ยอดสินเชื่อโตหนุนกำไรแบงก์อาเซียนทะยาน

ยอดสินเชื่อโตหนุนกำไรแบงก์อาเซียนทะยาน

บรรดาธนาคารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เผชิญกับช่วงเวลาที่ดีในปี 2561 ผลจากยอดการปล่อยสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นและการบริหารจัดการสินทรัพย์ที่มีเสถียรภาพ กระตุ้นผลกำไรเติบโตด้วยเลขสองหลักใน 7 จาก 10 ธนาคารที่มีส่วนแบ่งตลาดมากที่ของภูมิภาค

การเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 4.8% ใน 5 ตลาดขนาดใหญ่ที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงไทยและมาเลเซีย ทำให้ความต้องการเงินทุนเพิ่มขึ้น เนื่องจากรายได้เฉลี่ยสูงขึ้นและธุรกิจขยายตัว นอกจากนั้น การดำเนินงานด้านเงินฝากและสินเชื่อที่เติบโต ยังช่วยเพิ่มผลกำไรของธนาคารทั่วทั้งกลุ่ม

การเติบโตอย่างรวดเร็วนี้ยังกระตุ้นให้บรรดาธนาคารหันมาให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีทางการเงิน (ฟินเทค) เพื่อสนองความต้องการผู้บริโภคสำหรับการชำระเงินผ่านมือถือ และดูเหมือนว่าการเติบโตมีแนวโน้มที่จะคึกคัก แม้มีความกังวลว่าปัจจัยอย่าง “สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน” อาจทำลายบรรยากาศความคึกคักทางเศรษฐกิจก็ตาม

“ดีบีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์” ของสิงคโปร์ ผงาดเป็นธนาคารเบอร์1 ของภูมิภาคทั้งในแง่ผลกำไรสุทธิและการเติบโต โดยเพิ่มขึ้น 28.1% มาอยู่ที่ 5,630 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ส่วนธนาคารเพื่อนร่วมชาติอย่าง “โอซีบีซี” มีผลกำไรเพิ่มขึ้น 11.1% มาอยู่ที่ 4,490 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ และ“ยูโอบี” มีกำไรเพิ่มขึ้น 18.2% มาอยู่ที่ 4,010 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์

ในอินโดนีเซีย ธนาคารรักยัตซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ มีการเติบโต 11.6% มาอยู่ที่ราว 32.35 ล้านล้านรูเปี๊ยะห์ ขณะที่ธนาคารเซ็นทรัล เอเชียมีการเติบโต 10.9% มาอยู่ที่ 25.9 ล้านล้านรูเปี๊ยะห์ และธนาคารมันดิรี มีรายได้หลังหักภาษีเพิ่มขึ้น 21.2% มาอยู่ที่ 25 ล้านล้านรูเปี๊ยะห์

ขณะที่ธนาคารกสิกรไทยของไทย ก็เข้ามาติดอันดับธนาคารที่มีการเติบโตสองหลักของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีกำไรเพิ่มขึ้น 12% มาอยู่ที่ 3.85 หมื่นล้านบาทในปีที่แล้ว

ธนาคารหลายรายมีการเติบโตแข็งแกร่งด้านการปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะในอินโดนีเซียซึ่งตลาดที่มีประชากรกว่า 250 ล้านคนแห่งนี้คิดเป็นสัดส่วนราว 40% ของเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในแง่ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)

ตัวอย่างเช่น ธนาคารเซ็นทรัล เอเชียปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจรายใหญ่เพิ่มขึ้นราว 20% และปล่อยสินเชื่อให้บริษัทรายเล็กกว่าอีกราว 13% และสินเชื่อบ้านเพิ่มขึ้น 12% ขณะที่ธนาคารรักยัต อินโดนีเซียมีการเติบโตเลขสองหลักในการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลและธุรกิจขนาดเล็ก

ธนาคารอินโดนีเซียทั้ง 2 รายนี้มีส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิระหว่าง 6-7% โดยสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) คิดเป็นเพียง 1-3% ของสินเชื่อทั้งหมด

สำหรับธนาคารเมย์แบงก์ของมาเลเซีย มียอดสินเชื่อบ้านภายในประเทศเพิ่มขึ้นราว 8% ขณะที่การปล่อยสินเชื่อให้ธุรกิจรายเล็กทะยานอีกประมาณ 15%

การกู้สินเชื่อธนาคารและบัตรเครดิตยังคงเป็นเรื่องใหม่สำหรับชาวมาเลเซียและอินโดนีเซียจำนวนมาก ทำให้ธนาคารมีโอกาสอีกมากในการรุกด้านสินเชื่อและบัตรเครดิต และกระตุ้นยอดปล่อยสินเชื่อและกำไร ผลกำไรสุทธิของเมย์แบงก์เติบโต 7.9% มาอยู่ที่ 8,110 ล้านริงกิต ขณะที่ธนาคารมาเลเซียอีกรายอย่าง “พับลิก แบงก์” มีกำไรเพิ่มขึ้น 2.2% มาอยู่ที่ 5,590 ล้านริงกิต

ขณะเดียวกัน บรรดาธนาคารรายใหญ่ของสิงคโปร์เพิ่มผลกำไรด้วยการสร้างธุรกิจที่หลากหลายและกระจายความเสี่ยงพอร์ตลงทุนของตน สำหรับดีบีเอส มีรายได้จากดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นราว 26% จากการบริหารจัดการสินทรัพย์และการดำเนินงานอื่น ๆ ที่เจาะกลุ่มผู้มั่งคั่ง นอกจากนั้น ผลกำไรยังได้แรงหนุนจากเงินทุนที่ไหลเข้าสิงคโปร์จากทั่วภูมิภาค ในช่วงที่ชาวเอเชียที่ร่ำรวยจำนวนมากย้ายสินทรัพย์ของตนมาที่สิงคโปร์และซื้ออสังหาริมทรัพย์