ดราม่าเงินล้าน!! เมื่อ 'สินน้ำใจ' ไม่ใช่แค่ 'สมัครใจ'

ดราม่าเงินล้าน!! เมื่อ 'สินน้ำใจ' ไม่ใช่แค่ 'สมัครใจ'

ดราม่าเก็บเงินล้านคืนเจ้าของ เมื่อ "สินน้ำใจ" ไม่ใช่แค่เรื่อง "สมัครใจ"

เรื่องที่ไม่ควรเป็นเรื่องก็เป็นเรื่องขึ้น เมื่อ เกิดเหตุดราม่าขึ้นในโลกออนไลน์ และโลกแห่งความเป็นจริง เพราะเมื่อวันที่ 23 ก.ค. ที่ผ่านมา เกิดกรณีที่พลเมืองดีเก็บเงินกว่า 1,000,000 บาทได้ และส่งคืนเจ้าของ แต่ผลตอบแทนแห่งการทำดีนั้นกลับทำให้หลายๆคนมองว่า "คนทำหาย" แล้งน้ำใจเกินไปหรือไม่

เรื่องของเรื่องเกิดเมื่อ "สุมน มทิดุล" อายุ 50 ปี ที่อยู่ 20/38 หมู่ 5 ต.ท้ายบ้าน อ.เมือง จ.สมุทรปราการ พนักงานเก็บเงินรถประจำทาง ขสมก.สาย ปอ.511 ได้ขึ้นโรงพัก พร้อมพร้อมกระเป๋าเป้สีดำใบหนึ่ง เพื่อขอลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานว่า พบกระเป๋าใบดังกล่าว ซึ่งภายในมีเงินสดอยู่ถึง 1,120,000 บาท

"สุมน" ให้การว่า กระเป๋าใบดังกล่าวเป็นของผู้โดยสารชาายคนหนึ่งวางลืมไว้เบาะนั่งบนรถประจำทางคันที่เธอประจำอยู่

เธอเล่าต่อว่า รถที่เธอทำงานอยู่นั้นวิ่งมากจากสายใต้ใหม่ มุ่งหน้าตลาดปากน้ำสมุทรปราการขณะที่รถแวะรับผู้โดยสารที่บริเวณป้ายรถประจำทางก่อนถึงสี่แยกบางนา ได้มีผู้โดยสารเป็นชายสวมใส่แว่นตาอายุประมาณ 30 ปีเศษ ได้เดินขึ้นมาบนรถพร้อมทั้งสะพายกระเป๋าเป้ใบดังกล่าวมา ก่อนที่จะวางไว้ช่วงขา

ชายคนดังกล่าวลงที่บริเวณป้ายรถประจำทางหน้าห้างบิ๊กซีจัมโบ้ สามแยกปู่เจ้าสมิงพราย ถนนสุขุมวิท ต.เทพารักษ์ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ แต่ได้ลืมกระเป๋าเป้ใบดังกล่าวไว้กับพื้นข้างเบาะนั่งบนรถ จนกระทั่งรถกลับมาถึงอู่เก็บรถที่อยู่ในซอยฟาร์มจระเข้ เธอก็ได้ทำความสะอาดรถอและพบกระเป๋างอยู่กับพื้นที่ข้างเบาะนั่ง จึงได้หยิบมาส่งมอบให้นายท่า ประจำอู่ ขสมก. ให้ทำการตรวจสอบ ส่วนตนได้เข้าไปเช็คหน้าตั๋วที่ห้องการเงิน หลังจากที่นายท่าได้ตรวจสอบและพบเงินจำนวนดังกล่าวอยู่ในกระเป๋า จึงได้เรียกตนให้มาร่วมเป็นพยาน

แต่ดราม่าเริ่มขึ้นเมื่อ มีผู้มาแสดงตนเป็นเจ้าของกระเป๋า โดยระบุว่าเป็นสูตินรีแพทย์ โดยนำหลักฐานสมุดบัญชีเงินฝากของธนาคาร ที่มีการทำรายการถอนเงิน 1,120,000 บาท ออกมาจากบัญชี มาแสดงเพื่อมาขอรับกระเป๋าคืน

ชายคนดังกล่าวระบุว่า ได้เดินทางไปเบิกเงินมาจากธนาคารแห่งหนึ่งใน อ.ศรีราชาและแหลมฉบัง โดยนำเงินใส่กระเป๋าเป้สีดำสะพายหลัง และนั่งรถทัวร์จากศรีราชา มาลงที่สี่แยกบางนา และขึ้นรถประจำทางคันดังกล่าวเดินทางมาที่ธนาคารที่อยู่ในห้างบิ๊กซี จัมโบ้ปู่เจ้าฯ เพื่อนำเงินมาฝาก แต่ขณะที่รถวิ่งมาถึงจุดหมายตนจึงได้เดินลงจากรถ แต่ลืมหยิบกระเป๋าเป้ที่วางไว้ที่พื้นข้างเบาะที่ตนเองนั่งอยู่ลงมาด้วย เมื่อเดินมาถึงหน้าธนาคารที่จะนำเงินมาฝาก จึงนึกขึ้นได้ว่าลืมกระเป๋าเป้ที่ใส่เงินไว้กว่า 1 ล้านบาทไว้บนรถประจำทางคันดังกล่าว จึงนำหลักฐานรีบเดินทางมาพบเจ้าหน้าที่ที่อู่รถประจำทางใกล้ฟาร์มจระเข้ และสวนสัตว์ สมุทรปราการ เพื่อติดต่อขอรับกระเป๋าและเงินสดกว่า 1 ล้านบาทคืน

ซึ่งที่สุดเจ้าหน้าที่ก็มั่นใจว่าชายคนนั้นเป็นเจ้าของ และได้คืนกระเป๋าเงินให้ แต่สินน้ำใจที่ "คุณหมอ" มอบให้ "กระเป๋ารถเมล์" และถูกโลกออนไลน์นำมาเปิดเผยภายเหลังกลับมีเพียงขนมสองห่อเท่านั้น

ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า จริงอยู่ที่การทำดีไม่ควรหวังผลตอบแทน แต่ผู้ที่ทำทรัพย์สินจำนวนมากหาย และได้คืนมานั้นก็เปรียบเหมือนปาฎิหาริย์ จะแล้งน้ำใจเกินไปหรือไม่ เพราะแม้ราคาของน้ำใจอาจไม่สามารถตีค่าเป็นจำนวนเงินหรือมูลค่าได้ หากการตอบสนองก็ควรที่จะพอเหมาะพอสมเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการทำดี

ทันใดนั้นก็มีผู้เปิดประเด็นว่า การให้สินน้ำใจนั้น ไม่ใช่เพียงเรื่องของ "น้ำใจ" แต่หากถูกเขียนไว้ในกฎหมายว่า ผู้ที่เก็บทรัพย์สินและคืนเจ้าของสามารถเรียก "สินน้ำใจ" ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

เมื่อเปิดดูประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ก็จะพบการบัญญัติเช่นว่า โดยในมาตรา 1323 ระบุถึงการเก็บทรัพย์สินได้ว่าต้องทำอย่างไรบ้าง

"บุคคลเก็บได้ซึ่งทรัพย์สินหาย ต้องทำอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
(1) ส่งมอบทรัพย์สินนั้นแก่ผู้ของหายหรือเจ้าของ หรือบุคคลอื่นผู้มีสิทธิจะรับทรัพย์สินนั้น หรือ
(2) แจ้งแก่ผู้ของหายหรือเจ้าของ หรือบุคคลอื่นผู้มีสิทธิจะรับทรัพย์สินนั้นโดยมิชักช้า หรือ
(3) ส่งมอบทรัพย์สินนั้นแก่เจ้าพนักงานตำรวจ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่อื่นภายในสามวันและแจ้งพฤติการณ์ตามที่ทราบอันอาจเป็นเครื่องช่วยในการสืบหาตัวบุคคลผู้มีสิทธิจะรับทรัพย์สินนั้น

แต่ถ้าไม่ทราบตัวผู้ของหาย เจ้าของ หรือบุคคลอื่นผู้มีสิทธิจะรับทรัพย์สินก็ดี หรือบุคคลดังระบุนั้นไม่รับมอบทรัพย์สินก็ดี ท่านให้ดำเนินการตามวิธีอันบัญญัติไว้ในอนุมาตรา (3)

ทั้งนี้ ท่านว่าผู้เก็บได้ซึ่งทรัพย์สินหายต้องรักษาทรัพย์สินนั้นไว้ด้วยความระมัดระวังอันสมควรจนกว่าจะส่งมอบ"

ซึ่งแปลความง่ายๆว่า หากเจอทรัพย์สินที่หายไป ผู้ที่เก็บได้ต้อง คืนทรัพย์สินให้เจ้าของ หรือแจ้งแก่เจ้าของโดยไม่ชักช้า หรือส่งมอบทรัพย์สินให้ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่อื่นภายในสามวันและแจ้งพฤติการณ์เพื่อสืบหาเจ้าของทรัพย์สิน

และเมื่อส่งคืนแล้ว ในมาตรา 1324 ระบุว่า

"ผู้เก็บได้ซึ่งทรัพย์สินหาย อาจเรียกร้องเอารางวัลจากบุคคลผู้มีสิทธิจะรับทรัพย์สินนั้นเป็นจำนวนร้อยละสิบแห่งค่าทรัพย์สินภายในราคาสามหมื่นบาทและถ้าราคาสูงกว่านั้นขึ้นไปให้คิดให้อีกร้อยละห้าในจำนวนที่เพิ่มขึ้น แต่ถ้าผู้เก็บได้ซึ่งทรัพย์สินหายได้ส่งมอบทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานตำรวจหรือพนักงานเจ้าหน้าที่อื่น ให้เสียเงินอีกร้อยละสองครึ่งแห่งค่าทรัพย์สินเป็นค่าธรรมเนียมแก่ทบวงการนั้นๆ เพิ่มขึ้นเป็นส่วนหนึ่งต่างหากจากรางวัลซึ่งให้แก่ผู้เก็บได้แต่ค่าธรรมเนียมนี้ให้จำกัดไว้ไม่เกินหนึ่งพันบาท

ถ้าผู้เก็บได้ซึ่งทรัพย์สินหายมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติใน มาตรา ก่อนไซร้ ท่านว่าผู้นั้นไม่มีสิทธิจะรับรางวัล"

แปลว่า ผู้เก็บทรัพย์สินได้ และส่งคืนเจ้าของหรือนำส่งให้ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่อื่น สามารถเรียกร้องสินน้ำใจได้ตามกฎหมาย โดยหากทรัพย์สินมูลค่า 30,000 บาท ก็จะเรียกสินน้ำใจได้ 3,000 บาท และส่วนที่เกินจาก 30,000 บาทแรกนั้นให้คิดอัตราร้อยละ 5 ซึ่งหากเทียบว่าทรัพย์สินที่เก็บได้ส่วนที่เกินจากสามหมื่นแรกมีมูลค่า 1 ล้านบาท ก็จะมีสิทธิได้สินน้ำใจเพิ่มอีก 50,000 บาท

แต่หากไม่ส่งคืน จนสืบเจอเอง ก็ไม่สามารถเรียกร้องสินน้ำใจใดๆได้เลย

เรื่องนี้จึงไม่ใช่จบแค่ "น้ำใจ" อีกต่อไป แต่ยังเป็นเรื่องที่ "ต้องทำ" อีกด้วย