวบูชา และขอขมาพระรัตนตรัย จากนั้นชาวบ้านได้ถวายภัตตาหารเพล แด่พระภิกษุสงฆ์และสามเณร ขณะที่ชาวบ้านก็ได้ร่วมรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน ก่อนจะทำพิธีสรงน้ำพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ที่ประดิษฐานในถ้ำพระและสรงน้ำขอพรคณะสงฆ์ อย่างเรียบง่ายบรรยากาศอบอุ่นตามวิถีชาวบ้าน

นางสอน ภูบรรทัด ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่2 บ้านโนนอุดม เล่าว่าถ้ำพระภูสิงห์ เดิมเป็นเขตพุทธสถานมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อายุหลายร้อยปี ประดิษฐานอยู่มาช้านาน โดยชาวบ้านเองก็ไม่ทราบที่มาว่ามีตั้งแต่เมื่อไร โดยชาวบ้านเรียกกันว่าถ้ำบก ถ้ำพระภูสิงห์แต่ทั้งนี้ด้วยสมัยพ่อแม่ปู่ยย่าตายายได้เคยพาทำพิธีนี้มาโดยตลอดในทุกปีมิได้ขาด ชาวตำบลภูสิงห์ทั้ง 9 หมู่บ้านก็ไม่ได้ขาดศรัทธาในการสืบสานประเพณีปฏิบัติ สมัยปู่ย่าตายายทำมาเช่นไรก็ยังถือปฏิบัติมาในทุก ๆ ปี ในช่วงเดือน 5 หลังเทศกาลสงกรานต์เพื่อความเป็นสิริมงคล และศรัทธาความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่จะคอยปกป้องคุ้มภัยลูกหลานที่อาศัยอยู่ทั่วทุกแห่ง

“ความเป็นมาของถ้ำพระ ยังไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด ทราบแต่เพียงว่าในอดีตเคยเป็นวัด มีพระภิกษุจำพรรษาอยู่ และมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประดิษฐานอยู่ในถ้ำพระภูสิงห์ กระทั่งถูกปล่อยทิ้งร้างไปแต่ในทุก ๆ ปีชาวบ้านก็จะขึ้นไปกราบไหว้ สรงน้ำพระพุทธรูปนี้อยู่เป็นประจำไม่ได้ขาด รวมถึงการร่วมลงร่วมใจในการทำความสะอาดบริเวณถ้ำพระภูสิงห์ให้สะอาดสวยงาม เพราะนอกเหนือจากเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่ชาวบ้านให้ความเคารพเชื่อถืออย่างมาก แล้วยังเป็นจุดพักผ่อนของชาวบ้านที่เดินทางขึ้นมาบนยอดเขาภูสิงห์ ในการหาของป่า หน่อไม้ ผักหวาน และเห็ดป่า ที่ในอดีตจะเดินเท้าลัดเลาะจากด้านหลังเขาภูสิงห์ แต่ในปัจจุบันมีถนนและบันได ทำให้การเดินทางสะดวกยิ่งขึ้น แต่กระนั้นก็ต้องเดินเท้าเข้าไปยังถ้ำพระ ที่อยู่ห่างจากวัดพุทธาวาสภูสิงห์ระยะทางกว่า1กม.” ผู้นำชุมชน กล่าว

ด้านพระครูสิริพัฒนนิเทศก์กล่าวว่าถือเป็นประเพณีที่ดีงามของชาวบ้านจาก9หมู่บ้านในตำบลภูสิงห์ที่ได้ยึดถือและน้อมนำเอาแนวปฏิบัติที่ดีงามในการขอขมาพระรัตนตรัยและสรงน้ำพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ประดิษฐานในถ้ำพระภูสิงห์ที่อยู่ห่างจากเขตวัดพุทธาวาส ลึกเข้าไปในเขตป่าด้านหลังเขาภูสิงห์กว่า1กม.เป็นที่น่าชื่นชมในศรัทธาธรรมที่ยึดถือแนวปฏิบัติของปู่ย่าตายายไว้อย่างเหนียวแน่นแม้กาลเวลาและยุคสมัยจะเปลี่ยนไปเท่าใดก็ตามซึ่งวิถีปฏิบัติของชาวบ้านที่เกิดขึ้นเป็นมากกว่าความเชื่อแต่เป็นพลังศรัทธาและความกตัญญูกตเวทิตาในการยึดถือปฏิบัติตามที่บรรพบุรุษได้ทำมาไว้หลายชั่วอายุคน