พม.รับเด็ก 2 ขวบ เหยื่อพ่อทำร้ายร่างกายเยียวยาจิตใจ
พม. เร่งช่วยเหลือเด็กชายวัย 2 ขวบ ที่ถูกพ่อทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรง ที่ย่านทวีวัฒนา กรุงเทพฯ และเด็กหญิงวัย 8 ขวบ ถูกแม่เลี้ยงทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรง ที่จังหวัดตาก
วานนี้ (5 มี.ค.62) เวลา 16.30 น. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ นางสุภัชชา สุทธิพล รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รองปลัด พม.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอเหตุการณ์ เด็กชายวัย 2 ขวบ ถูกพ่อทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรง ที่ย่านทวีวัฒนา กรุงเทพฯ นั้น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยเจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กและครอบครัว กรุงเทพมหานคร และศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 พร้อมด้วยหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือเรียบร้อยแล้ว ซึ่งขณะนี้ เด็กชายดังกล่าวได้เข้ารับการคุ้มครองชั่วคราวของบ้านพักเด็กและครอบครัว กรุงเทพมหานคร ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 จากนั้น จะได้นำเด็กไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา โดยละเอียดต่อไป นอกจากนี้ ทีม พม. One Home จังหวัดปทุมธานี ได้ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านของผู้เป็นแม่ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและประเมินทางสังคมครอบครัวของเด็กอีกทางหนึ่ง อีกทั้งจะได้มีการประชุมหารือร่วมกันกับทีมสหวิชาชีพ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือในระยะยาวต่อไป โดยคำนึงถึงตัวเด็กเป็นสำคัญ
นางสุภัชชา กล่าวต่อไปว่า สำหรับกรณีเด็กหญิง อายุ 8 ปี ถูกแม่เลี้ยงทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรง มีบาดแผล ทั่วร่างกาย ที่อำเภอพบพระ จังหวัดตาก นั้น เจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดตาก และทีม พม. One Home จังหวัดตาก พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเรียบร้อยแล้ว ซึ่งพบว่า เด็กมีร่องรอยบาดแผลจากการถูกทำร้ายอย่างรุนแรงหลายแห่ง โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า ซึ่งในเบื้องต้น ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือเด็กหญิงดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว โดยนำตัวเด็กเข้ารับการตรวจพิสูจน์ทางการแพทย์ และได้เข้ารับการคุ้มครองชั่วคราวของ บ้านพักเด็กและครอบครัว จังหวัดตาก ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 อีกทั้งเร่งเยียวยาฟื้นฟูสภาพจิตใจเด็กอย่างใกล้ชิด และร่วมหาแนวทางการช่วยเหลือด้านการศึกษาอย่างต่อเนื่องกับโรงเรียนของเด็กระหว่างการคุ้มครองชั่วคราว นอกจากนี้ ยังมีการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการช่วยเหลือและการดำเนินการตามกฎหมายด้วย
นางสุภัชชา กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทรวง พม. โดย กรมกิจการสตรีและสถาบันรอบครัว (สค.) ในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบในการป้องกันและแก้ไขปัญหาปัญหาความรุนแรง ในครอบครัว ได้ดำเนินกิจกรรมและโครงการรณรงค์เพื่อยุติความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ รวมทั้งการให้ความรู้กับครอบครัวเรื่องของการเลี้ยงดูบุตรที่ถูกต้อง การให้ความรู้กับคู่สมรสก่อนแต่งงานเรื่องการใช้ชีวิตคู่ และการแนะนำการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อ แม่ และบุตรหลานภายในครอบครัว เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในครอบครัว
นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวในระดับพื้นที่ โดยผลักดันให้เกิดตำบลต้นแบบไร้ความรุนแรง ในทุกรูปแบบ ด้วยการตั้งศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรงในครอบครัวระดับตำบล (ศปก.ต.) ซึ่งขณะนี้ ได้ดำเนินการแล้ว 562 แห่ง และกำลังเร่งขยายให้ครบทุกพื้นที่ประมาณ 7,000 กว่าแห่งทั่วประเทศ
ทั้งนี้ หากพบเห็นหรือประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ สามารถขอความช่วยเหลือได้ที่ศูนย์ช่วยเหลือสังคมสายด่วน 1300 บริการฟรี 24 ชั่วโมง ซึ่งกระทรวง พม. พร้อมประสานหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการช่วยเหลืออย่างเต็มที่