ตร.จราจรลุย 'ล้างท่อ รอรับรถ' ลดปัญหาฝุ่นควันในกทม.
บก.จร. ลุยมาตรการ "ล้างท่อ รอรับรถ" หวังลดปัญหาฝุ่นควันในกทม. เน้นขับเคลื่อน 3 มาตรการหลัก
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 18 ม.ค. ที่กองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น. พร้อมด้วยพล.ต.ต.นิธิธร จินตกานนท์ ผบก.จร. รองผบก.น.1-9 รอง ผบก.จร. เข้าร่วมในพิธีปล่อยแถวการดำเนินการมาตรการ “ล้างท่อ รอรับรถ” เพื่อแก้ไขปัญหาจราจร และลดปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เน้นขับเคลื่อน 3 มาตรการหลัก
ประกอบด้วย 1.มาตรการเร่งรัดการจราจร 2.มาตรการบังคับใช้กฎหมาย และ3.มาตรการคืนพื้นผิวการจราจร โดยมีข้าราชการตำรวจจราจร 88 สน. และ บก.จร. กว่า 150 นาย พร้อมรถยกประจำ บก.น.1-9 และ จร. รวม 21 คัน เพื่อทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่กระทำความผิด เคลื่อนย้ายรถที่จอดกีดขวาง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดเป็นเวลานาน ทำให้รถปล่อยควันพิษและฝุ่นละอองดังกล่าว เกิดการสะสมอยู่ในบรรยากาศเป็นเวลานานจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งจะเน้นในถนนที่สำคัญ 21 สายหลัก
สำหรับ1.มาตรการเร่งรัดการจราจร ได้จัดให้มีการเข้าประจำจุดควบคุมสัญญาณไฟในช่วงเวลาเร็ว ประกอบด้วย ช่วงเร่งด่วนเช้า ก่อนเวลา 06.00 น. ช่วงเร่งด่วนเย็น ก่อนเวลา 14.30 น. นอกจากนี้ได้จัดเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำจุดที่มีปัญหาการจราจรในพื้นที่ เพื่ออำนวยการจราจรและบังคับใช้กฎหมาย เช่น ซอยที่ตัดกระแสการจราจร โรงเรียน ตลาด สถานีรถไฟ เป็นต้น และได้จัดชุดปฏิบัติการ เพื่อตรวจและแก้ไขปัญหาทางแยกในพื้นที่ในช่วงนอกเวลาเร่งด่วน ระหว่างเวลา 11.00-14.30 น.
ส่วน2.มาตรการบังคับใช้กฎหมาย จะบังคับใช้กฎหมายตามข้อบังคับว่าด้วยการห้ามรถบรรทุกเดินรถในเขตกรุงเทพฯ โดยเคร่งครัด ดังนี้ รถบรรทุก 6 ล้อ ห้ามเดินรถ ระหว่างเวลา 06.00 น.-09.00 น. และเวลา 16.00 น.-20.00 น. ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ รถบรรทุก 10 ล้อ ห้ามเดินรถ ระหว่างเวลา 06.00 น.-10.00 น. และเวลา 15.00 น.-21.00 น. ในเขตกรุงเทพฯ
ทั้งนี้จะบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการนำรถที่เครื่องยนต์ ก่อให้เกิดก๊าซ ฝุ่น ควัน เกินเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด โดยมีมาตรการเพิ่มจุดตรวจควันดำ รอบกรุงเทพฯ ชั้นนอก จากจำนวน 12 จุด เป็น 20 จุด และเน้นการบังคับใช้กฎหมาย ตามพรบ.จราจร กวดขันจับกุมรถยนต์ที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ(ควันดำ) เกินกว่าค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด พรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้องแห่งชาติ ร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษ กวดขันจับกุมรถยนต์ ขนาดเล็ก ซึ่งมีค่าควันดำเกินกว่ามาตรฐาน โดยติดสติ๊กเกอร์ระงับการใช้รถชั่วคราว และให้ปรับเปลี่ยนแก้ไขภายใน 30 วัน พรบ.ขนส่งทางบก ร่วมกับเจ้าหน้าที่ขนส่งในการตรวจวัดรถบรรทุกที่มีค่าควันดำเกินกว่ามาตรฐาน หากตรวจพบจะใช้มาตรการระงับการใช้รถ ซึ่งทั้ง 3 พรบ.จะมีการรวบรวมจำนวนรถ รายชื่อผู้ขับขี่ และผู้ประกอบการ เพื่อสรุปให้เห็นภาพว่า รถที่เพิกเฉยต่อมาตรการควบคุมมลพิษ มีจำนวนเท่าใด และเป็นของผู้ใด เพื่อจะได้ออกมาตรการกดดันหรือกฎหมายอื่นต่อไป การบังคับใช้กฎหมายในข้อหาที่ส่งผลต่อปัญหาจราจร เน้นการกวดขันจับกุมข้อหา 1.จอดรถในที่ห้ามจอด 2.จอดรถซ้อนคัน 3.จอดกีดขวางการจราจร โดยพิจารณาใช้มาตรการยกรถ เพื่อไม่ให้รถกีดขวางการจราจร กำหนดห้วงเวลาดังนี้
1.วันที่ 18-24 ม.ค. 62 เริ่มประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับมาตรการดังกล่าว 2.วันที่ 25 ม.ค.62 เป็นต้นไป เริ่มดำเนินการมาตรการการยกรถ
3.มาตรการคืนพื้นผิวการจราจร ให้ทุกสน.สำรวจพื้นที่การก่อสร้าง และเชิญเจ้าของโครงการและบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง มาร่วมประชุม เพื่อขอความร่วมมือในการคืนพื้นผิวจราจรในจุดที่ไม่มีความจำเป็น โดยมาตรการดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 18 ม.ค.62 เป็นต้นไป ซึ่งจะมีการรายงานและติดตามผลการปฏิบัติมายัง ฝอ.บก.02 ทุกวัน
พล.ต.ต.จิรสันต์ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่จะเน้น 3 มาตรการในการช่วยลดปริมาณค่าฝุ่นละออง PM 2.5 โดยมาตรการแรกจะช่วยควบคุมรถ ควบคุมสัญญาณไฟ ในช่วงเวลาเร่งด่วน ช่วงเช้าและช่วงเย็น เพื่อไม่ให้รถติดขัดในพื้นที่แออัด เช่น โรงเรียน ตลาด ส่วนมาตรการที่ 2 จะบังคับใช้กฎหมายตามข้อบังคับว่าด้วยการห้ามรถบรรทุกเดินรถในเขตกรุงเทพฯอย่างเคร่งครัด และจะตั้งด่านตรวจควันดำเพิ่มเป็น 20 จุดจาก 12 จุดทั่วกรุงเทพฯ โดยจะใช้เครื่องตรวจแบบใหม่คือเครื่องตรวจวัดควันดำทึบแสง ที่ตรวจค่าควันดำไม่ให้เกินมาตรฐาน 50 หากเกินจะบังคับใช้กฏหมายอย่างเคร่งครัด เช่น เขตบางขุนเทียน ลาดพร้าวบางบอน บางนา โดย 2 วัน ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่สามารถตรวจจับรถที่มีควันดำ เกินมาตรฐาน 50% ได้ 1,200 รายส่วนใหญ่เป็นรถบรรทุก จึงได้ทำสัญลักษณ์ห้ามวิ่ง 30 วัน และให้ไปปรับแก้ไข ไม่ให้ค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน ส่วนมาตรการที่ 3 คือการเร่งคืนพื้นผิวการจราจรให้ทุกสน.สำรวจพื้นที่ก่อสร้างพร้อมทั้งขอความร่วมมือผู้รับเหมาและเจ้าของโครงการให้คืนพื้นผิวจราจรทุกจุดที่ไม่มีความจำเป็น
พล.ต.ต.จิรสันต์ กล่าวอีกด้วยว่า นอกจากนี้ทางตำรวจได้มีการพัฒนาเครื่องมือสมัยใหม่ ซึ่งมีคุณสมบัติการใช้งานโดยวัดความทึบแสง หากมีปริมาณควันดำผ่านสัญญาณตรวจจับเกินกว่าร้อยละ 50 จะทำการออกใบสั่งและยึดใบขับขี่ พร้อมโทษเปรียบเทียบปรับอีกไม่เกิน 1,000 บาท ส่วนรถที่มีควันดำจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสั่งห้ามไม่ให้ใช้รถควันดำ ซึ่งจะติดสติ๊กเกอร์เตือนเป็นเวลา 30 วัน โดยหากไม่นำไปปรับแก้ไข ก็จะสั่งห้ามใช้รถเด็ดขาดอย่างไรก็ตามเครื่องมือในการตรวจวัดได้รับการตรวจสอบจากกรมควบคุมมลพิษจึงมั่นใจในระดับหนึ่งว่าเรามีมาตรฐานการทำงานที่ดี อีกทั้งก่อนการปฏิบัติงานได้อบรมเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ให้สามารถรองรับและเข้าใจการทำงาน ภายหลังมีการขยายจุดตรวจควันดำเพิ่มจากเดิม 12 จุดเป็น 20 จุด