กัมพูชาจ่อเจอวิกฤตศก.จาก3ปัจจัยลบ

กัมพูชาจ่อเจอวิกฤตศก.จาก3ปัจจัยลบ

พรรคประชาชนกัมพูชา (ซีพีพี) ซึ่งนำโดยนายกฯฮุน เซน ครองที่นั่งทั้งหมดในสภาแห่งชาติรวม 125 ที่นั่ง ทำให้กัมพูชากลายเป็นประเทศที่ปกครองโดยพรรคเดียว

กัมพูชากำลังจวนเจียนจะเข้าสู่วิกฤติทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ต้องเผชิญกับมาตรการเก็บภาษีส่งออกไปสหราชอาณาจักรสูงขึ้นผลจากการออกจากสหภาพยุโรป (อียู) ของสหราชอาณาจักรหรือ “เบร็กซิท” ในช่วงที่อียูกำลังพิจารณาระงับสิทธิปลอดภาษีของกัมพูชาเพื่อลงโทษนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ฐานกดขี่ทางการเมือง

คลื่นลูกแรกของความเสียหายทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะชัดเจนภายในเดือนพ.ค.นี้ หากรัฐบาลพนมเปญเสียสิทธิพิเศษด้านภาษีนำเข้าจากสหราชอาณาจักร

กัมพูชาได้รับประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อยู่ในอัตราค่อนข้างสูง อานิสงส์จากการส่งออกอันแข็งแกร่งที่ได้รับการสนับสนุนจากข้อตกลง “ทุกอย่างยกเว้นอาวุธยุทโธปกรณ์” (อีบีเอ) ของอียู

โครงการอีบีเออนุญาตให้ 49 ประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดในโลก ส่งออกสินค้าไปยังกลุ่มอียูโดยปราศจากภาษีนำเข้า แต่เนื่องจากสหราชอาณาจักรมีกำหนดออกจากอียูช่วงสิ้นเดือนมี.ค.นี้ การส่งออกสินค้าจากกัมพูชาไปยังสหราชอาณาจักรอาจจะเสียสิทธิพิเศษทางการค้านี้

รายงานของสถาบันการพัฒนาเยอรมัน (จีดีไอ) ที่เผยแพร่ในเดือนนี้ ระบุว่า ในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา กัมพูชาอาจได้รับผลกระทบจากเบร็กซิทหนักที่สุด

“ความสูญเสียใหญ่หลวงที่สุดจะเกิดขึ้นกับกัมพูชา ซึ่งพึ่งพาตลาดสหราชอาณาจักรมากที่สุด เนื่องจากมีสัดส่วนส่งออกสินค้าไปประเทศดังกล่าว 7.7%” รายงานของจีดีไอชี้ และเสริมว่ากัมพูชาเผชิญกับการเก็บภาษีนำเข้าและอุปสรรคทางการค้ามากขึ้นเรื่อย ๆ ในกรณีเลวร้ายที่สุดหากสหราชอาณาจักรออกจากอียูโดยปราศจากข้อตกลง สถานการณ์นี้อาจฉุดการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาลง 1.08% และการบริโภคในครัวเรือนอาจร่วงลงตามไปด้วยอีก 1.4%

ปัจจุบัน กัมพูชากำลังเผชิญกับปัญหาหลายด้านกับอียูซึ่งเริ่มทบทวนการระงับข้อตกลงอีบีเอกับประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ ความเคลื่อนไหวของอียูมีขึ้นหลังจากพรรคกู้ชาติกัมพูชา (ซีเอ็นอาร์พี) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน ถูกศาลฎีกาตัดสินยุบพรรค ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นความพยายามที่มีแรงจูงใจทางการเมือง เพื่อให้พรรครัฐบาลชนะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปีที่แล้วอย่างเบ็ดเสร็จ

พรรคประชาชนกัมพูชา (ซีพีพี) ซึ่งนำโดยนายกฯฮุน เซน ครองที่นั่งทั้งหมดในสภาแห่งชาติรวม 125 ที่นั่ง ทำให้กัมพูชากลายเป็นประเทศที่ปกครองโดยพรรคเดียว

“การเพิกถอนสิทธิในข้อตกลงอีบีเอจะมีผลเสียหายขั้นรุนแรงต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอของกัมพูชา เพราะจะทำให้แรงงานหลายแสนคนตกงาน” ศาสตราจารย์กิตติคุณ คาร์ล เทเยอร์ จากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ในกรุงแคนเบอร์ราของออสเตรเลียกล่าว และว่า “สถานการณ์นี้อาจจะส่งผลให้เกิดความวุ่นวายในสังคมครั้งใหญ่ และเป็นภัยคุกคามต่อเสถียรภาพของรัฐบาลสมเด็จฮุน เซน”

แม้สุ่มเสี่ยงที่จะเผชิญกับการคว่ำบาตรและวิกฤติทางเศรษฐกิจ แต่นายกฯ ฮุน เซนก็ยังไม่หยุดสร้างวาทกรรมชวนทะเลาะและการปราบปรามกลุ่มนักวิจารณ์

เมื่อปลายเดือนที่แล้ว กอง มาส สมาชิกพรรคซีเอ็นอาร์พีที่ถูกยุบไปแล้ว ถูกจับกุมและตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นผ่านเฟซบุ๊คให้ออกมาตรการภาษีนำเข้าใหม่เกี่ยวกับการส่งออกข้าวของกัมพูชา การจับกุมดังกล่าวมีขึ้นไม่กี่วันหลังสมเด็จฮุน เซนเตือนว่าเขาจะลงโทษฝ่ายค้าน หากข้อตกลงอีบีเอถูกยกเลิก

การแตกหักกับชาติตะวันตกของนายกฯ ฮุน เซน มีขึ้นในช่วงรัฐบาลพนมเปญกำลังกระชับสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาลปักกิ่ง ซึ่งส่งผลกัมพูชาได้รับเงินช่วยเหลือก้อนโตและการช่วยเหลือทางการทหาร แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า รัฐบาลพนมเปญต้องระมัดระวังกับการผละหนีตะวันตกไปซบอกรัฐบาลจีน

“อันตรายในแง่การเมืองและเศรษฐกิจสำหรับรัฐบาลและประชาชนชาวกัมพูชาคือ เราจะสูญเสียโอกาสหลายด้าน” เอีย โสพล รองศาสตราจารย์เชื้อสายกัมพูชา-อเมริกัน ด้านกิจการและการทูตโลกของวิทยาลัยออกซิเดนทอล กล่าว และว่า “การนำไข่ของกัมพูชาไปใส่ในตะกร้าของจีนอาจทำให้ไข่แตกทั้งตะกร้า เมื่อจีนเผชิญกับความยากลำบากทางเศรษฐกิจและ/หรือทางการเมือง”

ขณะที่รัฐบาลของสมเด็จฮุน เซน กลับไม่สนใจกระแสกังวลเกี่ยวกับวิกฤติทางเศรษฐกิจแต่อย่างใด

“เราคาดว่าจะเผชิญกับความยากลำบากเพียงระยะเวลาหนึ่ง แต่จะไม่เกิดขึ้นนาน” พาย สิพัน โฆษกรัฐบาลกัมพูชาเผยและว่า กัมพูชาจะไม่เสียตลาดอียู แต่จะต้องจ่ายภาษี นั่นเป็นเรื่องที่กัมพูชากำลังเจรจาอยู่ในขณะนี้ และพยายามจะพัฒนาความสัมพันธ์นี้” และบอกว่า รัฐบาลกัมพูชาไม่ได้พึ่งพาจีนอย่างเดียวแต่กำลังมองหาประเทศอื่น ๆไม่ว่าจะอยู่ภูมิภาคใดก็ตาม ที่ต้องการจะทำธุรกิจเพื่อให้ประเทศชาติอยู่รอด