ชาวกรุง 'ป่วยทางเดินหายใจ' พุ่ง ชี้มลพิษทางอากาศสาเหตุตายอันดับต้นๆ
กรมอนามัย เผยตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2561 - มกราคม 2562 ผู้ป่วยทางเดินหายใจในกทม.และปริมณฑล มีปริมาณเพิ่มขึ้น เตือนมลพิษทางอากาศ ถือเป็นสาเหตุการตายระดับต้นๆ ของกลุ่มที่เสียชีวิตด้วยโรคทางเดินหายใจ
นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัยชี้แจงเรื่องข้อมูลพื้นฐานของฝุ่นละออง PM 2.5 ที่ประชาชนควรรู้ว่า มลพิษทางอากาศถือเป็นสาเหตุการตายระดับต้นๆ ของกลุ่มที่เสียชีวิตด้วยโรคทางเดินหายใจสถานการณ์ความเสี่ยงของฝุ่นละอองขนาดเล็กในขณะนี้มีผลกระทบต่อประชาชนโดยตรงจากการที่สภาวะอากาศนิ่ง ลมสงบ ทำให้ฝุ่นละอองขังตัวอยู่ในพื้นที่และแหล่งกำเนิดของการเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิงจากการจราจรติดขัด และเผาชีวมวลต่างๆที่ทำให้เกิดปริมาณฝุ่นละออง ขณะนี้ เรามีสถานีวัดปริมาณฝุ่นละอองพบว่าจังหวัดกรุงเทพมหานครและสระบุรี มีปริมาณที่มาก และพบว่าตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2561- มกราคม 2562 ผู้ป่วยทางเดินหายใจในกทมละปริมณฑล มีปริมาณเพิ่มขึ้น อาทิ หอบหืดทางเดินหายใจอื่นๆ หลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง หัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ฯลฯทางกรมอนามัยเองได้ประกาศค่าเฝ้าระวังพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชนออกเผยแพร่ให้สังคมได้รับรู้และป้องกันตัวได้
ด้าน นพ.พิชญา นาควัชระ รองปลัดกรุงเทพมหานครกล่าวว่า กทม.เองได้กำหนดมาตรการระยะสั้น คือ ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดใช้เครื่องวัดค่า PM 2.5 ของ กทม ทั้งหมด 34 จุดตรวจวัดค่าและแจ้งสำนักงานเขตที่มีค่าสูงดำเนินการจัดการทันทีที่ผ่านมาได้ดำเนินการเฉพาะหน้าหลายอย่าง อาทิ ใช้การฉีดละอองน้ำขึ้นอากาศทำความสะอาดทางเดินเท้าเพื่อลดฝุ่น นำหน้ากาก N95แจกจ่ายแก่ประชาชน เป็นการสร้างสัญลักษณ์กระตุ้นให้ประชาชนรับรู้ ให้ประชาชนตระหนักถึงการป้องกันและร่วมมือไม่สร้างฝุ่นมากขึ้น รวมถึงการกวดขันและตรวจคุณภาพของรถโดยสารประจำทางที่ปล่อยควันดำและการแก้ไขปัญหาจราจรติดขัด โดยจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรณรงค์ไม่เผาขยะและส่งเสริมเตาเผาศพที่ถูกสุขลักษณะ การควบคุมการก่อสร้างและระยะยาวจะมีการสร้างพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้นและส่งเสริมให้สร้างสวนแนวตั้งในพื้นที่จำกัด และการบังคับใช้กฏหมายการใช้รถยนต์เป็นต้น ในขณะที่ นพ.สุนทร สุนทรชาติ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานครประกาศกิจกรรมบิ๊กคลีนนิ่งเดย์ ในวันอาทิตย์ที่ 20 มกราคมนี้ ตั้งแต่เวลา 7.00 น.ในพื้นที่ กทม. โดยรอบ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมช่วยลดปริมาณฝุ่นในท้องถนน