“ประชาธิปัตย์” ยกระดับคุณภาพหลักประกันสุขภาพด้วยฐานข้อมูล Big Data
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมกล่าวในงานเสวนา เวทีมองไปข้างหน้า “พรรคการเมือง กับการสร้างหลักประกันสุขภาพเพื่อคนไทยทุกคน” ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะยกระดับคุณภาพของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้วยการนำระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) แก้ปัญหารอคิวนาน ทำระบบส่งต่อคนไข้ราบรื่น ใช้ระบบการจัดการเพื่อสร้างความเป็นอิสระในเรื่องงบประมาณ การจัดการ และการกระจายอำนาจ
พรรคประชาธิปัตย์มองไปข้างหน้า จากปัญหาขณะนี้ที่พบว่า 1. เราต้องการปรับปรุงคุณภาพบริการ ซึ่งแนวทางสำคัญอันหนึ่งที่จำเป็นจะต้องทำก็คือการเอาระบบข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) กับเทคโนโลยีมาแก้ไขปัญหาตรงนี้ จะรวม หรือไม่รวมกองทุนก็ตาม ควรจะต้องรวมฐานข้อมูล เพื่อที่จะทำให้รัฐ หรือกองทุนที่บริหารเรื่องสุขภาพต่างๆ สามารถใช้ข้อมูลนี้แก้ปัญหาต่างๆ ของประชาชน เช่นระยะเวลาที่ต้องมารอ ปัญหาการจ่ายยา หรือประเภทของยาที่มีความเหลื่อมล้ำกันอยู่ รวมถึงระบบการส่งต่อคนไข้
ดังนั้นพรรคประชาธิปัตย์จะเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่ ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ และการรวมข้อมูลเหล่านี้มาเพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชนที่ไปรับบริการไม่ต้องเข้าคิวเป็นเวลานาน ได้รับการจ่ายยาที่เหมาะสม และมีระบบส่งต่อที่มีข้อมูลที่จะทำให้มีความราบรื่นมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน รวมไปถึงการได้รับการดูแลกรณีฉุกเฉิน ซึ่งขณะนี้ยังไม่ครอบคลุมและมีความลักลั่นอยู่
2. ถึงเวลาที่จะต้องมีหลักประกันเพิ่มเติมสำหรับกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ว่าจะต้องได้รับการประกันว่าการเพิ่มขึ้นของงบประมาณนั้น ต้องไม่น้อยกว่าเงินเฟ้อ ไม่ไปขึ้นอยู่กับปัญหาฐานะการเงินการคลังของรัฐบาล เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าจะมีงบประมาณที่เพียงพอ
นอกจากนั้นสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องการจะทำเพิ่มเติมคือสิทธิของกลุ่มต่างๆ ต้องได้รับการดูแลเป็นการเฉพาะมากขึ้น เราพูดถึงตั้งแต่ก่อนเกิด เรื่องไอโอดีน เรามีนโยบาย “เกิดปั๊บ รับสิทธิ์แสน” ผู้หญิง มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม ผู้สูงอายุ ได้รับการดูแลการตรวจสุขภาพ สุขภาพจิตก็เป็นอีกเรื่องที่จะต้องมีการขยายสิทธิประโยชน์ต่างๆ เป็นต้น ในการขยายสิทธิประโยชน์เหล่านี้ ระบบการบริหารก็จะต้องมีการปรับเปลี่ยนด้วย
นอกจากจะไม่เอาซุปเปอร์บอร์ดแล้ว ต้องให้ความเป็นอิสระมากขึ้นในการบริหารจัดการ และหลักการที่ควรจะมีตั้งแต่ต้น ซึ่งแม้เหมือนกับจะมี แต่ยังมีไม่เด็ดขาดก็คือ ในฐานะที่เป็นผู้ซื้อบริการ กับผู้ขายบริการ ต้องแยกออกจากกันอย่างชัดเจน กระทรวงสาธารณสุขยังคงมีบทบาทที่เข้ามาเกี่ยวข้องและทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ หรือการขาดประสิทธิภาพ ยิ่งไปกว่านั้นระบบที่จำเป็นอย่างมากก็คือเรื่องกระจายอำนาจ เพราะการบริหารจัดการเงินควรที่จะให้อำนาจกับทางโรงพยาบาลมากยิ่งขึ้น ลงไปที่หน่วยบริการ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลแต่ละโรงพยาบาล หรือเป็นเครือข่ายโรงพยาบาลที่ส่งต่อกัน
ที่สำคัญจะต้องมีการทำงานเชื่อมโยงกับบริการในเชิงรุก และจะต้องนำเอาการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ เข้ามาช่วยทำงาน ก็คือทั้ง รพ.สต. อสม. ซึ่งเป็นระบบที่พรรคประชาธิปัตย์ให้การสนับสนุนมาตลอด วันนี้จะต้องทำงานในเชิงรุก เข้าไปดูแลคนติดบ้าน ติดเตียง จะต้องระดมกำลังให้ท้องถิ่นสามารถมีส่วนร่วมในการจัดบริการเหล่านี้ ไม่ใช่ติดขัดปัญหากับ สตง. หรือการไม่ยอมกระจายอำนาจให้เขาเข้ามามีส่วนร่วม
นอกจากนั้นบริการที่จะทำให้เกิดการทั่วถึง ก็ควรดึงคลีนิกเอกชนเข้ามาอยู่ในกติกาที่จะสามารถช่วยจัดบริการให้กับประชาชนได้ ลดความจำเป็นในการเดินทาง ลดความยาวของคิวและเวลาที่ต้องเสียไป จนถึงทุกวันนี้ปัญหากติกาที่เกี่ยวข้องกับการดึงเอาหน่วยบริการเอกชนเข้ามายังมีอยู่ตลอดเวลา ทั้งหมดนี้พรรคประชาธิปัตย์จะแก้โดยการนำเอาเทคโนโลยี เอาการรวมข้อมูล เอาระบบการจัดการที่สร้างความเป็นอิสระในเรื่องงบประมาณ การจัดการ และการกระจายอำนาจ มายกระดับคุณภาพของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า