เปิดคำตัดสินศาลอุทธรณ์ ยกฟ้อง 9 อดีตแกนนำพันธมิตร คดีชุมนุมดาวกระจาย
เปิดคำตัดสินศาลอุทธรณ์ ยกฟ้อง 9 อดีตแกนนำพันธมิตรฯ ชุมนุมดาวกระจาย ชี้มีทั้งพฤติการณ์ฟ้องซ้ำมูลคดีเดียวกับคดีบุกทำเนียบ
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 30 ม.ค.62 ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ชุมนุมดาวกระจายปี 2551 คดีหมายเลขดำ อ.3973/2558 ที่อัยการสำนักงานคดีอาญา 5 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อายุ 80 ปี , นายสนธิ ลิ้มทองกุล อายุ 68 ปี , นายพิภพ ธงไชย อายุ 70 ปี , นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ อายุ 65 ปี , นายสมศักดิ์ โกศัยสุข อายุ 70 ปี , นายสุริยะใส กตะศิลา อายุ 43 ปี , นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ อายุ 66 ปี , นายอมร อมรรัตนานนท์ หรือรัชต์ยุตม์ ศิรโยธินภักดี อายุ 59 ปี และนายเทิดภูมิ ใจดี อายุ 74 ปี อดีตแกนนำ พธม.เป็นจำเลยที่ 1-9 ในความผิดฐานร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาหรือวิธีอื่นใดฯ
เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงรัฐบาลโดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนในหมู่ประชาชนและก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร , ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการโดยผู้กระทำคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ และเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิก แต่ไม่เลิก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 , 215 , 216 กรณีที่มีการรวมตัวกันต่อต้านและขับไล่รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีคนที่ 25 เมื่อปี 2551
โดย อัยการโจทก์ ยื่นฟ้อง เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.58 ระบุพฤติการณ์สรุปว่า วันที่ 25 พ.ค.51 จำเลยทั้งเก้า จัดชุมนุมใหญ่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวร เขตพระนคร กทม. โดยใช้รถยนต์บรรทุกหกล้อ จำนวน 5 คัน เป็นเวทีปราศรัยเคลื่อนที่ ไปตาม ถ.ราชดำเนิน มุ่งหน้าทำเนียบรัฐบาล แล้วปิดการจราจร ถ.ราชดำเนินนอก ตั้งแต่สี่แยกมัฆวานรังสรรค์ ไปจนถึงสี่แยก จปร. จัดเป็นที่ชุมนุมประท้วง จนถึงวันที่ 5 ต.ค.51 โดยได้มีการตั้งเวทีถาวร กางเต็นท์ โรงครัวปรุงอาหาร ขึงลวดหนาม กั้น ถ.ราชดำเนินนอก ห้ามบุคคลเข้า-ออกบริเวณที่ชุมนุมตั้งกองกำลังรักษาความปลอดภัยเรียกว่า นักรบศรีวิชัย นอกจากนี้ ยังมีการจัดเตรียมเครื่องมือเช่น ไม้เบสบอล หนังสติ๊ก ท่อนเหล็ก เพื่อใช้เป็นอาวุธ ส่วนบนเวทีปราศรัยจำเลยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นกล่าวปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ตลอด 24 ชั่วโมง โดยร่วมกันชักชวนผู้ชุมนุมหลายหมื่นคน ปิดถนนสาธารณะและเคลื่อนกำลังไปในลักษณะ ดาวกระจาย โดยใช้รถบรรทุกเป็นเวทีปราศรัยเคลื่อนที่ ไปกดดันบริเวณสถานที่ราชการหลายแห่ง เช่น กระทรวงการต่างประเทศ , สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) , กระทรวงมหาดไทย , สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) , กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ , กระทรวงการคลัง และสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นเหตุให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง นอกจากนี้ยังได้เคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลอีกด้วย
ซึ่ง อดีตแกนนำ พธม. ทั้ง 9 คน ได้ต่อสู้คดีโดยให้การปฏิเสธต่อสู้คดี และได้รับการประกันตัวในชั้นพิจารณา โดยส่วนของ นายสนธิ อดีตแกนนำ พธม.คนสำคัญนั้น แม้จะได้รับการประกันตัวในคดีนี้ แต่ก็ถูกคุมขังในเรือนจำคลองเปรม รับโทษจำคุก 20 ปีคดีทำผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535
ขณะที่ ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 20 ก.ค.60 เห็นว่า การกระทำก่อให้เกิดความผิดที่โจทก์ฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง , นายสนธิ ลิ้มทองกุล , นายพิภพ ธงไชย , นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข, นายสุริยะใส กตะศิลา จำเลยที่ 1-6 นั้น เป็นการฟ้องซ้ำกับความผิดจำเลยที่ 1-6 ซึ่งโจทก์ฟ้องไว้ในคดีดำ อ.4925/2555 และคดีดำ อ.276/2556 ( 6 พธม.บุกรุกทำเนียบรัฐบาล) ที่เป็นการกระทำความผิดในคราวเดียวกัน โดยเหตุการณ์เริ่มต้นจากจำเลยที่ 1-6 มีการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 อันเป็นความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปแล้วก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองกับมีเจตนาพิเศษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 แล้วร่วมกันบุกรุกเข้าไปในทำเนียบรัฐบาลจนทำให้ทรัพย์สินบางส่วนได้รับความเสียหาย โจทก์จึงนำการกระทำความผิดในคราวเดียวกันมาฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1-6 เป็นคดีนี้อีกไม่ได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1-6
ส่วนการใช้เครื่องขยายเสียงของกลุ่มผู้ชุมนุม รับฟังได้ว่าเป็นการกระทำที่มิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานตามกฎหมาย นอกจากนี้โรงเรียนและสถานศึกษาหลายแห่งที่อยู่ใกล้เคียงสถานที่ชุมนุมของกลุ่ม พธม.ต้องระงับการเรียนการสอนหลายครั้ง ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าการชุมนุมของกลุ่ม พธม. ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญและกิจกรรมประกอบการชุมนุมนั้นจัดทำขึ้นบนถนนและทางสาธารณะกีดขวางการจราจร นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ , นายอมร อมรรัตนานนท์หรือรัชต์ยุตม์ ศิรโยธินภักดี และนายเทิดภูมิ ใจดี จำเลยที่ 7-9 จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคหนึ่ง แต่กรณียังไม่ชัดเจนว่าการกระทำของจำเลยที่ 7-9 หรือการชุมนุมของกลุ่ม พธม. มิได้เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญตามที่โจทก์ฟ้อง เนื่องจากการชุมนุมของกลุ่ม พธม.บรรยากาศโดยรวมต้องถือว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 63 จึงพิพากษาว่า จำเลยที่ 7-9 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 83 แต่เมื่อพิเคราะห์ถึงเจตนาและเหตุผลในการกระทำ ประกอบอายุ-ประวัติ-อาชีพ-ความประพฤติ -การศึกษา และสุขภาพของจำเลยที่ 7-9 โดยรวมแล้ว กรณีเห็นควรให้รอการกำหนดโทษ (เห็นว่าผิดแต่ยังไม่กำหนดอัตราโทษ) ไว้มีกำหนด 2 ปี
ต่อมา อัยการโจทก์ ยื่นอุทธรณ์ โดย ศาลอุทธรณ์ ตรวจสำนวนประชุมหารือกันแล้ว มีประเด็นวินิจฉัยในชั้นอุทธรณ์ว่า คดีโจทก์ ฟ้องจำเลยที่ 1-6 เป็นการฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดง อ.1877/2558 และคดีหมายเลขแดง อ.1878/2558 ( 6 พธม.บุกรุกทำเนียบรัฐบาล) หรือไม่
ศาลอุทธรณ์ เห็นว่า การชุมนุมของกลุ่ม พธม. เป็นการกดดันให้รัฐบาลนายสมัคร ลาออก โดยโจทก์ ยื่นฟ้องเป็นหมายเลขแดง อ.1877/2558 และคดีหมายเลขแดง อ.1878/2558 ไปแล้ว กับความผิดในคดีนี้ ซึ่งก็เป็นการกระทำความผิดในคราวเดียวกัน ฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปแล้วก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ 215 ดังนั้นการกระทำของจำเลยที่ 1-6 จึงเป็นความผิดกรรมเดียว ที่ผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ดังนั้นการที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ในคดีก่อน โดยไม่ฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ 215 มาในคดีเดียวกัน จนศาลมีคำพิพากษาในคดีความผิดฐานร่วมกันบุกรุกและร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ไปแล้ว กรณีต้องถือว่ามูลความผิดในคดีนี้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว โจทก์จึงนำการกระทำความผิดในคราวเดียวกันมาฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1-6 เป็นคดีนี้อีกไม่ได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้
ส่วนการกระทำของนายไชยวัฒน์ , นายอมรหรือรัชต์ยุตม์ และนายเทิดภูมิ จำเลยที่ 7-9 นั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การชุมนุมของกลุ่ม พธม. ชุมนุมโดยสงบ แม้โจทก์ จะมีเจ้าหน้าที่ เบิกความกรณีผู้ชุมนุมต่อสู้ขัดขวางการปฏิบัติงานเมื่อได้เข้ารื้อเวทีและเต็นท์ของกลุ่มผู้ชุมนุม กรณีดังกล่าวก็ไม่ได้เริ่มจากกลุ่มผู้ชุมนุม
ส่วนที่มีการตรวจค้นพบขวานและเหล็กแป๊บในพื้นที่ภายหลังกลุ่มผู้ชุมนุมขนย้ายเต็นท์และข้าวของออกไปหมดแล้วจึงค่อนข้างผิดวิสัย อีกทั้งก็ไม่ได้ค้นพบจากตัวผู้ชุมนุม จึงยังทำให้มีข้อสงสัยว่าอาจจะไม่ใช่ของผู้ชุมนุม การชุมนุมของกลุ่ม พธม. ก็เป็นการชุมนุมโดยสงบ ใช้สิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญฯ
ที่ศาลชั้นต้น พิพากษาว่าจำเลยที่ 7-9 มีความผิดนั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย จึงพิพากษาแก้เป็นให้ยกฟ้องจำเลยที่ 7-9 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ภายหลังฟังคำพิพากษาแล้ว นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ อดีต 1 ในแกนนำ พธม. กล่าวว่า วันนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องทุกข้อหา เพราะคำให้การของพยานระบุว่ากลุ่มผู้ชุมนุมกระทำตามรัฐธรรมนูญฯด้วยความบริสุทธิ์ใจ และการกระทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญถือเป็นหน้าที่ของพลเมืองด้วย สำหรับตนถูกดำเนินคดีทั้งหมด 11 คดีจากการชุมนุม ก็ยังไม่เคยเห็นศาลอ้างรัฐธรรมนูญฯ เหมือนคดีดาวกระจายนี้ ซึ่งศาลเริ่มเอารัฐธรรมนูญฯ มาใช้แล้วคิดว่าบรรยากาศจะดีขึ้น
ด้าน นายสุริยะใส กตะศิลา กล่าวว่า ขอบคุณกระบวนการยุติธรรม เพราะเราเชื่อมั่นและยืนยันมาตลอดว่าพร้อมสู้ทุกคดี ไม่หนี และใช้สิทธิทางศาลอย่างเต็มที่ ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไรก็น้อมรับ วันนี้เป็นอีกกรณีที่ยืนยันว่าสิ่งที่พวกเราชุมนุมต่อสู้กันมา เรากระทำโดยสุจริตใจ อยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญ ศาลชี้ให้เห็นว่าการชุมนุมของกลุ่ม พธม.ที่เป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ แต่เหตุของความรุนแรงที่เกิดขึ้นมาจากภายนอก ซึ่งเป็นพยานหลักฐานสำคัญที่เรายกมาต่อสู้ในทุกคดี เราไม่ได้ยกพวกไปตีกับใคร เราชุมนุมโดยสงบ ที่ทำเนียบฯ เดี๋ยวก็มี ระเบิดเอ็ม 79 ยิงมา มีชายฉกรรจ์ชายชุดดำออกมา สุดท้ายความจริงปรากฏว่าความตั้งใจของพวกเราที่ต่อสู้เพื่อบ้านเมือง ซึ่งศาลท่านเห็นและสังคมก็จะเห็นตาม ไม่ว่าวันหน้าจะเกิดอะไรขึ้น ก็ยังมั่นใจในความสุจริตที่ต่อสู้มาทั้งหมดเพื่อส่วนรวม
เมื่อถามถึงความคืบหน้าการสู้คดีชุมนุม กปปส. นายสุริยะใส กล่าวว่า ตนอยู่ระหว่างประสานงานเพื่อขอรับทราบข้อกล่าวหา (ในชั้นอัยการสั่งคดีที่สั่งฟ้องแล้ว) เนื่องจากที่ผ่านมาตนเลื่อนนัดหลายครั้ง จากการติดธุระด้วย และไปต่างประเทศด้วย มีประชุมที่มหาวิทยาลัยด้วย คิดว่าภายใน 1-2 เดือนนี้อาจจะได้นัดมอบตัว