"อุตตม" ประชุมฉุกเฉินทุกหน่วยงาน จัดชุดแพ็กเกจ ทุ่มเงินกองทุนธุรกิจ เยียวยาวิสาหกิจชุมชน-SME ภาคใต้ พร้อมมาตรการต่อเนื่องชี้ช่องสร้างรายได้เพิ่ม
เมื่อเวลา 09.30 น. นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม ได้เรียกประชุมฉุกเฉินทุกหน่วยงานในสังกัดและหน่วยงานในกำกับเพื่อระดมมาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนภาคใต้ รวมทั้งผู้ประกอบการโรงงาน , ผู้ประกอบการ SME และวิสาหกิจชุมชน ที่ได้รับผลกระทบจากพายุปลาบึก ช่วงผัดผ่านเมื่อวันที่ 4-5 ม.ค.ที่ผ่านมา ภายหลังใช้เวลาประชุมร่วม 1 ชั่วโมง
นายอุตตม รมว.อุตสาหกรรม ได้เปิดเผยรายละเอียดการประชุมฉุกเฉินดังกล่าวว่า วันนี้ ได้เรียกประชุมฉุกเฉินกับปลัดกระทรวงฯ และผู้บริหารทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวง โดยให้หน่วยงานในกำกับทั้งหมดระดมจัดทำแพคเกจเยียวยาช่วยเหลือพี่น้องชาวใต้ที่ได้รับผลกระทบจากพายุปลาบึกครั้งนี้ ให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม ซึ่งเมื่อวันที่ 4 ม.ค.ก่อนที่พายุปาบึกจะขึ้นฝั่งที่จ.นครศรีธรรมราช ตนได้มอบหมายสั่งการให้ปลัดกระทรวงฯ กำชับไปยังทุกหน่วยงานในพื้นที่ภาคใต้ที่อยู่ในข่ายได้รับผลกระทบจากพายุดังกล่าวเข้าให้ความช่วยเหลือกับพี่น้องประชาชน และผู้ประกอบการอย่างเต็มที่ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งทุกหน่วยงานได้ทุ่มเททำงานอย่างหนัก และหลังจากสถานการณ์เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ กระทรวงจึงต้องรีบเร่งออกมาตรการให้ความช่วยเหลือต่อเนื่องให้ทันเวลา และต้องทำทันที เพื่อซ่อม - สร้าง - ฟื้นฟู ฟื้นความเป็นอยู่ของพี่น้องและผู้ประกอบการภาคใต้ทุกกลุ่มโดยเร็วที่สุด โดยวันนี้ทุกหน่วยงาน ร่วมกันระดมจัดทำชุดความช่วยเหลือแบบครบวงจร ซึ่งมีทั้งเรื่องมาตรการทางการเงิน , การพักหนี้ , เติมทุนหมุนเวียน และการปรับปรุงซ่อมแซม เครื่องจักรเครื่องมือการผลิตของผู้ประกอบการ โครงงานต่างๆ ให้กลับมาพร้อมใช้งานโดยเร็วการปรับปรุงสถานประกอบการแก่ผู้ประกอบการ SME และวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับความเสียหายและมาตรการช่วยเหลือด้านอื่นที่จะบรรเทาความเดือดร้อนและเยียวยาให้พี่น้องประชาชน ผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชนภาคใต้ทุกราย
ขณะที่การสำรวจเบื้องต้นซึ่งเรามีอุตสาหกรรมจังหวัดในพื้นที่ทุกจังหวัด , SME Bank ที่ก็มีสำนักงานในทุกจังหวัดเช่นกัน , สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ก็เช่นกัน ที่ได้สำรวจกันมาแล้วพบว่า ใน 4 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ นครศรีธรรมราช , ปัตตานี , สุราษฎร์ธานี และสงขลา โดยพื้นที่รวมทั้งหมดกรมโรงงานรายงานว่าจังหวัดเหล่ามีโรงงานขนาดต่างๆ ตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงทุกกลุ่มประมาณ 1,900 กว่าแห่ง ซึ่งพื้นที่ติดทะเลจากที่ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ได้รับความเสียหายมาก
นอกจากนี้ยังมีโรงงานน้ำแข็งที่ได้รับผลกระทบในแง่การประกอบกิจการต้องชะงักไป ส่วน จ.ปัตตานี มี 500 กว่าโรงงาน เงินลงทุนประมาณ 6,800 ล้านบาท คนงาน 7,000 กว่าคน ก็มีที่ได้รับผลกระทบ และอย่างวิสาหกิจชุมชน เช่นกลุ่มแปรูปอาหาร ในพื้นที่ชายฝั่งก็ได้รับผลกระทบ ขณะที่ผลจากที่มีน้ำท่วมเครื่ิองจักรก็ได้รับความเสียหายบ้าวแม้จะไม่ท่วมขังนานแต่น้ำก็มาเร็ว สำหรับพื้นที่สุราษฎร์ธานีที่มีกว่า 200 โรงงานจะมีปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบที่ต้องการให้ส่วนกลางช่วยเหลือ เช่น โรงงานยางพารา ปาล์มน้ำมัน ขณะที่ อ.ระโหนด จ.สงขลา ก็มีปัญหากับโรงงานอาหารแปรูป เรื่องของประมง โดยมาตรการความช่วยเหลือนั้น มีทั้งมาตรการดูแล และความช่วยเหลือด้านการเงินซึ่งมาจากทั้งจากกระทรวงอุตฯ , สสว. เรามีกองทุน มีสินเชื่อพิเศษ
"ผมได้มอบหลักการลงไปให้ความช่วยเหลือว่า เราจะช่วยเร่งซ่อม-สร้าง-ฟื้นฟู ผู้ประกอบการ โดยช่วยตั้งแต่คนตัวเล็ก ไล่ขึ้นมาเลยทั้งวิสาหกิจชุมชน ค้าขายเดี่ยว และทุกอุตสาหกรรม รวมทั้งงานบริการเราก็ช่วย โดยนอกจากซ่อม-สร้างแล้วเรายังจะใช้โอกาสนี้สร้างและฟื้นฟูที่หมายถึงการชี้โอกาสค้าขายใหม่ๆ ด้วยโดยเฉพาะวิสาหกิจชุมชน อาจถึงเวลาที่จะช่วยเขาชี้ช่องทางตลาดใหม่และพัฒนา เช่น ตลาดออนไลน์ ที่วันนี้อาจจะตื่นตัวขึ้นมา"
ขณะที่มาตรการหลักๆ ที่เริ่มทำทันที ได้แก่
1.การช่วยทำความสะอาด clean up สถานที่ประกอบการและชุมชนด้วย โดยกรมส่งเสริม อุตสาหกรรม และกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) จะไปช่วยกันเรื่องนี้ และยังขอความร่วมมือกับ Big Brother บริษัทใหญ่ๆในพื้นที่ เช่น SCG , ไทยยูเนี่ยน , ผาแดง นำเครื่องจักรขนาดใหญ่ลงพื้นที่ช่วยทำความสะอาดสถานประกอบการก่อนจะเริ่มซ่อมแซมซึ่งได้ประสานงานไว้เรียบร้อยแล้ว
2.มาตรการที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เสนอตนให้ออกประกาศการยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปี 5 ปีให้กับโรงงานที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งกรมโรงงานฯ จะออกประกาศ ได้ทันทีในสัปดาห์หน้าหลังจากเสนอให้ตนเห็นชอบ
3.เรื่องการซ่อม-สร้างอุปกรณ์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และกรมโรงงาน กรมเหมือง จะร่วมกันลงพื้นที่ไปดูถึงสถานที่ประกอบการว่าการฟื้นฟูเครื่องจักรให้กลับมาใช้งานได้ จะทำอย่างไร โดยเรามีศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (ITC) อยู่ที่ จ.สงขลา ก็จะประสานงานกันขณะที่ ITC ก็จะงดค่าธรรมเนียมทั้งหมดในการเข้ามาใช้บริการศูนย์ ITC ซึ่งจะมีอุตสาหกรรมจังหวัดช่วยดูด้วย
4.ด้านการเงิน SME Bank เสนอพักชำระหนี้ให้ลูกค้าที่อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด ซึ่งจะเริ่มที่ 6 เดือนก่อน โดยวงเงินขณะนี้ของลูกค้าที่เข้าข่ายได้รับผลกระทบคือ 3,200 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีวงเงินสินเชื่อพิเศษเพื่อฟื้นฟูธุรกิจอีก ซึ่งส่วนนี้สามารถปล่อยกู้ให้ได้สูงสุด 2 ล้านบาท/ราย คิดอัตราดอกเบี้ย 0.145 บาท/เดือน ก็เป็นดอกเบี้ยพิเศษกว่าปกติ ดังนั้นมาตรการทางการเงินจึงมีทั้งการพักชำระหนี้ และการปล่อยกู้ต่อยอดให้ฟื้นฟู ขณะเดียวกัน ยังมีกองทุนเถ้าแก่คนตัวเล็ก 8,000 ล้านบาทร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งยังมีวงเงินเหลืออยู่จาก 8,000 ล้านบาทก็จะนำมาช่วยเหลืออีกแรงด้วยตามความจำเป็น ซึ่งในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม ก็ยังมีกองทุนหมุนเวียนเพื่อการพัฒนาผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน เราก็จะใช้ตัวนี้ให้เป็นประโยชน์ด้วยเพราะถือเป็นกรณีฉุกเฉิน โดยจะช่วยในการปล่อยกู้ช่วยเหลือกลุ่มขนาดเล็กวิสาหกิจชุมชนเลย โดยจะปรับลดดอกเบี้ยจาก 4% เหลือ 1%/ปี และให้กู้ได้ตั้งแต่รายละ 50,000 บาทขึ้นไปแต่ไม่เกิน 200,000 บาท โดยเรามีวงเงินเตรียมไว้เบื้องต้นที่ 30 ล้านบาท ส่วนของ สสว.ก็ยังมีกองทุนฟื้นฟูผู้ประกอบการ SME ก็เสนอจะพักชำระหนี้เช่นกัน โดยภาพรวมมาตรการช่วยเหลือทางการเงินจะมีหลายกองที่ช่วยเหลือซึ่งแต่ละกองจะแบ่งกลุ่มกันชัดเจนว่าเล็งให้ความช่วยเหลือกลุ่มไหน ไม่ซ้ำซ้อนกัน และยังให้แนวทางกับ สสว. - กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ลงไปดูผู้ประกอบการทั้งหมดเลยว่านอกจากฟื้นฟูแล้วจะช่วยฟื้นฟูรายได้ สร้างรายได้ให้ได้เพิ่มเติมด้วย
5.มาตราการช่วยเหลือประชาชนทั่วไปด้วย การโดยกรมโรงงาน ประสานร่วมมือกับผู้ประกอบการค่ายรถยนต์ - รถจักรยานยนต์ทุกค่าย เปิดศูนย์บริการซ่อมแซมตรวจเช็คเครื่องยนต์ให้กับเจ้าของรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของพี่น้องประชาชนผู้ประกอบการ และบุคคลทั่วไปทุกพื้นที่ พร้อมทั้งขอสนับสนุนจาก ปตท.เรื่ิองน้ำมันเครื่องที่ต้องเปลี่ยนให้รถด้วย
ขณะที่ รมว.อุตสาหกรรม ยังกล่าวถึงมาตรการต่อเนื่องว่า ต้องช่วยเหลือด้านการตลาด ให้ผู้ประกอบการตามหาจำหน่ายสินค้าและบริการให้มีรายได้เพิ่ม โดย สสว. มีช่องทาง การตลาดสนับสนุนทั้งปกติ และตลาดออนไลน์ หลายเครือข่าย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จะส่งผู้เชี่ยวชาญ ด้านต่างๆ ลงพื้นที่ ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำผู้ประกอบการ ทั้งวิสาหกิจชุมชนและ SME โดยทุกมาตรการเราจะลงมือทำทันทีโดยมุ่งซ่อมซ่อมสร้าง ฟื้นฟู คืนความเป็นอยู่ปกติ โดยเร็ว ที่สุดแก่พี่น้องประชาชนและผู้ประกอบการทุกระดับ ตั้งแต่โรงงานไปจนถึง SME คนตัวเล็กและและวิสาหกิจชุมชนทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเดินเครื่องนำมาตรการเหล่านี้ ลงไปช่วยเหลือให้ถึงมือ ผู้ประกอบ การที่ประสบภัย ในทุกพื้นที่โดยเร็ว และรายงานผลให้ตนทราบเป็นระยะ โดยงานนี้มอบหมายให้ "นายพสุ โลหารชุน" ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นแม่งานโดยตรงที่จะประสานการเร่งดำเนินมาตรการเหล่านี้โดยเร็ว
ทั้งนี้ "นายอุตตม" รมว.อุตสาหกรรม กล่าวตอนท้ายว่า ในแง่ของผลกระทบทางกายภาพคือเครื่องจักรประกอบการ ก็ส่งผลกระทบต่ออาชีพ ความเป็นอยู่ การหารายได้ผู้ประกอบการ-ครอบครัว
ดังนั้นเราจึงเร่งช่วยเหลือทันที ส่วนแง่ขวัญกำลังใจก็สำคัญซึ่งภาครัฐ ไม่ใช่เพียงกระทรวงอุตสาหกรรมก็ช่วยกันอยู่อย่างเต็มที่ รวดเร็วและเข้าถึงเพื่อเยียวยาทันที และจากนี้อีก 2 วัน อย่างช้าวันอังคาร ก็ให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมแจ้งข้อมูลให้สื่อมวลชนทราบว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร เพราะเรายังทำงานต่อเนื่ิอง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงซักถาม ทางคณะที่ประชุมวันนี้ ระบุว่าสำหรับจำนวนโรงงาน-ผู้ประกอบการ ในพื้นที่ที่ประสบภัยจากพายุปาบึกนั้น พบว่ามีจำนวน 1,944 ราย ส่วนใหญ่ 95% เป็น SME ดังนั้นก็ไม่น้อย 1,700 ราย ขณะที่ค่าธรรมเนียมโรงงานที่จะยกเว้นนั้น ก็คิดตามช่วงแรงม้าของเครื่องยนต์ เช่นไม่เกิน 20 แรงม้าอยู่ที่ 450 บาท , จาก 20-50 แรงม้าอยู่ที่ 750 บาท โดยอัตราสูงสุดคือ 15,000 บาท โดยตัวเลขประมาณการความเสียหายเบื้องต้นที่สรุปไว้ 200 ล้านบาทนั้น จะเป็นความเสียหายใน จ.นครศรีธรรมราช ราว 50 ล้านบาท ขณะที่การติดต่อขอความช่วยเหลือนั้นจะมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นศูนย์ประสานที่ทุกๆ หน่วยงานจะเข้าไปทั้งหมด หากในส่วนของการจะติดต่อโดยตรงกับ SME Bank ได้ที่ 1357