แนะรัฐเร่งกำหนดมาตรการควบคุมฝุ่นพิษมากกว่าพ่นน้ำ

แนะรัฐเร่งกำหนดมาตรการควบคุมฝุ่นพิษมากกว่าพ่นน้ำ

นักวิชาการ แนะรัฐเร่งกำหนดมาตรการควบคุมฝุ่นละออง PM 2.5 ที่ชัดเจนหวั่นปัญหาสะสมบานปลายซ้ำเติมสถานการณ์หนักขึ้น ระบุขณะนี้ควรหาวิธีป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นมากกว่าวิธีการพ่นน้ำเพื่อให้ฝุ่นตกลงมาเท่านั้นก่อน

ผศ.ดร.ธรรมศักดิ์ โรจน์วิรุฬห์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี กล่าวว่า จากสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ควรหาวิธีป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นมากกว่าวิธีการพ่นน้ำเพื่อให้ฝุ่นตกลงมาเท่านั้นก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าฝุ่นประเภทนี้ไม่ใช่ฝุ่นตามท้องถนนที่มีขนาดใหญ่ตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่ตรวจกันหลักๆคือ PM 10 คือฝุ่นที่มีขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน แต่ขณะนี้ฝุ่นมีขนาดเล็กกว่าเดิมและอันตรายมากเพราะสามารถแขวนลอยในอากาศได้เป็นอย่างดี ซึ่งการกำจัดฝุ่นหรือมลภาวะอากาศในโรงงานตามหลักวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมจะทำในระบบปิดมีการใช้อุปกรณ์ สครับเบอร์แบบเปียก (Wet Scrubber) กำจัดพวกฝุ่นที่มีขนาดเล็กหรือละอองสารขนาดเล็กจะทำงานได้ 100% แต่การพ่นน้ำในชั้นบรรยากาศจะต้องใช้แรงดันน้ำจำนวนมากเพื่อทำให้หยดน้ำมีขนาดเล็กจึงจะได้ผลดังนั้นสิ่งที่กำลังดำเนินการใช้ปัจจุบันจะช่วยบรรเทาปัญหาได้ประมาณหนึ่งเท่านั้นแต่มีผลทางด้านจิตใจมากกว่า
“สิ่งที่ภาครัฐควรทำ คือ การประชาสัมพันธ์ถึงอันตรายของ PM 2.5 เข้าสู่ร่างกายผ่านระบบทางเดินหายใจจะเข้าไปติดในเนื้อเยื่อทางด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมจะมีการศึกษามลภาวะอากาศที่เป็นฝุ่นขนาดเล็กและสารพิษที่ลอยในอากาศ แต่ครั้งนี้ ปัญหา คือ ฝุ่นเหล่านี้จะมีโลหะหนักปนเปื้อนหรือไม่ หากมีจะยิ่งสะสมในร่างกายทำให้เกิดโรคต่างๆได้มากยิ่งขึ้น ส่วนในระยะยาวภาครัฐต้องมีนโยบายที่ชัดเจนหาวิธีการป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นศึกษาแหล่งกำเนิดของปัญหาการเผาไหม้เชื้อเพลิงควรสนับสนุนเรื่องของการคมนาคมขนส่งให้เป็นระบบทีดีกว่านี้ส่งเสริมการใช้ยานพาหนะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น เช่น การลดกำแพงภาษี” ผศ.ดร.ธรรมศักดิ์ กล่าว


ทั้งนี้ สำหรับเกษตรกรที่มีการเผาพื้นเกษตรเช่นการเผาตอซังควรช่วยหาวิธีการบดละเอียดแทนการเผาหาวิธีการช่วยเกษตรกรในเรื่องนี้เพื่อให้ได้วิธีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมการก่อสร้างต้องมีมาตรการควบคุมที่ชัดเจนรัฐควรมีวิธีการดำเนินการเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรมเพราะสถานการณ์เช่นนี้จะสะสมและแย่ลงเรื่อยๆอย่างไรก็ตามขณะนี้ประชาชนมีการตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นแต่หาอุปกรณ์ป้องกันไม่ได้เพราะขาดตลาดดังนั้นหน่วยงานภาครัฐหรือสถาบันการศึกษาถ้ามีความสามารถในการจัดหาหรือผลิตควรลงมือทำทันทีเช่นการทำหน้ากากป้องกันเบื้องต้นเพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพเรื้อรัง