'พาณิชย์' เดินหน้ายุทธศาสตร์ฮับอัญมณีของโลก
"พาณิชย์" เดินหน้ายุทธศาสตร์ฮับอัญมณีของโลก เร่งสร้างทัพผู้ประกอบการหน้าใหม่สู่เวทีสากล พร้อมโชว์ศักยภาพในงาน Bangkok Gems คาดเงินสะพัดกว่า 2,400 ล้าน
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเป็นสินค้าที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจไทย โดยเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 3 ของไทย รองจากสินค้ายานยนต์ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ช่วยสร้างงานให้คนในอุตสาหกรรมกว่า 1.2 ล้านคน ทั้งนี้ การส่งออกในปี 2561 อัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูป มีมูลค่าส่งออก 7,606.45 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 6.96% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ราคาวัตถุดิบปรับตัวอยู่ในแนวลบ และความโดดเด่นของผลงานของผู้ประกอบการ สินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่
เครื่องประดับทอง เครื่องประดับเงิน เครื่องประดับ อัญมณีเทียม และเพชร ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง (-1.17%) สหรัฐอเมริกา (+15.72%) เยอรมณี (+16.24%) อินเดีย (+2.23%) เบลเยี่ยม (+8.19%) ตลาดส่งออกรองที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ กาตาร์ (103.49%) สิงคโปร์ (+38.92%) เกาหลีใต้ (+36.98%) ลิกเทนสไตน์ (+25.04%) อิสราเอล (+20.61%) เป็นต้นในปี 2562 กระทรวงพาณิชย์มีแผนเร่งผลักดันมูลค่าส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) อย่างเต็มที่ โดยตั้งเป้าขยายตัว ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 1 หรือ ประมาณ 7,682 ล้านเหรียญสหรัฐ ไม่หวั่น ปัจจัยเสี่ยง อาทิ สถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ - จีน BREXIT ความผันผวนของเศรษฐกิจและค่าเงิน กระทรวงพาณิชย์เชื่อมั่นในผลงานเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของช่างฝีมือไทย คุณภาพการสินค้า
และแผนยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมอัญมณีของไทยในปีนี้ กระทรวงพาณิชย์ตอกย้ำกลุ่มเป้าหมาย super rich ในอาเซียน เอเชียใต้ และจีน และเจาะขยายตลาดสู่กลุ่มความสนใจเฉพาะทาง เช่น เครื่องประดับสำหรับคนรุ่นใหม่วัยทำงาน ในจีน ญี่ปุ่น และ สหรัฐฯ เครื่องประดับสำหรับสัตว์เลี้ยงในประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและสังคมคนโสด กลุ่มความเชื่อและศาสนาในอาเซียน และจีน เป็นต้น โดยวางแผนขยายช่องทางการตลาดทั้งออฟไลน์และออนไลน์ นอกจากนี้ ให้ความสำคัญต่อการสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ หรือ New Faces ผลักดันให้เกิดสินค้าที่หลายหลาย รูปแบบใหม่โดยฝีมือ SME จากทั่วประเทศ ซึ่งแต่ละจังหวัดมีเอกลักษณ์งานฝีมือที่โดดเด่น หากแต่ยังขาดช่องทางการเข้าสู่เวทีสากล
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการตอกย้ำนโยบายส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการค้าและการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับของโลก (Jewelry Hub) ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับให้ครอบคลุมทั้งกระบวนการตลอดห่วงโซ่อุปทาน ประกอบด้วยมาตรการ ๓ ด้านหลัก ได้แก่ (1) การปลดล็อกภาษีและกฎระเบียบ อาทิ การยกเว้นอากรขาเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ พิกัด 71 ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว ตั้งแต่วันที่ ๒8 มกราคม ๒๕๖๐ ทำให้เมื่อผู้ประกอบการ (Exhibitor) นำเข้าสินค้าในช่วงงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยจะยังไม่มีภาระภาษีมูลค่าเพิ่มจนกว่าจะจำหน่ายสินค้าได้ภายในงาน (2) การพัฒนาผู้ประกอบการ สินค้า/วัตถุดิบ และแรงงาน และ (3) การพัฒนาช่องทางการจำหน่ายและความสามารถด้านการตลาด
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันและส่งเสริมด้านการตลาดในหลายด้าน อาทิ การจัดทำกลยุทธ์การสื่อสารเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์อุตสาหกรรมให้เป็นที่ยอมรับในกลุ่มผู้ซื้อ ผู้นำเข้า และสร้างการรับรู้โดยตรงแก่ผู้บริโภค เช่น โครงการ Buy with confidence โดย GIT คู่ขนานไปกับการส่งเสริมภาพลักษณ์อุตสาหกรรมในต่างประเทศ ผ่านแคมเปญ “Thailand Magic Hands: the spirit of Jewelry Making” โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งการยกระดับงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ Bangkok Gems and Jewelry Fair ซึ่งถือเป็นเวทีการค้าที่สำคัญสำหรับนักธุรกิจ ผู้ซื้อ/ผู้ขาย ในการต่อยอดธุรกิจในหลากหลายมิติ ทั้งการสรรหาวัตถุดิบ การค้าขาย และการสร้างเครือข่ายพันธมิตร รวมทั้งการขยายช่องทางการขายสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น AliExpress และ thaitrade.com เป็นต้น
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับงาน Bangkok Gems & Jewelry Fair ในปีนี้กระทรวงพาณิชย์ได้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 63 ระหว่างวันที่ 20 - 24 กุมภาพันธ์ 2562 ณ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ 1-3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ภายใต้แนวคิด "Thailand's Magic Hands" ตอกย้ำผลงานของช่างฝีมือไทยที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางทั่วโลก โดยได้รับพระกรุณาธิคุณจาก พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด เพื่อให้กำลังใจผู้ประกอบการและเป็นแรงบันดาลใจให้นักออกแบบรุ่นใหม่พัฒนาฝีมือสู่ตลาดโลก โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 800 บริษัท 1,800 คูหา คาดมีผู้เข้าชมงาน 20,000 ราย จาก 130 ประเทศ เกิดมูลค่าสั่งซื้อทันทีไม่ต่ำกว่า 2,400 ล้านบาท
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรมและโอกาสทางการค้าเจาะตลาดหลากหลายกลุ่ม อาทิ โซน The New Faces แสดงสินค้าเครื่องประดับจากผู้ผลิตและนักออกแบบระดับ SMEs กว่า 123 รายจากทั่วประเทศเพื่อเชื่อมโยงผู้ประกอบการจากภูมิภาคสู่สากล โดยมีผู้ประกอบการจาก 21 จังหวัด อาทิ ลำปาง แพร่ เชียงใหม่ สุโขทัย นครสวรรค์ ตาก สุรินทร์ พังงา นครศรีธรรมราช สตูล เป็นต้น โซนThe Niche Showcase นำเสนอกลุ่มสินค้าใหม่ที่มีโอกาสเติบโตทางการค้าในต่างประเทศสูง 5 กลุ่มสินค้า ได้แก่ High Jewelry, Heritage&Craftsmanship, Spiritual Power, Luxe Men และ Beyond Jewelry โซน The Jewellers และ IDZ : Innovation and Design Zone แสดงผลงานของดีไซน์เนอร์รุ่นใหม่และผลงานที่มีนวัตกรรม รวมทั้งยังมีการสาธิตการทำอัญมณีและเครื่องประดับของช่างฝีมือไทยโดยสมาคมช่างทองไทย และการสัมมนา Workshop อีกมากมาย
งานแสดงสินค้า Bangkok Gems & Jewelry Fair ครั้งที่ 63 จะจัดขึ้นระหว่าง วันที่ 20 - 24 กุมภาพันธ์ 2562 ณ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ 1-3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี