เตือน! ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารปลอม ลักลอบใส่ยาอันตราย อย่าซื้อมาบริโภค
อย. เผยยังพบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่แจ้งยกเลิกเลขสารบบไปแล้ว ขายในท้องตลาดเตือนอย่าซื้อมาบริโภค จัดเป็นอาหารปลอม เสี่ยงอันตรายเพราะไม่รู้ใครเป็นผู้ผลิต แนะตรวจสถานะเลข อย. ก่อนบริโภค
นพ. ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโปร-สลิน วิตามินแขน-ขา หน้าเรียวสูตร 1 เลขสารบบอาหาร 11-1-11054-1-0016 และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแคโรไลท์ วิตามินแขน-ขา หน้าเรียว DETOXY สูตร 4 เลขสารบบอาหาร 11-1-11054-1-0026 ผลปรากฏว่าผลิตภัณฑ์โปร-สลิน ตรวจพบสารไซบูทรามีน และผลิตภัณฑ์แคโรไลท์ ตรวจพบสารออลิสแตท โดยทั้ง 2 ผลิตภัณฑ์ บริษัท พี.พี.เนเจอร์ แคร์ จำกัด แจ้งว่าได้ยกเลิกทะเบียนผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโปร-สลิน วิตามินแขน-ขา หน้าเรียวสูตร 1 เลขสารบบอาหาร 11-1-11054-1-0016 ตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561 และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแคโรไลท์ วิตามินแขน-ขา หน้าเรียว DETOXY สูตร 4 เลขสารบบอาหาร 11-1-11054-1-0026 ได้ยกเลิกไปแล้วตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2561 และไม่เคยมีประวัติการผลิตผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแต่อย่างใด นอกจากนี้บริษัทยังได้ยกเลิกเลขสารบบอาหาร 11-1-11054-1-0435 ของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแกลโล ด้วยเช่นกัน ตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2561 ดังนั้นผลิตภัณฑ์ทั้ง 3 รายการ ที่มีวันที่ผลิตหลังจากวันที่ผลิตภัณฑ์ยกเลิกนั้น จึงเป็นผลิตภัณฑ์อาหารปลอม
ทั้งนี้ ไซบูทรามีน เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิต โรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคตับ โรคไต โรคต้อหิน หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร เป็นต้น ผลข้างเคียงจากการใช้ยาคือ ทำให้ปากแห้ง ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ ท้องผูก ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว และหากได้รับในปริมาณมากอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตส่วนออลิสแตท เป็นตัวยาที่ยับยั้งการดูดซึมที่ลำไส้ ทำให้ไขมันไม่สามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ หากได้รับในปริมาณมากจะทำให้เกิดอาการอุจจาระเยิ้มจากการมีน้ำมันและไขมันปน มีแก๊สในทางเดินอาหารมาก ถ่ายบ่อย ถ่ายเหลว รู้สึกไม่สบายในช่องท้อง ปวดท้อง ท้องอืด ปวดช่องทวารหนัก เป็นต้น
เลขาธิการ ฯ กล่าวต่อไปว่า ขอให้ผู้บริโภคระมัดระวัง อย่าซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีรายชื่อดังกล่าวมารับประทาน เนื่องจากไม่ทราบว่าผลิตจากแหล่งใด และอย่าหลงเชื่อโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง หากต้องการมีรูปร่างดี ขอให้ผู้บริโภคดูแลสุขภาพของตนเอง ควรออกกำลังกายเป็นประจำ หลีกเลี่ยงอาหารหวาน มัน เค็ม ก็สามารถมีสุขภาพและรูปร่างที่ดีได้ และระมัดระวังการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพราะอาจได้รับอันตรายจากผลิตภัณฑ์ที่ปนเปื้อนสารที่ไม่ได้รับอนุญาต หรือผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมาย นอกจากนี้ ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบสถานะเลข อย. ได้ด้วยตัวเองผ่าน 4 ช่องทาง คือ Line : FDAthai ,ORYOR Smart Application, เว็บไซต์ www.fda.moph.go.th และเว็บไซต์ www.oryor.com หากพบเลขผลิตภัณฑ์ไม่ตรงกับฐานข้อมูลของ อย. หรือพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือ E-mail:[email protected] หรือตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11000 หรือผ่านทาง Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ