(สกู๊ป) วิเคราะห์จุดแข็ง-จุดอ่อน4ทีมสุดท้ายศึกคอนเฟดฯ
จบไปแล้วสำหรับรอบแรกของศึกลูกหนังที่เตรียมความพร้อมก่อนฟุตบอลโลก 2018 อย่าง “ฟีฟ่า คอนเฟเดอเรชันส์ คัพ 2017” ที่ประเทศรัสเซีย
ซึ่งมีความสนุกเข้มข้น รวมถึงมีสีสันต่างๆเกิดขึ้นมากมาย เช่น การใช้เทคโนโลยีวิดีโอช่วยตัดสิน หรือ VAR ก่อนำมาใช้จริงในหลายจังหวะ ทั้งการปฏิเสธได้ประตูออกนำของ ทีมชาติโปรตุเกส ในเกมกับ เม็กซิโก รวมถึงเกมกลุ่มบีระหว่าง แคเมอรูน กับ ชิลี ที่ เอดูอาร์โด วาร์กัส หลุดเดี่ยวไปซัดบอลตุงตาข่ายแล้ว แต่สุดท้ายไม่ได้ประตู
ส่วนอีกสิ่งหนึ่งที่ได้รับการจับตาความพร้อมในการจัดการแข่งขันของเจ้าภาพรัสเซีย ในการจัดการแข่งขันมหกรรมฟุตบอลที่ใหญ่ที่สุดในช่วงกลางปีหน้า ซึ่งหลังจากจบรอบแรกก็ถือว่าสอบผ่าน ทั้งในเรื่องของความปลอดภัย และการใช้สนามต่างๆใน 4 เมืองใหญ่ ประกอบด้วยมอสโก, เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก, คาซาน และ โซชิ
จนสุดท้ายได้ 4 ทีมสุดท้ายของศึกฟีฟ่า คอนเฟเดอเรชันส์ คัพ 2017 เป็นที่เรียบร้อย ประกอบด้วย โปรตุเกส (แชมป์กลุ่มเอ) ที่จะพบกับ ชิลี (รองแชมป์กลุ่มบี) และ เยอรมัน (แชมป์กลุ่มบี) ที่จะพบกับ เม็กซิโก (รองแชมป์กลุ่มเอ) ในรอบตัดเชือก ซึ่งล่าสุดสื่อต่างประเทศได้มีการวิเคราะห์ถือจุดอ่อนและ จุดแข็ง ของแต่ละทีมว่าเป็นเช่นไรบ้าง
โปรตุเกส
สำหรับทีม “ฝอยทอง” ถือว่าผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศมาแบบไม่ยากเย็นนัก ด้วยสถิตชนะ 2 เสมอ 1 เริ่มจากเสมอ เม็กซิโก 2-2, ชนะ รัสเซีย 1-0 และถล่ม นิวซีแลนด์ 4-0 พร้อมคว้าตำแหน่งแชมป์ของกลุ่มเอมาครองสมกับเป็นเต็งหนึ่งประจำทัวร์นาเมนต์
จุดแข็ง : โปรตุเกส ชุดนี้ถือว่ายกขุมกำลังชุดใหญ่มาแบบเต็มสูบไม่ต่างกับตอนที่คว้าแชมป์ยูโร 2016 มาครอง นำทีมมาโดย คริสเตียโน โรนัลโด ดาวเตะซูเปอร์สตาร์ของทีม เรอัล มาดริด รวมถึง แบร์นาโด ซิลวา แนวรุก แมนเชสเตอร์ ซิตี และ เปเป กองหลังจอมโหดของทีม “ราชันชุดขาว” จึงไม่ต้องกังขาถึงประสบการณ์ว่ามีมากเพียงใดในการแข่งขันระดับโลก รวมถึงความเข้าขากันในทุกตำแหน่ง ภายใต้การคุมทีมของ แฟร์นานโด ซานโตส ไม่เช่นนั้นพวกเขาคงไม่สามารถฝ่าฟันทีมยักษ์ใหญ่ทั่วยุโรปคว้าแชมป์ระดับทวีปสมัยแรกมาครองได้อย่างแน่นอน
จุดอ่อน : การที่นักเตะในทีมส่วนใหญ่เป็นนักเตะที่มีอายุค่อนข้างมาก ทำให้หากต้องโคจรมาเจอกับทีมพลังหนุ่ม หรือต้องลงเล่นไปถึงช่วงต่อเวลา ก็อาจทำให้ทีมมีปัญหาได้ รวมถึงการที่ตัวสำรองบางตำแหน่งยังไม่อาจทดแทนตัวหลักได้ เช่นหาก โรนัลโด หรือตัวหลักอื่นๆได้รับบาดเจ็บระหว่างเกม ประสิทธิภาพของทีมคงลดลงไปพอสมควรเลยทีเดียว
เยอรมัน
“อินทรีเหล็ก” ถือเป็นอีกหนึ่งทีมที่ถือว่าทำผลงานดี และมีสิทธิ์เบียดลุ้นแชมป์กับ โปรตุเกส ได้อย่างสูสี ด้วยดีกรีแชมป์โลกสมัยล่าสุด ซึ่งพวกเขาก็ผ่านเข้ารอบตัดเชือกได้ตามคาดด้วยการชนะ ออสเตรเลีย 3-2, เสมอ ชิลี 1-1 และชนะ แคเมอรูน 3-1
จุดแข็ง : ในการแข่งขันคอนเฟเดอเรชันส์ คัพ ครั้งนี้ โยอัคคิม เลิฟ กุนซือทีมชาติเยอรมัน ถือว่าใจกล้าพอสมควรด้วยการไม่เรียกตัวหลักของทีม เช่น มานูเอล นอยเออร์, โธมัส มุลเลอร์, โทนี โครส และ เมซุต โอซิล มาแข่งขัน โดยเลือกให้โอกาสแข้งเลือดใหม่ที่โชว์ฟอร์มได้อย่างยอดเยี่ยมมาติดธงแทน นำทีมโดย มาร์ก-อันเดร แทร์ ชเตเกน, เอ็มเร ชาน, ยูเลียน ดรักซ์เลอร์ และติโม แวร์เนอร์ ซึ่งจาก 3 นัดที่ผ่านมานักเตะ “อินทรีเหล็ก” รุ่นใหม่ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง เนื่องจากทุกคนเล่นตามระบบของ เลิฟ ได้เป็นอย่างดี และมีความแข็งแกร่งตั้งแต่ตำแหน่งผู้รักษาประตูไปถึงแนวรุก นอกจากนั้นจุดเด่นของทีม เยอรมัน ชุดนี้ ซึ่งดีกว่าทีมชุดใหม่ นั่นก็คือ พลังของนักเตะที่ขยันไล่บอลในทุกจังหวะ และขับเคลื่อนเกมแบบไม่สะดุดตลอด
90 นาที
จุดอ่อน : ถ้ามองโดยผิวเผินแล้ว เยอรมัน ถือเป็นทีมที่แข็งแกร่ง และไร้ช่องโหว่ อย่างไรก็ตามจากการที่ 3 เกมแรก เลิฟ ใช้ผู้เล่นแบบโรเตชัน คือไม่มี 11 ตัวจริงตายตัว ซึ่งคาดว่าเป็นการทดลองทีมจึงเปิดทางให้แข้งที่เรียกมาทั้งหมด 21 คนได้ลงเล่นกันแบบถ้วนหน้า ซึ่งนั่นทำให้เกิดข้อเสียขึ้น นั่นก็คือ ความรู้ใจระหว่างนักเตะจะมีน้อยกว่าทีมที่ยึดผู้เล่น 11 ตัวจริงแบบเดิมเป็นส่วนใหญ่ และอาจส่งผลต่อรูปเกมที่จะออกมาไม่มากก็น้อย
ชิลี
เต็ง 3 ของการแข่งขันในครั้งนี้ ที่ผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศมาแบบหืดจับ ด้วยสถิติชนะ แคเมอรูน 2-0, เสมอ เยอรมัน 1-1 และ เสมอ ออสเตรเลีย 1-1 จากการลงเล่น 3 นัด พร้อมเข้ารอบเป็นอันดับ 2 ของกลุ่มบี
จุดแข็ง : ชิลี ชุดนี้ภายใต้การนำทีมของ ฮวน อันโตนิโอ ปิซซี ยกทัพซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้เล่นที่คว้าแชมป์ โกปา อเมริกา 2 สมัยติดกันในปี 2015 และ 2016 ทั้ง เคลาดิโอ บราโว, อาตูโร วิดัล และอเล็กซิส ซานเชซ ซึ่งการคว้าแชมป์รายการดังกล่าวถือว่าปลุกกระแสฟุตบอล และพัฒนาการของทีมชาติชิลีได้อย่างก้าวกระโดดเป็นอย่างมาก จนส่งผลให้ปัจจุบันพวกเขาอยู่ในอันดับ 4 ของฟีฟ่า เวิล์ด แรงกิง ซึ่งต่ำกว่า เยอรมัน เพียงแค่ทีมเดียวเท่านั้นในทัวร์นาเมนต์นี้ ซึ่งด้วยแผนการเล่น 4-3-1-2 โดยมีจุดเด่นที่การบีบพื้นที่ หรือเพรสซิงเร็วตั้งแต่แดนหน้าด้วยความหนักหน่วง ทำให้คู่แข่งขึ้นเกมได้ลำบาก รวมถึงนักเตะแต่ละคนก็มีความสามารถเฉพาะตัวตามสไตล์นักเตะอเมริกาใต้ ก็ทำให้ ชิลี ทำผลงานได้ดีตามมาตรฐาน
จุดอ่อน : จากการที่ทีมมีจุดเด่นที่การเพรสซิงเร็ว ทำให้ต้องใช้พละกำลังมากขึ้นกว่าปกติ ซึ่งหากเกมต้องดวลกันถึงช่วงต่อเวลา นักเตะจะสามารถยืนระยะได้หรือไม่ รวมถึงการที่พวกเขามีฮาร์ดแมนอยู่ในทีมหลายคนซึ่งถ้าแข้งเหล่านี้คุมอารมณ์ไม่อยู่ ก็อาจทำให้ทีมกลายเป็นฝ่ายเสียเปรียบจากการโดนใบเหลือง หรือใบแดงแบบไม่จำเป็น
เม็กซิโก
ทีมแชมป์คอนคาเคฟ โกลด์ คัพ สมัยล่าสุด ที่เข้ารอบมาเป็นอันดับ 2 ของสายเอจากการ เสมอ โปรตุเกส 2-2, ชนะ นิวซีแลนด์ 2-1 และชนะ รัสเซีย 2-1
จุดแข็ง : ผู้เล่นของทีม “จังโก” ในชุดนี้ถือว่าเป็นชุดผสมระหว่างแข้งจอมเก๋าที่ติดทีมชาติมาอย่างยาวนาน และคุ้นชื่อกันเป็นอย่างดี เช่น ราฟาเอล มาร์เกวซ (141 นัด), อันเดรส กวาร์ดาโด (137 นัด) และ ฮาเวียร์ “ชิชาร์ริโต” เอร์นานเดซ (93 นัด) รวมถึงผู้เล่นเลือดใหม่อย่าง ออสวัลโด อลานิส (17 นัด), โจนาธาน ดอส ซานโตส (25 นัด) และ เจอร์เกนท์ แดมน์ (7 นัด) ซึ่งตอนแรกหลายคนกลัวว่าแข้งรุ่นเก๋า กับแข้งดาวรุ่งจะเล่นไม่เข้าขากัน แต่ด้วยแผนการของ ฮวน คาร์ลอส โอโซริโอ กุนซือคนเก่งที่ใช้บอลเร็ว สลับช้า เพื่อรักษาความสมดุลของทีมไว้ รวมถึงทีเด็ดในการเล่นบอลบนพื้นได้อย่างยอดเยี่ยม ทำให้จะมองข้ามตัวแทนจากทวีปอเมริกาทีมนี้ไปไม่ได้ แม้จะเป็นเต็ง 4 ของรายการที่ถูกคาดการณ์ว่าจะสามารถคว้าแชมป์ได้
จุดอ่อน : เม็กซิโก เป็นทีมที่มีส่วนผสมลงตัว แต่ในเกมซึ่งพวกเขาเจอทีมที่ใหญ่กว่า ทัพ “จังโก” มักจะเล่นด้วยความกดดันมากเกินไป จนเป็นเหตุให้เกิดความผิดพลาดเองหลายต่อหลายครั้ง จนสุดท้ายต้องพ่ายไปในที่สุด
ทั้งนี้ รอบรองชนะเลิศของศึกฟีฟ่า คอนเฟเดอเรชันส์ คัพ 2017 จะมีขึ้นในวันที่ 29 มิ.ย. และ 30 มิ.ย. นี้ ซึ่งต้องมาดูกันว่าสุดท้ายทีมใดจะได้เข้าไปแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศที่สนาม เครสตอฟสกี สเตเดียม เมืองเซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก ในวันที่ 2 มิ.ย. และคว้าตำแหน่งแชมป์ฟุตบอลอุ่นเครื่องก่อนศึกลูกหนังชิงแชมป์โลกจะมีขึ้นในปีหน้า