โกงเงินคนไร้ที่พึ่ง ซ้ำ-บ่อย จนเป็นขบวนการ
บอร์ดป.ป.ท.อนุมัติไต่สวนความผิดอาญาศูนย์คุ้มครองฯ จ.เชียงใหม่ แฉจุดอ่อนโครงการช่วยเหลือเงินสงเคราะห์ อนุมัติงบก่อนสำรวจผู้ยากไร้-ให้อำนาจผอ.ศูนย์ฯ เบ็ดเสร็จ
พล.ต.อ.จรัมพร สุระมณี กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เปิดเผยว่า ล่าสุดบอร์ด ป.ป.ท.อนุมัติตั้งอนุกรรมการไต่สวนความผิดอาญาของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดเชียงใหม่ กับข้าราชการ 2 ราย, พนักงานราชการ 2 ราย และลูกจ้าง 1 ราย เข้าข่ายกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่หน้าซื้อหรือรักษา ทรัพย์ใด แต่เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต ม. 147, เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ม.157 อย่างไรก็ตาม จากหลักฐานที่ตรวจสอบพบใน 5 จังหวัด พบว่าโครงการดังกล่าวมีจุดอ่อนโดยมีการเขียนแผนยุทธศาสตร์ เพื่อนำเงินช่วยเหลือไปจ่ายให้กับผู้ยากไร้ ในลักษณะที่ได้รับงบประมาณมาแล้วจึงทำการสำรวจจำนวนผู้ที่เข้าข่ายเป็นผู้ยากไร้ นอกจากนี้ยังให้อำนาจผอ.ศูนย์คุ้มครองฯ ใช้ดุลพินิจเบ็ดเสร็จทั้งเป็นผู้สำรวจผู้มีสิทธิ์, ผู้อนุมัติจ่ายเงินโดยไม่มีการกลั่นกรองจากหน่วยงานอื่น
“ขณะนี้ยังไม่อยากฟันธงหรือชี้ชัดว่ามีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พ.ม.) เข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ บอกได้เพียงเป็นอาชญกรรมพื้นฐานที่มีการทำบ่อย ทำซ้ำจนเป็นขบวนการ ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบอีกว่าเงินช่วยเหลือจากรัฐสามารถจ่ายได้หลายรูปแบบ หลายกรณี ได้แก่ เงินสงเคราะห์บุตร, เงินส่งเสริมอาชีพ, เงินสงเคราะห์ผู้ป่วยเอดส์”บอร์ดป.ป.ท.ระบุ
พล.ต.อ. จรัมพร กล่าวอีกว่า. ในจ.สุราษฎร์ธานีมีผู้ใหญ่บ้านเข้าโครงการอบรมช่างไฟฟ้า จากนั้นจึงไปมีชื่อเป็นผู้ยากไร้ ส่วนกลุ่มผู้ติดเชื้อเอดส์อยู่ในข่ายได้รับเงินสงเคราะห์รายละ 3,000 บาท แต่ข้อเท็จจริงพบว่าได้รับเงินรายละ 1,000 บาท ปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะประชาชนไม่ทราบว่าตนเองมีสิทธิ์ได้รับการช่วยเหลือหรือสงเคราะห์อย่างไร มีเพียงข้อมูลที่เจ้าหน้าที่นำไปแจ้งในพื้นที่ว่า ปีนี้มีโครงการจ่ายเงินช่วยเหลือของรัฐให้กับหมู่บ้าน 200,000 บาท ขณะที่ความเป็นจริงเบิกเงินมาแล้ว 400,000 บาท ดังนั้นตึงต้องทำให้ประชาชนได้รับรู้ข้อเท็จจริงว่าหากถูกจัดให้เป็นบุคคลไร้ที่พึ่งมีสิทธิ์ได้รับเงินสงเคราะห์เท่าใด