ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานราก ไตรมาส 4 ปี 61 ดีขึ้นต่อเนื่อง
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธุรกิจและเศรษฐกิจฐานราก ธนาคารออมสินเผย ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานราก ไตรมาส 4 ปี 2561 ดีขึ้นต่อเนื่อง
เมื่อวันที่ 3 ก.พ.62 นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า “ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานราก (GSI) ประจำไตรมาส 4 ปี 2561 ได้ดำเนินการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างประชาชนที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท ทั่วประเทศจำนวน 2,150 ตัวอย่าง พบว่า ดัชนี GSI ไตรมาส 4 ปี 2561 อยู่ที่ระดับ 45.9 ปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาสก่อนที่อยู่ระดับ 43.8 เนื่องจากประชาชนฐานรากมีความเชื่อมั่นในมาตรการภาครัฐ ที่ยังมุ่งให้ความช่วยเหลือกับประชาชนฐานรากอย่างต่อเนื่อง อาทิ มาตรการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในช่วงปลายปีผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (500 บาท ได้รับครั้งเดียว) มาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา และค่าเช่าบ้าน ส่งผลให้มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น สำหรับ GSI ในอนาคต อีก 6 เดือนข้างหน้า ประชาชนฐานรากมีมุมมองที่ดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 49.6 เนื่องจาก มีความคาดหวังจากความชัดเจนทางการเมืองในเรื่องการเลือกตั้ง ที่จะเกิดขึ้นในปี 2562 นี้ และนโยบายภาครัฐในการให้ความช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาองค์ประกอบดัชนีความเชื่อมั่น ในด้านต่างๆ เทียบกับไตรมาสก่อน พบว่า ด้านการจับจ่ายใช้สอย การออม การหารายได้ โอกาสในการหางานทำ และภาวะเศรษฐกิจปรับตัวเพิ่มขึ้น มีเพียงความสามารถในการชำระหนี้สินที่ปรับลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจโดยรวมฟื้นตัวจากการกระตุ้นของนโยบายภาครัฐ ประกอบกับปลายปีเป็นช่วงที่ต้องมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นสำหรับเทศกาลปีใหม่ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนพบว่า ประชาชนฐานรากมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นในด้านการจับจ่ายใช้สอย ความสามารถในการชำระหนี้ การหารายได้ ส่วนด้านการออม โอกาส ในการหางานทำ และภาวะเศรษฐกิจปรับตัวลดลง
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยฯ คาดว่า ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานราก ในไตรมาสหน้าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากการขยายมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไปอีก 6 เดือน และผู้ถือบัตรยังสามารถเบิกเป็นเงินสดได้ อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยลบจากราคาสินค้าเกษตรบางรายการ ยังอยู่ในระดับต่ำ และภาวะเศรษฐกิจไทยโดยรวมที่อาจชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก” นายชาติชายฯ กล่าว