ซ้อมเมียจนตาย! ชี้พลเมืองดีระงับเหตุไม่ผิด ช่วยได้แต่ไม่ช่วยเสี่ยงคุก
คดีดังสะเทือนใจ "ผัวโหดซ้อมเมียจนตาย" ตร.เร่งล่าตัวยังไม่พบ ด้าน "คณบดีนิติฯ" ม.ทักษิณ ชี้สามีไม่สิทธิ์ทำร้ายภรรยา พลเมืองดีระงับเหตุไม่ผิดกม. ช่วยได้แต่ไม่ช่วยเสี่ยงคุก
กรณีข่าวดัง สามีโหดซ้อมภรรยาจนตาย ตำรวจจ.สตูลเร่งล่าตัวอยู่นั้น รองศาสตราจารย์กรกฎ ทองขะโชค คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยลัยทักษิณ ให้ความเห็นทางกฎหมาย กรณีเหตุการณ์สามีทำร้ายร่างกายภริยาที่จ.สตูล เพื่อเผยแพร่ให้สาธาณะชนรับทราบถึงสิทธิในการช่วยเหลือ โดยระบุว่า สามีไม่มีสิทธิในการทำร้ายร่างกายภริยา
หลายครั้งจะเห็นภาพข่าวการที่สามีทำร้ายร่างกายภริยา แต่ไม่มีใครกล้าเข้าไปช่วยเหลือ เพราะอาจมองว่าเป็นเรื่องภายในครอบครัวจนเกิดการสูญเสียขึ้น ดังนั้นความเป็นสามีภริยาก่อให้เกิดสิทธิการทำร้ายร่างกายหรือไม่ เมื่อชายและหญิงสมรสกัน ผู้เฒ่าผู้แก่ที่เคารพก็มักจะบอกเสมอว่า เมื่อแต่งงานกันแล้วก็ต้องอยู่ด้วยกันเพื่อสร้างครอบครัว ช่วยเหลือพึงพาอาศัยกัน และนี่คือความสัมพันธ์ทางสังคม ในขณะเดียวกัน ชายและหญิงจะมีสถานะเป็นสามีภริยาอย่างถูกต้องสมบูรณ์ และก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาตามกฎหมายนั้น
แต่ในบางครั้งเมื่อชายและหญิงอยู่กินฉันสามีภรรยากันไปสักระยะหนึ่ง ด้วยธรรมชาติของคนสองคนมาใช้ชีวิตร่วมกันก็ย่อมกระทบกระทั่งกันบ้าง แต่ในบ้างครั้งการกระทบกระทั่งก็ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทำให้เป็นปัญหาครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทำร้ายร่างกายคู่สมรส อย่างไรก็ตามความเป็นสามีภรรยาก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิการทำร้ายร่างกายคู่สมรส
โดยทั่วไป เมื่อบุคคลใดกระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดแล้วบุคคลนั้นย่อมต้องได้รับโทษตามที่ได้กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นๆ เสมอ ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักการที่ว่าบุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่ากัน กล่าวคือ บุคคลย่อมได้รับการคุ้มครองและปฏิบัติต่อกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน แต่ในบางกรณีมูลเหตุจูงใจของบุคคลผู้กระทำการอันเป็นฝ่าฝืนกฎหมายนั้น มีมูลเหตุจูงใจที่แตกต่างกัน ในบางกรณีผู้กระทำความผิดจำต้องกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนเองหรือผู้อื่น เพื่อให้รอดพ้นภยันตรายอันเกิดจากการละเมิดต่อกฎหมาย
การกระทำเพื่อป้องสิทธิของผู้อื่นให้รอดพ้นจากภยันตราย อันเกิดจากการประทุษร้ายที่ละเมิดต่อกฎหมาย เป็นเงื่อนไขของการยกเว้นความผิด ซึ่งได้บัญญัติไว้ในมาตรา 68 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ทั้งนี้เนื่องจากโดยสัญชาติญาณของมนุษย์ทั่วไปนั้น เมื่อมีภยันตรายเกิดขึ้นแก่ตนเองหรือผู้อื่นและไม่อาจที่จะขอความคุ้มครองจากรัฐได้อย่างทันท่วงที บุคคลนั้นก็ย่อมมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะกระทำการต่าง ๆ เพื่อโต้ตอบและป้องกันภยันตรายที่จะเกิดขึ้นกับตนเองหรือผู้อื่นได้ หากประชาชนผู้พบเห็นการทำร้ายร่างกายผู้อื่น แม้จะทราบว่าเป็นสามีทำร้ายร่างกายภริยาจากปัญหาครอบครัวหรือเป็นเรื่องครอบครัว ท่านก็มีสิทธิในการไปป้องกันมิให้เหตุการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้น หรือไประงับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ตามกฎหมายถือว่าประชาชนผู้หวังดีไม่มีความผิดทางอาญาเพราะกฎหมายได้กำหนดให้เป็นเหตุยกเว้นความผิด
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ประมวลกฎหมายอาญาก็ได้บัญญัติยอมรับหลักการนี้ไว้ในมาตรา 68 ว่า “ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด” ซึ่งแยกองค์ประกอบกรณีสามีทำร้ายร่างกายภริยา ดังนี้
เมื่อสามีทำร้ายร่างกายภริยา ก็คือว่า สามีทำผิดกฎหมายอาญาในเรื่องการทำร้ายร่างกายผู้อื่น การที่มีผู้อยู่ในเหตุการณ์เข้าช่วยเหลือภริยาในการเข้าไปกระทำต่อสามีที่กำลังทำร้ายร่างกายภริยาหรือเพื่อเจตนาเพื่อระงับเหตุการณ์ถือว่า เป็นกรณีมีเหตุจำต้องกระทำ ประกอบการป้องกันสิทธิของผู้อื่น คือสิทธิของภริยาที่จะไม่ให้ใครทำร้ายตนได้แม้แต่สามีก็ไม่สิทธิใดๆ ตามกฎหมายในการทำร้ายร่างกายภริยา เมื่อประชาชนผู้อยู่ในเหตุการณ์เข้าไประงับเหตุหรือป้องกันเหตุก็เป็นการให้พ้นภยันตราย ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย เพราะสามีละเมิดต่อกฎหมายคือกฎหมายอาญา ในข้อหาทำร้ายร่างกายภริยา เป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง โดยภยันตรายดังกล่าวที่เกิดขึ้นเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง เพราะหาประชาชนผู้เห็นเหตุการณ์ไม่เข้าไปช่วยเหลือ ภริยาต้องได้รับบาดเจ็บและอาจถึงแก่ความตายได้ ประกอบการกระทำดังกล่าวของประชาชนผู้หวังดีที่อยู่ในเหตุการณ์ ก็เป็นการกระทำโดยพอสมควรแก่เหตุ คือ เข้าไประงับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่เกิดการสูญเสีย
กฎหมายจึงให้สิทธิของประชาชนทั่วไปในการป้องกันผู้อื่นได้โดยกฎหมายอาญาได้กำหนดไว้ว่าหากกระทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายผู้กระทำไม่มีความผิดทางอาญา จึงเห็นได้ว่าประชาชนทั่วไปเมื่อเห็นเหตุการณ์ที่กระทำไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ต้องพยายามเข้าช่วยเหลือหรือดำเนินการแจ้งให้ภาครัฐเข้าไปยังที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุดเพื่อป้องกันการเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดซึ่งอาจทำให้ภริยาได้รับบาดเจ็บสาหัส หรือถึงแก่ความตายในท้ายที่สุด
ในทางตรงกันข้ามประชาชนทั่วไปเมื่อเห็นเหตุการณ์ที่บุคคลอื่นตกอยู่ในภยันตรายแห่งชีวิตซึ่งตนอาจช่วยได้โดยไม่ควรกลัวอันตรายแก่ตนเองหรือผู้อื่นแต่ไม่ช่วยตามความจำเป็น บุคคลดังกล่าวที่อยู่ในเหตุการณ์อาจต้องมีความผิดทางอาญา ซึ่งมีอัตราทาจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ(ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 374) แต่ประชาชนทั่วไปที่อยู่ในเหตุการณ์ต้องสามารถช่วยได้ตามความจำเป็นเช่น เช่น สามีกำลังทำร้ายร่างกายภริยาโดยไม่มีอาวุธในมือ ประชาชนทั่วอยู่เฉยๆ ไม่ยอมช่วยอาจมีความผิดทางอาญาด้วยซ้ำไป