เปิดคำพิพากษายกฟ้อง 'ลำไย ไหทองคำ' คดี พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์

เปิดคำพิพากษายกฟ้อง 'ลำไย ไหทองคำ' คดี พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์

ศาลทรัพย์สินฯ ยกฟ้อง "อดีต ผจก.เก่า" ฟ้อง "ลำไย-นายห้างประจักษ์ชัย" ละเมิดลิขสิทธิ์นักแสดง ศาลชี้คดีไม่มีมูล-ไร้อำนาจฟ้อง ไม่พบหลักฐานโอนสิทธิการแสดง มีแค่ข้อตกลงกำหนดค่าตอบแทน

จากกรณีที่ นายณรงค์วัฒน์ หรือบ่าวเอก ยันตะพันธ์ ผู้จัดการเก่าของลำไย ไหทองคำ นักร้องลูกทุ่งสาวคนดัง ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ตั้งแต่เดือน ก.ย.60 กรณีที่กล่าวอ้างว่า น.ส.สุพรรณษา เวชกามา หรือ ลำไย ไหทองคำ และนายประจักษ์ชัย เนาวรัตน์ ผู้จัดการและผู้บริหารไหทองคำ เรคคอร์ด ละเมิดสัญญานักแสดง เรียกค่าเสียหายด้วยจำนวน 3 ล้านบาทนั้น

เมื่อวันที่ 30 ต.ค.ที่ผ่านมา ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ได้ออกนั่งพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวที่ ยื่นฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำ อ.710/2560 โดย นายณรงค์วัฒน์ ยันตะพันธ์ ประธานกรรมการบริหารบริษัทพีอาร์ เรคคอร์ด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.สุพรรณษา เวชกามา หรือลำไย ไหทองคำ จำเลยที่ 1 และนายประจักษ์ชัย เนาวรัตน์ ผู้จัดการและดูแลการแสดง จำเลยที่ 2 ในความผิดต่อ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537

โดยโจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดง โดยรับโอนสิทธิของมาจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนักแสดง (นักร้อง) มีกำหนด 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ 12 ส.ค.57 12 ส.ค.62 ตามหนังสือสัญญานักร้องลงวันที่ 12 ส.ค.57 จำเลยที่ 1-2 ร่วมกันละเมิดสิทธินักแสดง โดยแพร่เสียง , แพร่ภาพ หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งการแสดง บันทึกการแสดงที่ยังไม่มีการบันทึกไว้ , ทำซ้ำซึ่งสิ่งบันทึกการแสดงที่มีผู้บันทึกไว้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดง โดยใช้นามแฝงว่า ลำไย ไหทองคำ ซึ่งได้แสดงไว้เมื่อวันที่ 2 ก.ค.60 เวลาประมาณ 14.00 16.00 น. ที่บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล พระรามสอง แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กทม.

ซึ่งระหว่างการนัดไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ คู่ความ ได้นัดไกล่เกลี่ยข้อพิพาทกันแต่ไม่สามารถตกลงกันได้ คดีจึงได้ทำการไต่สวนมูลฟ้องแล้ว ก็เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นนักแสดง ตามความหมายของ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 ซึ่งแม้นักแสดงย่อมมีสิทธิแต่ผู้เดียวในการกระทำอันเกี่ยวกับการแสดงของตนในกรณีแพร่เสียงแพร่ภาพ หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งการแสดง แต่สิทธิของนักแสดงดังกล่าวก็สามารถโอนให้แก่กันได้ตามมาตรา 51 วรรคสาม

เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของสิทธิประเภทสิทธิของนักแสดงโดยได้รับโอนสิทธิมาจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนักร้องนักแสดงตามสำเนาหนังสือสัญญานักร้องประจำบริษัทพีอาร์ เรคคอร์ด แต่เอกสารดังกล่าว ไม่ปรากฏข้อความใดๆ เลยว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนักร้องนักแสดงได้โอนสิทธิแต่ผู้เดียวในการกระทำอันเกี่ยวกับการแสดงของตนตามที่ระบุในมาตรา 44 ให้แก่โจทก์ และไม่อาจแปลความหมายของถ้อยคำในสัญญาหรือเจตนาของคู่สัญญาว่ามีการโอนสิทธิอันเกี่ยวกับการแสดงของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ ดังที่โจทก์บรรยายในฟ้อง

โดยเนื้อหาสาระสำคัญของสัญญาดังกล่าวคงได้ความเพียงว่า เป็นข้อตกลงของคู่สัญญาอันเกี่ยวกับการกำหนดค่าตอบแทนของจำเลยที่ 1 ว่ามีกรณีใดบ้าง และจะได้รับค่าตอบแทนจำนวนเท่าใด ดังนั้นพยานหลักฐานของโจทก์ที่ไต่สวนมา ยังฟังไม่ได้ว่า โจทก์ได้รับโอนสิทธิอันเกี่ยวกับการแสดงของจำเลยที่ 1 มาแล้วโดยชอบ เมื่อโจทก์ไม่ใช่ผู้ได้รับโอนสิทธิมาจากจำเลยที่ 1 โจทก์ย่อมไม่ใช่เจ้าของสิทธิประเภทสิทธิของนักแสดงดังฟ้อง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง คดีของโจทก์ไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ดีคำคัดสินดังกล่าว เป็นการพิจารณาของศาลชั้นต้น ซึ่งหากคู่ความยังติดใจก็ยังยื่นอุทธรณ์คดีได้ตามกฎหมาย