เปิดชื่อ '108แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์' ทั่วปท. เพื่อพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
"มหาดไทย" เผยรายชื่อ 108 แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั่วประเทศ สำหรับประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำเพื่อจัดทำน้ำอภิเษกในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
วันนี้ (9 มี.ค.62) ที่กระทรวงมหาดไทย นายพรพจน์ เพ็ญพาส รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ เพื่อช่วยดำเนินการงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เป็นประธานกรรมการฝ่ายจัดพิธีการงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และได้แต่งตั้งให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานอนุกรรมการฝ่ายจัดทำน้ำอภิเษก ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้แจ้งให้ทุกจังหวัด สำรวจและบำรุงรักษาแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพเลื่อมใส แหล่งน้ำที่เคยใช้ทำน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ให้คงอยู่ในสภาพที่ใสสะอาด และดำเนินการพัฒนาภูมิทัศน์โดยรอบ ให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงาม มีความพร้อมที่จะนำน้ำไปประกอบพิธีสำคัญ ซึ่งพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้มอบนโยบายและเน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดดำเนินการเตรียมความพร้อมในการจัดทำน้ำอภิเษกของทุกจังหวัดทั่วประเทศ ให้ไปด้วยความเรียบร้อยและสมพระเกียรติ โดยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทยได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจและติดตามความพร้อมของแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์เพื่อเตรียมการประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำอย่างต่อเนื่อง
รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า สำหรับกำหนดการประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำ ได้กำหนดขึ้นในวันเสาร์ที่ 6 เมษายน 2562 ฤกษ์เวลา 11.52-12.38 น. ณ แหล่งน้ำศักดิ์ของทุกจังหวัดทั่วประเทศ รวมจำนวน 107 แหล่งน้ำ แบ่งเป็น 1) จังหวัดที่มีแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ จำนวน 1 แห่ง 60 จังหวัด 2) จังหวัดที่มีแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ จำนวน 2 แห่ง 7 จังหวัด 3) จังหวัดที่มีแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ จำนวน 3 แห่ง 5 จังหวัด 4) จังหวัดที่มีแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ จำนวน 4 แห่ง 3 จังหวัด และ 5) จังหวัดที่มีแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ จำนวน 6 แหล่งน้ำ 1 จังหวัด (รายชื่อตามเอกสารแนบท้ายข่าว) ยกเว้นกรุงเทพมหานคร จะประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำในวันที่ 12 เมษายน 2562 ณ หอศาสตราคมในพระบรมมหาราชวัง รวมทั้งสิ้น 108 แห่ง นอกจากนี้ มีแหล่งน้ำสรงมุรธาภิเษก จำนวน 9 แหล่งน้ำ ได้แก่ สระศักดิ์สิทธิ์ 4 สระ คือ สระแก้ว สระคา สระยมนา และสระเกษ ในอำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี และน้ำจากแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ 5 สาย คือ แม่น้ำบางปะกง ตักที่บึงพระอาจารย์ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก แม่น้ำป่าสัก ตักที่บริเวณบ้านท่าราบ อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี แม่น้ำเจ้าพระยา ตักบริเวณปากคลองบางแก้ว อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง แม่น้ำราชบุรี ตักบริเวณสามแยกคลองหน้าวัดดาวดึงษ์ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม และแม่น้ำเพชรบุรี ตักบริเวณท่าน้ำวัดท่าไชยศิริ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี
รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเตรียมความพร้อมในการจัดทำน้ำอภิเษกในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัด ด้านพิธีพลีกรรมตักน้ำ ด้านพิธีทำน้ำอภิเษก และด้านการเชิญคนโทน้ำอภิเษก โดยกระทรวงมหาดไทยจะให้การสนับสนุนจังหวัดทุกประการเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและสมพระเกียรติ
1) จังหวัดที่มีแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ จำนวน 1 แห่ง 60 จังหวัด 1. วังเทวดา จ.กระบี่ 2. แม่น้ำสามประกอบ จ.กาญจนบุรี 3. กุดน้ำกิน จ.กาฬสินธุ์ 4. บ่อสามแสน จ.กำแพงเพชร 5. บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ (บาราย) จ.ขอนแก่น 6. ปากน้ำโจ้โล้ (คลองท่าลาด) จ.จันทบุรี 7. สระเจ้าคุณเฒ่า วัดเขาบางทราย จ.ชลบุรี 8. แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณหน้าวัดธรรมามูลวรวิหาร จ.ชัยนาท 9. บ่อน้ำทิพย์ถ้ำเขาพลู จ.ชุมพร 10. บ่อน้ำทิพย์ จ.เชียงราย 12. แม่น้ำตรัง บริเวณท่าน้ำวัดประสิทธิชัย จ.ตรัง 13. น้ำตกธารมะยม จ.ตราด 14. อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล จ.ตาก 15. สระน้ำจันทร์ (สระบัว) จ.นครปฐม 16. สระบ้ำมูรธาภิเษก (บ่อน้ำพระอินทร์) จ.นครพนม 17. ต้นน้ำลำตะคอง จ.นครราชสีมา 18. บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ 19. กลางแม่น้ำเจ้าพระยาเบื้องหน้าบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร จ.นนทบุรี 20. แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์วัดกลาง จ.บุรีรัมย์ 21. แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณหน้าวัดศาลเจ้า จ.ปทุมธานี
22. บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ (บ่อน้ำทิพย์) จ.ประจวบคีรีขันธ์ 23. บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์วัดตูม จ.พระนครศรีอยุธยา 24. บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ถ้ำน้ำผุด จ.พังงา 25. แม่น้ำน่านบริเวณหน้าพระอุโบสถวัดท่าหลวง จ.พิจิตร 26. สระสองห้อง จ.พิษณุโลก 27. ท่าน้ำวัดท่าไชยศิริ จ.เพชรบุรี 28. บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์วัดไชยธาราราม (วัดฉลอง) จ.ภูเก็ต 29. บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ (หนองดูน) จ.มหาสารคาม 30. น้ำตกศักดิ์สิทธิ์ จ.มุกดาหาร 31. ถ้ำปลา จ.แม่ฮ่องสอน 32. ท่าคำทอง จ.ยโสธร 33. สระแก้ว สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ จ.ยะลา 34. สระชัยมงคล จ.ร้อยเอ็ด 35. บ่อน้ำพุร้อนรักษะวาริน จ.ระนอง 36. วังสามพญา จ.ระยอง 37. สระโกสินารายณ์ จ.ราชบุรี 38. บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ วัดกวิศราราม จ.ลพบุรี
39. บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ (บ่อน้ำเลี้ยงพระนางจามเทวี) จ.ลำปาง 40. ดอยขะม้อ บ่อน้ำทิพย์ จ.ลำพูน 41. น้ำจากถ้ำเพียงดินภายในถ้ำวัดผาปู่ จ.เลย 42. บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ปราสาทสระกำแพงน้อย จ.ศรีสะเกษ 43. บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ “ภูน้ำลอด” จ.สกลนคร 44. บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์วัดแหลมบ่อท่อ จ.สงขลา 45. บ่อน้ำพุร้อนทุ่งนุ้ย จ.สตูล 46. แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณหน้าองค์พระสมุทรเจดียื จ.สมุทรปราการ 47. แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์คลองดาวดึงษ์ จ.สมุทรสงคราม 48. แหล่งน้ำคลองดำเนินสะดวก จ.สมุทรสาคร 49. สะแก้ว – สระขวัญ จ.สระแก้ว 50. แม่น้ำป่าสักบริเวณบ้านท่าราบ จ.สระบุรี 51. สระน้ำศักดิ์สิทธิ์วัดโพธิ์เก้าต้น จ.สิงห์บุรี
52. แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์พระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร จ.สุราษฎร์ธานี 53. สระโบราณ จ.สุรินทร์ 54. สระมุจลินท์ (สระพญานาค) จ.หนองคาย 55. บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์วัดศรีคูณเมือง จ.หนองบัวลำภู 56. แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณพระอุโบสถวัดไชโยวรวิหาร จ.อ่างทอง 57. อ่างเก็บน้ำพุทธอุทยาน (อ่างเก็บน้ำห้วยปลาแดก) จ.อำนาจเจริญ 58. บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์คำชะโนด จ.อุดรธานี 59. บ่อน้ำทิพย์ จ.อุตรดิตถ์ 60. บ่อน้ำโจ้ก จ.อุบลราชธานี
2) จังหวัดที่มีแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ จำนวน 2 แห่ง 7 จังหวัด 1. จังหวัดชัยภูมิ ได้แก่ บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์วัดไพรีพินาศ และชีผุด แม่น้ำชี 2. จังหวัดนราธิวาส ได้แก่ น้ำแบ่ง และน้ำตกสิรินธร 3. จังหวัดบึงกาฬ ได้แก่ พื้นที่ชุ่มน้ำบึงโขงหลง และบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ถ้ำพระ 4. จังหวัดปราจีนบุรี ได้แก่ บ่อน้ำหน้าโบราณสถานรอยพระพุทธบาทคู่ และโบราณสถานสระแก้ว 5. จังหวัดพะเยา ได้แก่ ขุนน้ำแม่ปืม และน้ำตกคะ (น้ำคะ) 6. จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้แก่ สระแก้ว และสระขวัญ 7. จังหวัดอุทัยธานี ได้แก่ แม่น้ำสะแกกรัง และสระน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์วัดมณีสถิตกปิฏฐาราม
3) จังหวัดที่มีแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ จำนวน 3 แห่ง 5 จังหวัด 1. จังหวัดจันทบุรี ได้แก่ สระแก้ว, ธารนารายณ์ และบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์วัดพลับ 2. จังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์วัดบุพพาราม, อ่างกาหลวง และขุนน้ำแม่ปิง 3. จังหวัดนครนครนายก ได้แก่ เขื่อนขุนด่านปราการชล, บ่อน้ำทิพย์เมืองโบราณดงละคร และบึงพระอาจารย์ 4. จังหวัดพัทลุง ได้แก่ สระน้ำศักดิ์สิทธิ์วัดดอนศาลา, ถ้ำน้ำบนหุบเขาชัยบุรี และบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์พระบรมธาตุเขียนบางแก้ว 5. จังหวัดสุโขทัย ได้แก่ บ่อแก้ว, บ่อทอง และตระพังทอง
4) จังหวัดที่มีแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ จำนวน 4 แห่ง 3 จังหวัด 1. จังหวัดปัตตานี ได้แก่ น้ำสระวังพรายบัว, บ่อทอง (บ่อช่างขุด), บ่อไชย และน้ำบ่อฤษี 2. จังหวัดแพร่ ได้แก่ บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ลำน้ำแม่คำมี, บ่อน้ำวัดบ้านนันทาราม, บ่อน้ำพระฤๅษี และบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์วัดพระหลวง 3. จังหวัดสุพรรณบุรี ได้แก่ สระแก้ว สระคา สระยมนา และสระเกษ
5) จังหวัดที่มีแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ จำนวน 6 แหล่งน้ำ 1 จังหวัด คือ จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้แก่ บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ณ วัดหน้าพระลาน, บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ วัดเสมาเมือง, บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ วัดเสมาไชย, บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ วัดประตูขาว, แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ ห้วยเขามหาชัย และแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ ห้วยปากนาคราช