เปิดคำวินิจฉัย ยุบ 'พรรคไทยรักษาชาติ'
ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติ ตัดสิทธิการเมือง 10 ปี
ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งนัดอ่านคำวินิจฉัยกรณียุบพรรคไทยรักษาชาติวันที่ 7 มีนาคม 2562 เวลา 15.00 น.
โดยระบุว่า วันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาคำร้องกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้งขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ (เรื่องพิจารณาที่ 1/2562)
ผลการพิจารณา องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกคนใด้ทำความเห็นส่วนตนเป็นหนังสือพร้อมทั้งแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุม และที่ประชุมได้ปรึกษาหารือร่วมกันแล้วลงมติในประเด็นดังนี้
ประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญตั้งขึ้นเพื่อวินิจฉัยคดีนี้มี 3 ประเด็น คือ
1.การกระทำของพรรคไทยรักษาชาติผิดกฎหมายพรรคการเมือง ตามมาตรา 92 (2) หรือไม่ (มาตรา 92(2) ก็คือกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข)
2.ต้องเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติหรือไม่
3.กรรมการบริหารพรรคที่ถูกเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง สามารถไปจดทะเบียนตั้งพรรคการเมือง หรือร่วมก่อตั้งพรรคการเมืองอื่นได้อีกหรือไม่
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แยกเป็นประเด็นๆ ได้ดังนี้
ประเด็นที่ 1 หลักการพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทย ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 เป็นต้นมา สถานะของพระบรมวงศานุวงศ์ย่อมดำรงอยู่เหนือการเมือง และไม่ควรอยู่ในวงที่อาจจะถูกตำหนิติเตียนได้ โดยเฉพาะการแข่งขันต่อสู้กันการเมือง เรื่องนี้เป็นฉันทามติที่สภาผู้แทนราษฎรในยุคนั้นถือปฏิบัติสืบมา ถือเป็นหลักการพื้นฐานของประเพณีการปกครองของไทยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และรัฐธรรมนูญทุกฉบับก็มีบทบัญญัติเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์แยกไว้เป็นการเฉพาะ
การกระทำของพรรคไทยรักษาชาติย่อมเล็งเห็นได้ว่าจะเป็นการนำระบอบการเมืองการปกครองของไทยไปสู่สภาพการณ์ที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ และมีส่วนในการเลือกตั้ง รวมถึงมีส่วนทางการเมืองการปกครอง จึงถึอเป็นการบ่อนทำลายหลักการการปกครองพื้นฐานของไทยให้เสื่อมทรามลง
การใช้เสรีภาพทางการเมือง ต้องไม่ใช้สิทธิและเสรีภาพจนส่งผลเป็นการบั่นทอนทำลายหลักการของการปกครอง และคติรากฐานการปกครองของไทยที่ดำรงอยู่ให้เสื่อมโทรมไป ซึ่งหลักการหรือรากฐานการปกครองของไทยแตกต่างจากประเทศอื่น ไม่สามารถนำหลักการของประเทศอื่นมาอ้างหรือเปรียบเทียบได้
พรรคการเมืองจะอ้างความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ไม่ได้ แม้กฎหมายไม่ได้บัญญัติคำศัพท์คำว่า "ล้มล้าง" หรือ "ปฏิปักษ์" แต่เป็นคำภาษาไทยทั่วไป ศาลย่อมรู้ได้เองว่ามีความหมายอย่างไร คำว่า "ปฏิปักษ์" ไม่จำเป็นต้องรุนแรงตั้งตนเป็นศัตรู หรือล้มล้าง แต่แค่เซาะกร่อน บ่อนทำลาย สกัดการพัฒนา ทำให้ทรุดโทรมเสื่อมทราม ก็ถทอเป็นปฏิปักษ์ได้แล้ว คดีนี้มีข้อเท็จจริงและหลักฐานชัดเจน ไม่จำเป็นต้องไต่สวนพยาน วินิจฉัยให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ ด้วยมติเอกฉันท์
ประเด็นที่ 2 เพิกถอนสิทธิ์สม้ครรับเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค ตามกฎหมายพรรคการเมืองมาตรา 92 วรรค 2 มีมติให้เพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งกรรมการบริหาพรรคทุกคนที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งเป็นวันที่มีการกระทำอันเป็นเหตุให้ถูกยุบพรรค
ส่วนประเด็นที่ว่าเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งกี่ปีนั้น ศาลเห็นว่าสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน การกระทำของกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติอยู่ในระดับเพียงอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง ยังไม่ถึงขนาดเจตนาล้มล้างระบบการปกครอง และกระบวนการเสนอชื่อฯ ก็เป็นขั้นตอนหนึ่งของกระบวนการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรี ประกอบกับความมีสำนึกรับผิดชอบ น้อมรับพระราชโองการทันที แสดงว่ายังมีความเคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ มีมติให้เพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี ศาลลงมติในประเด็นนี้ด้วยคะแนน 6 ต่อ 3
ประเด็นที่ 3 ห้ามกรรมการบริหารพรรคที่ถูกเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งจากกรณียุบพรรคไทยรักษาชาติ ไปจัดตั้งหรือร่วมก่อตั้งหรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองอื่นอีกไม่ได้ มีกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง ประเด็นนี้มติเอกฉันท์ (คือ 9 ต่อ 0)