ปชช.ชี้การจัดการปัญหา 'ฝุ่นละออง' ควรจัดเป็นวาระเร่งด่วน
โพลล์เผยปชช.ชี้การจัดการปัญหา "ฝุ่นละออง" ควรจัดเป็นวาระเร่งด่วน มาตรการที่รัฐควรมีในช่วงนี้ คือ หยุดก่อสร้างในพื้นที่วิกฤต ห้ามรถบรรทุกใชน้ำมันดีเซลวิ่งชั่วคราว ให้โรงงานอุตสาหกรรมหยุดทำงานชั่วคราว
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “การจัดการวิกฤตฝุ่นละอองในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล”ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 5 – 6 กุมภาพันธ์ 2562 จากประชาชนที่พักอาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล กระจายทุกระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,261 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการจัดการวิกฤตฝุ่นละอองในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาคสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงการจัดการปัญหาจากวิกฤตฝุ่นละออง ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 75.42 ระบุว่า จัดการปัญหานี้ ขณะที่ร้อยละ 24.58 ระบุว่า ไม่ได้ทำอะไรต่างจากเดิม โดยในจำนวนของผู้ที่ระบุว่าไม่ได้ทำอะไร ต่างจากเดิม ร้อยละ 69.68 ระบุว่าเพราะไม่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นละออง รองลงมา ร้อยละ 32.26 ระบุว่า ที่พักอาศัย/ที่ทำงานไม่มีปัญหาเรื่องฝุ่นละออง ร้อยละ 7.10 ระบุว่า ร่างกายแข็งแรง มีภูมิต้านทานดี และร้อยละ 0.32 ระบุว่า มีปัญหาด้านการเงิน
สำหรับวิธีการจัดการปัญหาวิกฤตฝุ่นละออง ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 87.28 ระบุว่า ป้องกันตัวเอง รองลงมา ร้อยละ 15.46 ระบุว่า หลีกเลี่ยงการเดินทางออกนอกบ้าน และร้อยละ 0.63 ระบุว่า เดินทางไปต่างจังหวัดที่ไม่มีฝุ่น ซึ่งในจำนวนของผู้ที่ระบุว่าจัดการปัญหาด้วยวิธีป้องกันตัวเอง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 91.93 ระบุว่า สวมหน้ากากอนามัย รองลงมา ร้อยละ 11.57 ระบุว่า ปิดประตู-หน้าต่างกันฝุ่น ร้อยละ 5.42 ระบุว่า งดออกกำลังกายกลางแจ้ง ร้อยละ 4.22 ระบุว่า ใช้พัดลม – เครื่องฟอกอากาศ ร้อยละ 3.61 ระบุว่า ทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศ และร้อยละ 1.93 ระบุว่า ปิดห้องแอร์ให้สนิท
ด้านค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ต้องจ่ายจากวิกฤตฝุ่นละออง ถ้ามีการจัดการปัญหาฝุ่นละออง ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบว่า ประชาชน ร้อยละ 33.23 ระบุว่า ไม่มีค่าใช้จ่าย ร้อยละ 56.26 ระบุว่า ไม่เกิน 500 บาท ร้อยละ 5.78 ระบุว่า 501 - 1,000 บาท ร้อยละ 0.95 ระบุว่า 1,001 - 1,500 บาท ร้อยละ 1.05ระบุว่า 1,501 - 2,000 บาท และร้อยละ 2.73 ระบุว่า 2,001 บาทขึ้นไป
เมื่อถามถึงการขจัดฝุ่นละออง ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ควรจัดเป็นวาระเร่งด่วนมากน้อยเพียงใด พบว่า ประชาชน ร้อยละ 64.15 ระบุว่า เร่งด่วนที่สุด ร้อยละ 31.88 ระบุว่า เร่งด่วน ร้อยละ 3.81 ระบุว่า ไม่เร่งด่วน และร้อยละ 0.16 ระบุว่า ไม่เร่งด่วนเลย
ส่วนมาตรการที่รัฐควรมีในช่วงที่มีปัญหาวิกฤตฝุ่นละออง ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 45.12 ระบุว่า หยุดการก่อสร้างในพื้นที่วิกฤตฝุ่นละออง รองลงมา ร้อยละ 20.30 ระบุว่า ห้ามรถทุกชนิดที่ใช้น้ำมันดีเซลวิ่งชั่วคราว ร้อยละ 11.82 ระบุว่า ให้โรงงานอุตสาหกรรมหยุดทำงานชั่วคราว ร้อยละ 7.61 ระบุว่า ให้ทำฝนเทียม ร้อยละ 7.14 ระบุว่า มีการบังคับใช้กฎหมาย อย่างจริงจังในการตรวจจับรถที่ปล่อยควันดำ และกับผู้ที่เผาป่า เผานา หรือเผาปรับที่เพื่อก่อสร้าง ร้อยละ 6.18 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ให้รัฐแจกหน้ากากอนามัยแก่ประชาชนและให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันฝุ่นละออง ให้มีการฉีดน้ำเพื่อช่วยลดฝุ่นละออง ขณะที่บางส่วนระบุว่า ให้รัฐเข้มงวดในการตรวจสอบการปล่อยควันดำของโรงงานอุตสาหกรรม ร้อยละ 1.67 ระบุว่า ไม่แน่ใจ และร้อยละ 0.16 ไม่ระบุ
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงการมีส่วนช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 70.98 ระบุว่า มีส่วนช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง ขณะที่ร้อยละ 29.02 ระบุว่า ไม่มีส่วนช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง โดยในจำนวนของผู้ที่ระบุว่า มีส่วนช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 31.37 ระบุว่า ฉีดน้ำล้างฝุ่นละอองหน้าบ้านตนเอง รองลงมา ร้อยละ 30.05 ระบุว่า หยุดเผาขยะใบไม้ เศษวัสดุ ร้อยละ 23.32 ระบุว่า นั่งรถประจำทางไปทำงานแทนการขับรถส่วนตัว ร้อยละ 8.53 ระบุว่า หยุดการจุดธูป ประทัด ร้อยละ 3.13 ระบุว่า ดับเครื่องยนต์ทุกครั้งเวลาจอดรถรอสัญญาณไฟ ร้อยละ 1.80 ระบุว่า หยุดต่อเติมขยายบ้าน และระบุอื่น ๆ ได้แก่ ปลูกต้นไม้ ขณะที่บางส่วนระบุว่า อยู่บ้านเพื่อลดการใช้รถ ส่วนผู้ที่ระบุว่า ไม่มีส่วนช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง ได้ให้เหตุผลว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 44.47 ระบุว่า ไม่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นละออง รองลงมา ร้อยละ 33.16 ระบุว่า ที่พักอาศัย/ที่ทำงานไม่มีปัญหาเรื่องฝุ่นละออง ร้อยละ 11.31 ระบุว่า จำเป็นต้องเดินทาง ร้อยละ 5.66 ระบุว่า ร่างกายแข็งแรง มีภูมิต้านทานดี และร้อยละ 5.40 ไม่ระบุเหตุผล
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 52.18 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ และตัวอย่างร้อยละ 47.82 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑล ตัวอย่างร้อยละ 54.56 เป็นเพศชาย และร้อยละ 45.44 เป็นเพศหญิง ตัวอย่างร้อยละ 6.74 มีอายุไม่เกิน 25 ปี ร้อยละ 13.88 มีอายุ 26 –35ปี ร้อยละ 21.57 มีอายุ 36 –45ปี ร้อยละ 33.86 มีอายุ 46 –59ปี ร้อยละ 23.32 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 0.63 ไม่ระบุอายุ ตัวอย่างร้อยละ 94.53 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.49 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 1.27 นับถือศาสนาคริสต์ /ฮินดู/ซิกข์/ยิว/ไม่นับถือศาสนาใด ๆ และร้อยละ 0.71 ไม่ระบุศาสนา
ตัวอย่างร้อยละ 27.28 ระบุว่าสถานภาพโสด ร้อยละ 67.64 สมรสแล้ว ร้อยละ 3.89 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 1.19 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่างร้อยละ 17.68 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 25.54 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 7.77 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 38.07 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 9.51 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 1.43 ไม่ระบุการศึกษา
ตัวอย่างร้อยละ 9.83 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 22.60 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 26.49 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 1.90 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 11.42 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 23.40 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 2.85 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 1.51 ไม่ระบุอาชีพ ตัวอย่างร้อยละ 18.72 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 11.42 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 22.76 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 14.67 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 8.09 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 13.32 มีรายได้เฉลี่ย ต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 11.02 ไม่ระบุรายได้