สนช.เสียงเอกฉันท์! เห็นชอบร่างพรบ.ไซเบอร์

สนช.เสียงเอกฉันท์! เห็นชอบร่างพรบ.ไซเบอร์

"สนช." เสียงเอกฉันท์ 133 เสียง เห็นชอบร่างกม.ไซเบอร์ ไร้สมาชิกฯติดใจอภิปรายแก้ไข ด้าน "กมธ.ฯ" เสนอความเห็นแนบท้าย ให้หน่วยงาน จัดหลักสูตรอบรมบุคลากร

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ใช้เวลา 2 ชั่วโมง 20 นาที พิจารณา ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ.....ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่มีเหตุผล เพื่อตั้งหน่วยงานกำกับและดูแลความปลอดภัยทางด้านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต โครงข่ายโทรคมนาคม หรือการให้บริการโดยปกติของดาวเทียม ให้พ้นความเสี่ยงจากภัยคุกคาม ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ซึ่งมีนางเสาวณี สุวรรณชีพ เป็นประธาน กมธ.ฯ เสนอ ด้วยเสียง เอกฉันท์ 133 เสียง แต่มีผู้งดออกเสียง 16 เสียง


ทั้งนี้ ตลอดการพิจารณาวาระสอง ลงรายละเอียดเป็นรายมาตรานั้น มีสมาชิกสนช. อภิปรายเพื่อซักถามตามความสงสัยเนื้อหาที่กมธ.ฯ แก้ไขเท่านั้น โดยไม่มีการอภิปรายเพื่อท้วงติงให้ปรับปรุงบทบัญญัติ หรือมีสนช.ที่สงวนความเห็นเพื่อปรับปรุงเนื้อหา

สำหรับร่างพ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ที่กมธ.ฯ เสนอในวาระสองและวาระสามนั่นมีจำนวนทั้งสิ้น 81 มาตรา และมีสาระสำคัญ อาทิ กำหนดให้มีคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีหน้าที่กำหนดนโยบายให้หน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ

รวมถึงนโยบายการบริหารจัดการที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และยังให้คณะกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (กกม.) ที่มีรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานกรรมการ สามารถออกคำสั่งให้สำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ดำเนินการได้หลายประการตาม มาตรา 60 กำหนด เช่น รวบรวมข้อมูล หรือพยานเอกสาร พยานบุคคล พยานวัตถุที่เกี่ยวข้องเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์และประเมินผลกระทบจากภัยคุมคามทางไซเบอร์ เป็นต้น ในกรณีที่ปรากฎแก่กกม.ว่าเกิดหรือคาดว่าจะเกิดภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับร้ายแรงด้วย

ให้อำนาจเลขาธิการคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ สั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ หรือสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องหรือคาดว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ของบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยได้รับความยินยอมจากผู้ครอบครองสถานที่นั้นด้วย สำหรับในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนและเป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับวิกฤติ มาตรา 67 ให้คณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ มอบหมายให้เลขาธิการมีอำนาจดำเนินการได้ทันทีเท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันและเยียวยาความเสียหายก่อนล้วงหน้าได้ โดยไม่ต้องยื่นคำร้องต่อศาล แต่หลังจากการดำเนินการดังกล่าวให้แจ้งรายละเอียดการดำเนินการดังกล่าวต่อศาลที่มีเขตอำนาจทราบโดยเร็ว และในกรณีร้ายแรงหรือวิกฤติ เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและลดความเสี่ยง ให้เลขาธิการโดยความเห็นชอบของให้คณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ หรือ กกม.มีอำนาจขอข้อมูลที่เป็นปัจจุบันและต่อเนื่องจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ โดยผู้นั้นต้องให้ความร่วมมือและให้ความสะดวกแก่คณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ หรือ กกม.โดยเร็ว

ในตอนท้ายของการพิจารณา สนช. ยังให้ความเห็นชอบข้อเสนอของกมธ.ฯ ที่เสนอไปยังคณะรัฐมนตรีใน 2 ประเด็นสำคัญ คือ 1.ให้หน่วยงานที่มีภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์จัดหลักสูตรพัฒนาบุคลากร เพื่อรองรับการปฏิบัติหน้าที่ และเพื่อให้การทำงานด้านดังกล่าว ซึ่งถือเป็นของใหม่สอดคล้องกับเจตนารมย์ของกฏหมาย และ 2.การทำงานของสำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ซึ่งต้องเชื่อมโยงกับการทำงานระหว่างประเทศควรทำเป็นข้อตกลงระหว่างหน่วยงานแทนความตกลงที่มีผลผูกผันระหว่างรัฐ รวมถึงการทำข้อตกลงต้องอยู่ในภายใต้อำนาจและหน้าที่ของสำนักงานฯเท่านั้น