จุฬาฯใช้เซลล์ต้นกำเนิดรักษากระจกตาเสื่อมแทนผ่าตัด

จุฬาฯใช้เซลล์ต้นกำเนิดรักษากระจกตาเสื่อมแทนผ่าตัด

รพ.จุฬาฯ เผยผลการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดหรือสเต็มเซลล์รักษากระจกตาในอาสาสมัครผู้ป่วย พบผลน่าพอใจ 80% เล็งผลักดันใช้เป็นมาตรฐานการรักษาในอนาคต  พร้อมวิจัยสเต็มเซลล์ที่เพาะเลี้ยงจากเนื้อเยื่อกระพุ้งแก้มมาใช้แทนเซลล์บริจาค เพื่อเป็นทางเลือกใหม่  

แพทย์หญิงวิลาวัณย์ พวงศรีเจริญ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการให้บริการปลูกถ่ายกระจกตา และการใช้สเต็มเซลล์รักษาโรคตาโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันโรคภาวะพร่องเนื้อเยื่อเซลล์ต้นกำเนิดของผิวกระจกตา พบได้มากในคนไทย โดยมีสาเหตุจาก อุบัติเหตุจากกรดด่างเข้าตา การโดนความร้อน ควันระเบิด การแพ้ยาแบบกลุ่มอาการสตีเวนส์จอห์นสัน กระจกตาติดเชื้อ ภาวะภูมแพ้ที่มีการอักเสบเรื้อรัง และโรคต่างๆ  ซึ่งมีผลทำให้ผิวกระจกตาจึงไม่เรียบ เกิดแผลเรื้อรัง มีเส้นเลือดจากเยื่อบุตาลุกล้ำเข้ามาในกระจกตา กระจกตาฝ้าขุ่นทำให้การมองเห็นลดลง กระจกตาทะลุ ติดเชื้อจนถึงตาบอด 


แนวทางการรักษาที่ผ่านมาใช้วิธีการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาซึ่งได้ผลไม่ดี เนื่องจากไม่ได้รับการแก้ไขที่สาเหตุ กระจกตาที่เปลี่ยนอยู่ได้ไม่นาน 1-2  ปีเกิดแผลเรื้อรังมีเส้นเลือดงอกเข้ามา และกระจกตากลับมาขุ่น ทำให้การมองเห็นของผู้ป่วยแย่ลงกลับมามองไม่เห็นและอาจต้องผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาใหม่  จนกระทั่งมีการพัฒนาเทคโนโลยีเพาะเลี้ยงสเต็มเซลล์ของผิวตา


  ย้อนไปเมื่อปี 2548 ศูนย์ฯ ทำการเพาะเลี้ยงสเต็มเซลล์ของผิวตาได้เป็นผลสำเร็จ และมีการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ในสัตว์ทดลองเป็นครั้งแรกในปี 2550 หลังจากนั้นในปี2551 จึงได้มีการปลูกถ่ายให้แก่ผู้ป่วยในโรงพยาบาลจุฬาฯ เป็นครั้งแรก จำนวน 20 คน ปี 2559 อีก 10 คน และในปีนี้ได้วางแผนปลูกถ่ายอีก 20 คนซึ่งขณะนี้ทำไปแล้ว 6 คน หากได้ผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจจะเป็นความหวังใหม่ให้กับผู้ป่วยที่สามารถใช้วิธีการรักษาด้วยการเพาะเซลล์ต้นกำเนิด  โดยสามารถใช้มาจากตาข้างที่ดีของผู้ป่วยเอง หรือจากตาผู้บริจาคที่ได้จากศูนย์ดวงตา สภากาชาดไทย 


จากการศึกษาที่ผ่านพบว่า ผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจ 80%ถ้าใช้เซลล์ของตนเอง  แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการดูแลตนเองของผู้ป่วยและโรคของผู้ป่วยแต่ละคนด้วย กรณีที่ใช้เซลล์บริจาคต้องรับประทานยากดภูมิ ผลการตอบรับไม่ดีเมื่อเทียบกับการใช้เซลล์ของตนเอง 


“เทคโนโลยีนี้ในต่างประเทศที่นำวิธีการไปรักษาจำนวนมาก คือประเทศญี่ปุ่น และยุโรป แต่ไม่ใช่ทุกประเทศที่ทำได้ดี หากมีผลการวิจัยชัดเจนทั้งในประเทศและต่างประเทศน่าจะนำมาใช้เป็นมาตรฐานการรักษาโรคตาในลักษณะดังกล่าวได้  แต่ปัจจุบันแนวทางการรักษาดังกล่าวยังอยู่ในโครงการวิจัย ที่ได้รับทุนจากหน่วยงานให้ทุนต่างๆ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ” 


ดังนั้น ปัจจุบันศูนย์ฯ กำลังวิจัยใช้สเต็มเซลล์ที่เพาะเลี้ยงจากเนื้อเยื่อจากกระพุ้งแก้มของผู้ป่วยแทนเซลล์จากผู้บริจาค เพราะดวงตาไม่เกิดปฏิกิริยาต่อต้าน ไม่ต้องรับประทานยากดภูมิ  เนื่องจากเป็นเซลล์ของผู้ป่วยเอง ซึ่งถือเป็นข้อดีของการรักษา โดยได้รับความร่วมมือจาก Kyoto Prefectural University of Medicine จากประเทศญี่ปุ่น ล่าสุดได้ทำในผู้ป่วย 2 คนแต่ผลตอบรับต้องใช้เวลาศึกษาตรวจติดตามอีกระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตาม กรณีผู้ป่วยเป็นโรคทั้งสองตา เช่น ผู้ป่วยแพ้ยาแบบอาการสตีเวนส์จอห์นสัน จำเป็นต้องได้รับยากดภูมิในระยะเวลานานเพื่อให้เนื้อเยื่อคงอยู่ได้  เหมือนกับการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะทั่วไป หากผู้ป่วยมีภาวะที่เป็นข้อห้ามในการใช้ยา ทางเลือกคือการปลูกถ่ายเซลล์ที่เพาะเลี้ยงจากเนื้อเยื่อบุช่องปากตนเอง ซึ่งมีรายงานเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศว่า สามารถทำให้อาการมองเห็นที่ดีได้รองลงมา