โคราชเตรียมจัด 'มหกรรมฟอสซิลเฟสติวัลครั้งที่ 4'

โคราชเตรียมจัด 'มหกรรมฟอสซิลเฟสติวัลครั้งที่ 4'

สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหิน จัดมหกรรมฟอสซิลเฟสติวัล ครั้งที่ 4 โคราชจีโอพาร์คสู่ยูเนสโก ชูเป็นมหานครแห่งบรรพชีวิต

ที่ห้องประชุมอาคาร 9 มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา (มร.นม.) เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 7 กรกฎาคม นายมุรธาธีร์ รักชาติเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาพร้อมรองศาสตราจารย์ ดร.วิเชียร ฝอยพิกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหิน ฯ หรือ โคราชจีโอพาร์ค ร่วมแถลงจัดงานมหกรรม ฟอสซิลเฟสติวัลครั้งที่ 4 “ โคราชจีโอพาร์คสู่ยูเนสโก ” จัดขึ้นวันที่ 15 -20 สิงหาคม ที่พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินฯ บ้านโกรกเดือนห้า ต.สุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา

ภายในงานนำเสนอนิทรรศการประชาสัมพันธ์ และส่งเสริมการขับเคลื่อนโคราชจีโอพาร์ค หรืออุทยานธรณีโคราชขึ้นสู่ระดับประเทศ และระดับโลกที่รับรองโดยยูเนสโก พื้นที่อุทยานธรณีโคราช จะอยู่ใน 5 อำเภอ คืออำเภอสีคิ้ว ,อ.สูงเนิน ,อ.ขามทะเลสอ , อ.เมือง และ อ.เฉลิมพระเกียรติ ฯ ,นิทรรศการฟอสซิล พันธุ์ใหม่ของโลกในโคราชจีโอพาร์ค 10 ชนิด นิทรรศการช้างดึกดำบรรพ์ใหญ่ที่สุดในโลก นิทรรศการอิกัวโนดอนต์ นิทรรศการฟอสซิลปลายุคจูแรสซิกพันธุ์ “โคราชอิกธิส จิบบัส” ปลาน้ำจืดสกุลใหม่และชนิดใหม่ของโลก ในยุคจูแรสซิกตอนปลายถึงครีเทเชียสตอนต้น หรือประมาณ 150 ล้านปี นิทรรศการจากเครือข่ายต่างๆ ที่ร่วมจัด เช่น กรมทรัพยากรธรณี อุทยานธรณีสตูล ศูนย์วิจัย และการศึกษาบรรพชีวิน (มมส.) และพิพิธภัณฑ์สนามบินสุโขทัย

โซนฝูงสัตว์ดึกดำบรรพ์กว่า 10 ชนิด จากบ่อทราย ริมแม่น้ำมูล ชมวีดิทัศน์กำเนิดจักรวาล โลก และสิ่งมีชีวิตในระบบ 5 มิติ รวมไปถึงการสัมผัสไดโนเสาร์โคราชเคลื่อนไหวได้ และทำกิจกรรมเกี่ยวกับซากดึกดำบรรพ์ ร่วมสนุกกับกิจกรรมสอยฟอสซิล 3 มหายุค เพื่อลุ้นรับของรางวัลมากมาย ร่วมประกวดวาดภาพระบายสี ในหัวข้อ “Khorat Geopark” จำนวน 5 รุ่น ตั้งแต่ช่วงอายุระดับอนุบาล ถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย รวมทั้งการประกวดแข่งขันถ่ายภาพมาราธอน “ Khorat Geopark Photomarathon 2017 ” และโชว์ผลงาน ชิงเงินรางวัล พร้อมถ้วยรางวัล

เพื่อให้ประชาชน เยาวชนในพื้นที่เกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องบรรพชีวินวิทยา ลักษณะรูปร่าง ความเป็นอยู่ ประวัติวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต โดยอาศัยข้อมูลหรือร่องรอยต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน พร้อมสร้างจิตสำนึกให้รู้จักอนุรักษ์ซากดึกดำบรรพ์ และร่วมประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น คาดว่ามหกรรม ฯ ครั้งนี้จะมีประชาชน นักท่องเที่ยว และนักเรียนนักศึกษา เข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นคน