รพ.จิตเวชโคราชปรับโฉมบริการ ตั้งเเต่ก้าวเเรกถึงกลับบ้านไปถึงครอบครัว
กรมสุขภาพจิต เผยจิตเวชโคราชเร่งปรับโฉมบริการผู้ป่วยจิตเวช ตั้งเเต่ก้าวเเรกที่มารับบริการ ดูเเลจนถึงกลับบ้านไปถึงครอบครัวเเละชุมชน
เมื่อวันที่ 18 ก.พ.62 นายเเพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิตเเละคณะตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ เพื่อติดตามผลการดำเนินงานพัฒนาระบบบริการดูเเลรักษาประชาชนที่เจ็บป่วยทางจิตเวชเเละให้สัมภาษณ์ว่าภาพรวมในขณะนี้โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ ได้เร่งปรับโฉมการบริการสนองนโยบายหลักที่สำคัญ คือ มีสภาพเเวดล้อมที่ดีเอื้อต่อการรักษา ร่มรื่น ผ่อนคลาย นำเทคโนโลยีทันสมัยมาให้บริการ หรือนำ Smart Hospital มาให้บริการเริ่มตั้งเเต่ก่อนมารับบริการ ( Pre Hospital ) ทางโรงพยาบาลมีระบบ sms เเจ้งเตือนการมารับบริการให้ตรงนัด โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย หรือมีประวัติเคยฆ่าตัวตาย พบว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้มารับบริการตรงนัดมากขึ้นและมารับบริการอย่างต่อเนื่องคิดเป็นร้อยละ 95
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ผู้รับบริการสามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียวมารับบริการได้โดยบริเวณโรงพยาบาลมี Free Wifi เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆระหว่างรอรับบริการตรวจจากเเพทย์ เเละใช้บริการสเเกน QR code เพื่อรับรู้ถึงระยะเวลาที่รอคอย ทราบจำนวนคิวที่รอ ลดความกังวลและลดความเเออัดที่แผนกผู้ป่วยนอกลงได้ โดยตั้งเเต่เดือนตุลาคม ถึง ธันวาคม 2561 มีผู้ป่วยนอกมารับบริการ 20,337 คน เฉลี่ยวันละ 350 คน ระยะเวลาการให้บริการผู้ป่วยใหม่เฉลี่ย 70 นาทีต่อราย ส่วนผู้ป่วยฉุกเฉิน 28 นาที นอกจากนี้ยังนำระบบ Automatic Pharmacy หรือการจัดยาด้วยเครื่องจัดยาอัตโนมัติ ลดความผิดพลาดในการจัดยาได้เป็นอย่างมาก มีระบบประเมินความพึงพอใจ ออนไลน์เพื่อนำไปพัฒนาระบบบริการ สามารถเรียกดูรายงานที่เป็นเเบบปัจจุบัน เเยกจุดบริการ เเละช่วงเวลาได้
ทางด้าน นายเเพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์กล่าวว่าหลังจากที่ผู้ป่วยกลับบ้านทางโรงพยาบาลมีระบบการเชื่อมโยงข้อมูลผู้ป่วยตั้งเเต่โรงพยาบาลจนถึงสถานบริการเครือข่ายเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยร้อยละ 94 อยู่ในชุมชน ดังนั้นโรงพยาบาลจึงมุ่งพัฒนาความเป็นเลิศด้านบริการสุขภาพจิตชุมชนตั้งเเต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน เเละได้ดำเนินโครงการบริการผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังกลุ่มเสี่ยงในชุมชนร่วมกับ สปสช.โดยผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังกลุ่มเสี่ยง ได้รับบริการสุขภาพจิตในชุมชนประกอบด้วย 4 องค์ประกอบคือ การติดตามเยี่ยมบ้าน การเฝ้าระวังอาการกำเริบ บริการจิตเวชฉุกเฉิน เเละบริการฟื้นฟูสุขภาวะจากหน่วยบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน ผลการดำเนินงานพบว่าสามารถติดตามผู้ป่วยได้ต่อเนื่องประมาณร้อยละ 3 จากจำนวนผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังทั้งหมดของประเทศ เเละให้บริการผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังกลุ่มเสี่ยงได้ประมาณร้อยละ 50 ของกลุ่มเป้าหมายโครงการ เเละจากงานวิจัยเพื่อติดตามคุณภาพของระบบบริการสุขภาพจิตในชุมชนพบว่าผู้ป่วยมีอาการทางจิตทุเลา คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเเละผู้ดูแลดีขึ้น ผลลัพธ์ที่ได้ประการสำคัญคือผู้ป่วยจิตเวชอยู่ในชุมชนได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งครอบครัว ชุมชน มีความเข้าใจปัญหาการเจ็บป่วยทางจิตใจ ผู้ป่วยไม่ใช่คนน่ารังเกียจหรือน่ากลัวหรือไร้ความสามารถอีกต่อไป