อินเดียช็อปของถูก“หัวเว่ย”เมินกระแสต้านจากสหรัฐ

อินเดียช็อปของถูก“หัวเว่ย”เมินกระแสต้านจากสหรัฐ

ในอินเดีย หัวเว่ยครองส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 15-20% ซึ่งยังถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับธุรกิจโดยรวมของหัวเว่ยที่กระจายอยู่ทั่วโลก

หัวเว่ย ที่ถูกสหรัฐโจมตีเรื่องการใช้เทคโนโลยีที่มีเป็นเครื่องมือล้วงความลับให้รัฐบาลจีน กำลังดำเนินกลยุทธใหม่เพื่อพลิกวิกฤตเป็นโอกาส นั่นคือ เสนอราคาสินค้าและบริการที่ถูกกว่าคู่แข่งเพื่อแลกกับกระแสความหวาดกลัวจากหลายๆประเทศที่ต้องการพัฒนาเทคโนโลยี5จีให้ทัดเทียมนานาประเทศ ซึ่งกลยุทธที่ว่านี้ของหัวเว่ย ได้รับกระแสตอบรับอย่างดีจากอินเดีย

อินเดีย ประเทศประชาธิปไตยใหญ่สุดของโลก ไม่ปฏิเสธหัวเว่ย เทคโนโลยี เหมือนกับสหรัฐและบรรดาชาติพันธมิตรอื่นๆ ในทางตรงกันข้าม ผู้กำหนดนโยบายของประเทศและบริษัทสื่อสารโทรคมนาคมในอินเดียแทบไม่สนใจคำเตือนของสหรัฐเรื่องไม่ควรใช้อุปกรณ์ของหัวเว่ยในการอัพเกรดอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเลยแม้แต่น้อย

เจ้าหน้าที่รัฐบาลอินเดียและผู้บริหารระดับสูงในแวดวงไอทีอินเดียหลายสิบคนพูดตรงกันว่า ความเสี่ยงที่ว่าหัวเว่ยจะใช้อุปกรณ์ด้านเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือล้วงความลับละเอียดอ่อนไปให้รัฐบาลปักกิ่งถูกบดบังจนมิดจากราคาขายสินค้าและบริการของหัวเว่ยที่ถูกกว่าของบรรดาคู่แข่งในธุรกิจเดียวกัน และเมื่อเทียบกับสิ่งที่ลูกค้าได้รับคือประโยชน์อันมหาศาลจากเทคโนโลยีก้าวหน้าของหัวเว่ยแล้ว เป็นเรื่องยากที่จะปฏิเสธ

“ชาวอินเดีย รวมทั้งธุรกิจไอทีในอินเดียมองว่าท่าทีของสหรัฐต่อกรณีของหัวเว่ยมีวาระซ่อนเร้นมาจากนโยบายต่างประเทศมากกว่าเรื่องอื่น ”ราจัน แมทธิวส์ ผู้อำนวยการสมาคมผู้ให้บริการด้านมือถือในอินเดียให้ความเห็น

กระแสความคลางแคลงสงสัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่แพร่กระจายไปทั่วในเวลาอันรวดเร็ว กำลังปรับเปลี่ยนโฉมหน้าอินเดียให้กลายเป็นสนามรบอย่างไม่คาดฝันระหว่างรัฐบาลสหรัฐที่พยายามสกัดกั้นอิทธิพลด้านเทคโนโลยีของบรรดาบริษัทจีนมานานหลายปี โดยเฉพาะในส่วนของการพัฒนาเทคโนโลยี5จีบนมือถือ ขณะที่การพัฒนา5จีของอินเดียยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น แต่ความใหญ่โตของตลาดอินเดีย จะเป็นตัวตัดสินว่าการเดินเกมของสหรัฐในเรื่องนี้จะสำเร็จ หรือล้มเหลวได้

“อินเดีย ญี่ปุ่น เป็นตลาดขนาดใหญ่ถ้าพวกเขาเปิดรับหัวเว่ยย่อมส่งผลกระทบอย่างมากต่อโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารโทรคมนาคมของโลก”แอนดี้ ไคเซอร์ อดีตสมาชิกในคณะกรรมาธิการด้านข่าวกรองของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ให้ความเห็น

 ล่าสุด ดูเหมือนความพยายามของสหรัฐและชาติพันธมิตรไม่คืบหน้าเท่าที่ควรในการเดินสายล็อบบี้ให้ประเทศต่างๆปฏิเสธเทคโนโลยีของหัวเว่ย โดยยกเรื่องการเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของประเทศมาเป็นข้ออ้าง โดยผลตรวจสอบของรัฐบาลเยอรมนี เมื่อไม่นานมานี้ บ่งชี้ว่า หัวเว่ยไม่ได้มีความน่ากลัวอย่างที่สหรัฐสร้างภาพ และรัฐบาลเยอรมนีเตรียมเปิดประตูให้หัวเว่ยเข้าไปมีบทบาทในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทั่วประเทศ

ผลตรวจสอบที่ทำร่วมกันระหว่างรัฐบาลเยอรมนีและสหรัฐ บ่งชี้ชัดว่า ไม่มีหลักฐานที่จะเอาผิดตามข้อกล่าวหาที่ว่ายักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของจีนรายนี้ใช้อุปกรณ์ของบริษัทสอดแนมระบบการสื่อสารของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะข้อมูลที่มีความละเอียดอ่อนต่อประเด็นความมั่นคงของประเทศ

อุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคมของอินเดียพึ่งพาอุปกรณ์นำเข้าเป็นส่วนใหญ่ ประมาณ90% ถือเป็นตลาดที่น่าสนใจในสายตาของหัวเว่ย เทคโนโลยี และคาดว่าการเชื่อมต่อระหว่างสมาร์ทโฟนและสิ่งของต่างๆรวมทั้งรถยนต์จะต้องสั่งนำเข้าอุปกรณ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องคิดเป็นมูลค่าหลายแสนล้านดอลลาร์ด้วยกัน

บริษัทเดลล์โอโร กรุ๊ป บริษัทวิจัยด้านการตลาดระบุว่า เมื่อปีที่แล้ว หัวเว่ยครองส่วนแบ่งตลาดประมาณ 30% ของตลาดอุปกรณ์ด้านโทรคมนาคมโลก ทิ้งห่างจากบริษัทโนเกีย คอร์ป สัญชาติฟินแลนด์และอีริกสัน เอบี สัญชาติสวีเดนไปไกล