10นักวิจัยม.มหิดล คว้ารางวัลนักประดิษฐ์ปี62

10นักวิจัยม.มหิดล คว้ารางวัลนักประดิษฐ์ปี62

รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ 10 อาจารย์ม.มหิดล คว้ารางวัลนักประดิษฐ์ ประจำปี62

ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ภัทรชัย กีรติสิน ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล (iNT) เป็นผู้แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล มอบช่อดอกไม้แสดงความยินดีแก่ 10 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล ที่เข้ารับรางวัลในงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2562 จาก พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 21 เนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 60 ปี วช. ภายใต้แนวคิด “สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม เพื่อความก้าวไกลของประเทศ” โดยนำผลงานประดิษฐ์คิดค้น ทั้งในประเทศ และนานาชาติมาร่วมจัดแสดงกว่า 1,500 ผลงาน และเปิดให้ผู้สนใจเข้าชมระหว่างวันที่ 2 – 6 กุมภาพันธ์ 2562 ณ Event Hall 102 – 104 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ

รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ เป็นรางวัลที่มอบให้ นักวิจัย ซึ่งได้อุทิศตนให้แก่การวิจัยในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือหลายเรื่องในกลุ่มวิชาการ หรือ สหวิทยาการอย่างต่อเนื่อง มีผลงานวิจัยดีเด่นที่แสดงถึงความคิดริเริ่ม โดยผลงานวิจัยสร้างคุณูปการ และเกิดประโยชน์ในเชิงวิชาการ เชิงเศรษฐกิจ เชิงชุมชน สังคม และเชิงโยบายอย่างต่อเนื่อง เป็นผลงานวิจัยที่ทำสะสมกันมาไม่น้อยกว่า 5 ปี ทั้งเป็นผู้ที่มีจริยธรรมของนักวิจัย เป็นที่ยอมรับ และยกย่องในวงวิชาการนั้นๆสมควรเป็นแบบอย่างแก่นักวิจัยอื่นได้ สำหรับในปีนี้ มีนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้รับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติรางวัล : รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2562 ในสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ จำนวน 2 ท่าน ดังนี้

1.ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรเดช หงส์อิง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นนักวิจัยที่ได้อุทิศตนทำงานวิจัยด้านการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตให้กับผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย โดยเป็นผู้ริเริ่มทำการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตที่ใช้เซลล์ต้นกำเนิดจากบุคคลอื่นที่มิใช่พี่ น้อง พ่อ แม่ ในกรณีที่ผู้ป่วย หรือพี่น้องที่มีเนื้อเยื่อตรงกันที่จะบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตได้ และการปลูกถ่ายโดยใช้เซลล์ต้นกำเนิดจากพ่อหรือแม่ที่มีเนื้อเยื่อ (HLA) ไม่ตรงกันที่เรียกว่า haploidentical โดยสามารถปลูกถ่ายได้เกือบทุกอายุ จนถึงอายุ 30 ปี มีอัตราการหายขาดจากโรค และรอดชีวิตมากกว่าร้อยละ 95 ไม่ว่าจะทำการปลูกถ่ายโดยใช้เซลล์ต้นกำเนิดจากพี่น้อง หรือจากบุคคลอื่นที่มีเนื้อเยื่อตรงกัน แม้กระทั่งใช้เซลล์ต้นกำเนิดจากพ่อหรือแม่ที่มีเนื้อเยื่อเหมือนกันครึ่งหนึ่งแบบ haploidentical ซึ่งความรู้จากการปลูกถ่าย haploidentical ในโรคธาลัสซีเมียนี้ สามารถนำไปรักษาโรคอื่นๆ ได้อีกหลายโรค เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคไขกระดูกฝ่อ และโรคพันธุกรรมอื่นๆ ความรู้ที่ได้สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียให้หายขาดได้มากยิ่งขึ้น

2.ศาสตราจารย์ ดร.พลรัตน์ วิไลรัตน์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน นักวิจัยที่ได้อุทิศตนทำงานวิจัยด้านโรคมาลาเรีย เนื่องจากโรคมาลาเรียเป็นโรคเขตร้อนที่เกิดจากปรสิตที่มีความสำคัญมากที่สุดในโลก งานวิจัยก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ ทำให้ทราบกลไก และเข้าใจในโรคแทรกซ้อนมาลาเรียชนิดรุนแรง นำไปสู่การพัฒนาสูตรยาผสมที่มีผลต่อการรักษาและป้องกันมาลาเรีย ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนแนวเวชปฎิบัติในการรักษามาลาเรียใหม่ขององค์การอนามัยโลก และแนวเวชปฏิบัติในการรักษามาลาเรียใหม่ของกระทรวงสาธารณสุขเฉพาะในประเทศไทยสามารถลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตจากโรคมาลาเรียได้ จากเดิมมีผู้ป่วยเป็นโรคมาลาเรียปีละประมาณ 160,000 คน และเสียชีวิตปีละประมาณเกือบ 600 คนจำนวนผู้ป่วย 10,000 คน และเสียชีวิตน้อยกว่า 100 คนต่อปี เป็นประโยชน์มากต่อประเทศไทยและทั่วโลก

รางวัลผลงานวิจัย เป็นรางวัลที่มอบให้กับนักวิจัย ซึ่งได้อุทิศตนให้แก่การวิจัยในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือหลายเรื่องในกลุ่มวิชาการ หรือสหวิทยาการอย่างต่อเนื่อง ผลงานวิจัยดีเด่นที่แสดงถึงความคิดริเริ่ม ต้องเป็นผลงานวิจัยที่ ทำสะสมกันมา ไม่น้อยกว่า 5 ปี ตั้งเป็นผู้ที่มีจริยธรรมของนักวิจัย เป็นที่ยอมรับและยกย่องในวงวิชาการนั้นๆ สมควรเป็นแบบอย่างแก่นักวิจัยอื่นได้ สำหรับในปีนี้ มีนักวิจัยที่ได้รับรางวัลจากมหาวิทยาลัยมหิดล จำนวน 2 ผลงาน ดังนี้

1.สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.สุวรรณา (กิจผาติ) บุญตานนท์
คณะวิศวกรรมศาสตร์
รางวัลผลงานวิจัยระดับดี เรื่อง “การป้องกันผลกระทบจากสารอันตรายตกค้างของโลจิสติกส์สินค้าเกษตรและอาหารจากการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) : ระบบเฝ้าระวังและตรวจสอบย้อนกลับยาสัตว์ตกค้างและวัตถุเจือปนอาหารในสินค้ากลุ่มสัตว์น้ำ กลุ่มปศุสัตว์ และผลิตภัณฑ์”

2.สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรพันธ์ คู่สกุลนิรันดร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รางวัลผลงานวิจัยระดับดี เรื่อง “การระบุอัตลักษณ์และจดจำบุคคลโดยใช้รูปแบบการเดินภายใต้การไม่จำกัดเงื่อนไขและสภาพแวดล้อมของการเดิน”

รางวัลวิทยานิพนธ์ เป็นรางวัลที่มอบให้แก่นักวิจัยที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอก ทำงานวิจัยที่มีคุณภาพสูง เป็นประโยชน์ต่อวงวิชาการและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ เป็นวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาที่มีสัญชาติในหลักสูตรระดับปริญญาเอกของสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา ซึ่งตีพิมพ์เป็นรูปเล่มและได้รับการอนุมัติจากสถาบันการศึกษาแล้วย้อนหลังไม่เกิน 5 ปี และผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์แล้ว ทั้งนี้เป็นผลงานที่มีคุณภาพใช้วิธีวิเคราะห์หรือสังเคราะห์ที่เหมาะสมยิ่ง มีความชัดเจนมีศักยภาพสูงต่อการนำไปใช้ในอนาคต และได้รับการเผยแพร่ในวารสารที่เป็นที่ยอมรับแล้วในวงวิชาการระดับชาติ หรือระดับนานาชาติ สำหรับในปีนี้ มีวิทยานิพนธ์จากมหาวิทยาลัยมหิดลได้รับรางวัลจำนวน 4 เรื่อง ได้แก่
1.สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ จำนวน 1 เรื่อง ได้แก่ ดร.ธารา เฉลิมทรงศักดิ์
วิทยาลัยนานาชาติ รางวัลวิทยานิพนธ์ระดับดี เรื่อง “การวัดความแม่นยำสูงและวิธีการลดความผันผวนจากความร้อนบนกระจก”

2. สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช จำนวน 3 เรื่อง ดังนี้
2.1 ดร.ธีรา ฉันทโรจน์ศิริ คณะวิทยาศาสตร์ รางวัลวิทยานิพนธ์ระดับดี เรื่อง “การศึกษาผลของการเปลี่ยนแปลงทางอิเล็คทรอนิคส์ของสารประกอบเชิงซ้อนของเหล็กซึ่งเป็นแบบจำลองจากเอนไซม์ต่อการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำปฏิกิริยากับสารเคมีโมเลกุลเล็ก”

2.2 ดร.กรกมล เลิศสุวรรณ คณะวิทยาศาสตร์ รางวัลวิทยานิพนธ์ระดับดี เรื่อง “การค้นพบโปรตีนฟิบูลินวันในฐานะโปรตีนจากเซลล์ไขกระดูกในชั้นสตอร์มาลของมนุษย์ชนิดเอชเอสไฟว์ที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมาก”

2.3 ดร.มัญชุตา แดงกุลวานิช วิทยาลัยนานาชาติ รางวัลวิทยานิพนธ์ระดับดี เรื่อง “กลไกระดับโมเลกุลของปัจจัยที่ควบคุมไดนามิคส์ของอาร์เอ็นเอโพลีเมอเรซทูในการถอดรหัสพันธุกรรม”

รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น เป็นรางวัลที่มอบให้แก่นักประดิษฐ์สร้างสรรค์ผลงานผลผลิต ผลิตภัณฑ์ กรรมวิธี กระบวนการ วิธีการ มาตรการหรือระบบ ตลอดจนนวัตกรรม วิทยาการต่างๆ ที่ดีเด่นและพิสูจน์แล้วว่าเป็นประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติ เป็นผลงานที่เกิดจากความคิดริเริ่ม และความเพียรพยายามของผู้ประดิษฐ์คิดค้น ซึ่งเป็นของใหม่หรือปรับปรุงให้ดีขึ้น ทรัพยากรที่ใช้ในการประดิษฐ์คิดค้น ส่วนใหญ่เป็นทรัพยากรที่มีในประเทศไทย มีคุณค่าทางวิชาการ มีศักยภาพในการพัฒนาไปสู่ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือนำไปใช้ประโยชน์ในทางอื่นได้ สำหรับในปีนี้ มีผลงานจากนักวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดลที่ได้รับรางวัลจำนวน 2 ผลงาน ได้แก่

1.สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ ได้แก่ ดร. ปรีชา ตั้งวรกิจถาวร คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รางวัลประกาศเกียรติคุณผลงานประดิษฐ์คิดค้น เรื่อง “มินิเจอร์แพลนท์พอต: เกมส่งเสริมการเรียนรู้และอนุรักษ์ต้นไม้บนพื้นฐาน IoT”

2.สาขาการศึกษา ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทัศนียา รัตนฤาชัย นพรัตน์แจ่มจำรัส สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ รางวัลประกาศเกียรติคุณผลงานประดิษฐ์คิดค้น เรื่อง “แบบจำลองสำหรับการฝึกปฏิบัติการใส่ท่อระบายในช่องอก”

งานวันนักประดิษฐ์จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อระลึกถึงวันประวัติศาสตร์ของการจดทะเบียนและทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ “เครื่องกลเติมอากาศที่มีผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย” หรือ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” แด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ซึ่งเป็นสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของไทยและเป็นครั้งแรกของโลก