จิตแพทย์ชี้คนไทยไม่หยุด 'เฮทสปีช' จะก้าวไม่พ้นวิกฤติการเมือง

จิตแพทย์ชี้คนไทยไม่หยุด 'เฮทสปีช' จะก้าวไม่พ้นวิกฤติการเมือง

จิตแพทย์ห่วงช่วงใกล้เลือกตั้ง แนวโน้มคนไทยก่อ "วาทะสร้างความเกลียดชัง" มากขึ้น โดยเฉพาะผ่านสื่อสังคมออนไลน์ หวั่นนำสู่ความรุนแรงทางกายภาพ เตือนสังคมหยุดกระทำ แนะใช้วิธี "2ไม่ 1 เตือน" ช่วยสร้าง "วุฒิภาวะทางการเมือง" พาสังคมไทยก้าวพ้นวังวนวิกฤติ

เมื่อวันที่ 25 ก.พ.62 นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวว่า บรรยากาศการเลือกตั้งยิ่งเข้าใกล้วันเลือกตั้งมากขึ้น มีเรื่องความขัดแย้งในความคิดเห็นทางการเมืองเป็นเรื่องปกติ แต่ในแง่สุขภาพจิตมีสิ่งต้องระวัง คือ เรื่องของการใช้เฮทสปีช (Hate Speech) คือ วาทกรรมที่สร้างความเกลียดชังอย่างรุนแรงในเรื่องที่เกี่ยวกับอุดมการณ์ การเมือง เพศ ศาสนา ส่วนใหญ่เป็นบริบททางสังคม ซึ่งหากมีการใช้เฮทสปีชในที่สุดจะนำไปสู่ความรุนแรงทางกายภาพในสังคม เนื่องจากมีการสร้างบรรยากาศการด่าทอ อุ่นเครื่องและก่อความเกลียดชังมาแล้วในสังคม โดยขณะนี้แนวโน้มการใช้เฮทสปีชทางการเมืองมีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ที่คนไทยใช้มากที่สุดอย่างเฟซบุ๊ค ซึ่งจัดอยู่ในระดับที่เพิ่งเริ่มต้น มีการใช้คำพูดหรือถ้อยคำที่ด่าทอ เหยียดหยาม ดูถูกโต้กันไปมาเรื่อยๆ จึงจำเป็นต้องออกมากระตุกเตือนให้ทุกคนในสังคมต้องระวังอย่างมากที่จะไม่ใช้เฮทสปีชที่จะเป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่ความรุนแรงในสังคม และกระทบสุขภาพจิตของสังคมและส่วนตัวของบุคคลอย่างมาก

782749

นพ.ยงยุทธ กล่าวอีกว่า การหยุดเฮทสปีช ทำได้ด้วนการที่ทุกคนยึดหลัก 2 ไม่ 1 เตือน คือ 1.ไม่สื่อสารความรุนแรง หรือไม่เป็นผู้สร้างเฮทสปีช 2.ไม่ส่งต่อความรุนแรง เพราะยิ่งส่งต่อ เฮทสปีชออกไปมากยิ่งจะก่อความรุนแรงมาก และ3.เตือน เมื่อพบเห็นการใช้เฮทสปีชควรจะเตือนด้วนถ้อยคำที่สุภาพและนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริง ซึ่งจากการศึกษาทางสังคมพบว่าการตอบกลับด้วยถ้อยคำสุภาพจะช่วยลดความรุนแรงลงได้ และการไม่แชร์ก็จะเป็นการหยุดการส่งต่อความรุนแรงได้มากเช่นกัน เพราะเป้าหมายของคนที่ผลิตวาทกรรมหรือ ติดแฮชแท็กที่เป็นเฮทสปีชต่างๆ นั้นออกมาก็เพื่อต้องการให้คนสนใจ ยอมรับ หากสังคมช่วยกันที่จะปฏิเสธ ไม่สนใจ ไม่ยอมรับเฮชสปีชนั้นก็จะตกไปเอง ทั้งนี้ ในการสื่อสารทางลบหรือคนที่สร้างความรุนแรงจะมีการไต่ระดับการสื่อสารขึ้นเรื่อยๆเริ่มจากกระทบกระเทียบเปรียบเปรย ประณาม ด่าว่า และดูถูก เหยียดหยาม หากไม่หยุดยั้งก็นำไปสู่ความรุนแรงทางกายภาพในสังคม ซึ่งคนที่สร้างเฮทสปีชมักไม่รู้ตัว เพราะคิดว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้นเป็นสิ่งที่ตัวเองเชื่อมั่น ศรัทธา จึงมักขาดสติโดยเฉพาะการสื่อสารในสื่อสังคมออนไลน์ที่ไม่เห็นหน้ากัน ไม่มีใครช่วยยับยั้งก่อนกระทำ

"ถ้าเราจะทำให้สังคมไทยเดินหน้าไปได้ด้วยดี ไม่ติดอยู่กับวังวนของความขัดแย้ง และความรุนแรงทางการเมือง จนทำให้เกิดการหยุดชะงักของประชาธิปไตย จะต้องมองเรื่องความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างว่าเป็นการให้ทางออกหลากหลายสร้างสรรค์ ไม่ใช่เรื่องของความถูก ผิด ดี หรือเลวแล้วนำมาใช้เป็นเฮทสปีชด่าทอกัน หากสังคมช่วยกันหยุดเฮทสปีช และสร้างวุฒิภาวะทางการเมืองที่ยอมรับความแตกต่างได้โดนไม่ใช่เฮทสปีช ซึ่งจะเป็นของการพัฒนาเมื่อเกิดขึ้นแล้วสังคมไทยก็จะเปลี่ยนระดับความคิดเห็นทางการเมืองเป็นเรื่องความเห็นต่าง แต่ไม่ใช่ความรุนแรงอย่างที่อังกฤษ หรืออเมริกาก็ผ่านช่วงเวลาเช่นนี้มาแล้ว จนปัจจุบันคนในประเทศนั้นแม้มีความเห็นต่างทางการเมืองแต่ก็ไม่เป็นความรุนแรง ซึ่งการมีวุฒิภาวะทางการเมืองเป็นรากฐานสำคัญของประเทศพัฒนาแล้ว เพราะไม่มีประเทศไหนที่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว โดยยังย่ำอยู่กับความรุนแรง" นพ.ยงยุทธกล่าว

นพ.ยงยุทธ กล่าวด้วยว่า อีกประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ การเสพติดข่าส คือการติดตามข้อมูลข่าวสารที่มากจนเกินไปจนกลายเป็นการลุ้น เหมือนการติดตามดูละคร จนเริ่มส่งผลเสียทั้งตนเองและหน้าที่การทำงาน ซึ่งการเสพข่าวสารการเมือง มักเป็นประเด็นที่มีสีสัน ทำให้มีการติดตามมากขึ้น ก็มีผลทำให้เกิดความเครียดมากขึ้น โดยความเครียดที่เกิดจากการเมืองกับความเครียดที่เกิดจากสาเหตุอื่นมีทั้งส่วนที่เหมือน และส่วนที่แตกต่างกัน โดยส่วนที่เหมือนคือมีภาวะเครียด ลุ้น เสียการควบคุมการทำหน้าที่หลักของตัวเอง แต่ส่วนที่แตกต่างกันคือบรรยากาศการเมืองจะยาวนาน และมีคู่ปรปักษ์ทำให้มีโอกาสขัดแย้งสูง เครียดสูง ดังนั้นหลักการคือใช้สมองส่วนคิดให้มากกว่าสมองส่วนอยาก จำกัดเวลาการรับข่าวสารไม่ควรเกิน 1 ชั่วโมง เลิกติดตามข่าวแบบลุ้นควรตามแบยสถานการณ์ปกติ และรับเป็นช่วงเวลา เช่น เช้า เย็น แต่ไม่ควรลากยาว ยิ่งตอนนี้สามารถดูย้อนหลังได้อีก ก็ยิ่งทำให้เกิดความเครียด