'คมนาคม' แตะเบรคประมูลดิวตี้ฟรี
“คมนาคม” แตะเบรคประมูลดิวตี้ฟรี สั่ง ทอท.เร่งหารือกระทรวงการคลัง ผลักดันเข้า พรบ.ร่วมทุนปี 2562 ลั่นหากไม่เข้าข่ายตามกฎหมาย ต้องเดินหน้าตามมติ ครม. หากลไกกลาง และคณะกรรมการกลางเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อความโปร่งใส
เมื่อวันที่ 15 มี.ค.62 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังหารือร่วมบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ถึงประเด็นการเปิดประมูลสัมปทานพื้นที่เชิงพาณิชย์ และพื้นที่จำหน่ายสินค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) โดยระบุว่า กระทรวงฯ ได้กำชับให้ ทอท.สร้างความชัดเจนทั้งข้อกฎหมายและรูปแบบดำเนินการโครงการดังกล่าว ขอให้ ทอท.ชะลอการออกประกาศเชิญชวนออกไปก่อน พร้อมเร่งหารือกับคณะกรรมการ (บอร์ด) ทบทวนรูปแบบใหม่ ให้นำข้อห่วงใยของทุกฝ่ายเข้าไปพิจารณาอย่างรอบคอบ นอกจากนี้ขอให้ ทอท.ไปหารือกับกระทรวงการคลังอย่างเป็นทางการ เพื่อศึกษาว่าโครงการเข้าข่าย พรบ.ร่วมทุนปี 2562 หรือไม่
“กระทรวงฯ ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ขอให้ ทอท.หารือกับกระทรวงการคลังอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะการเอาโครงการเข้า พรบ.ร่วมทุนฉบับใหม่ จะต้องปฏิบัติอย่างไร หากไม่เข้าข่ายตามกฎหมาย ก็จะต้องทำตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่สั่งการให้กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คิกกลไกกลาง เพื่อที่จะทำให้โครงการที่ไม่เข้าข่าย พรบ.ร่วมทุนปี 2562 สามารถประมูลอย่างโปร่งใสได้ ส่วนนี้ ทอท.อาจจะต้องกลับไปหารือว่าควรจะทำอย่างไร หากลไกกลางเข้ามาสร้างความเชื่อมั่น”
อย่างไรก็ดี จากการชะลอเปิดประมูลโครงการดังกล่าว ทอท.จะต้องเร่งหารือกับบอร์ดเพื่อปรับกรอบเวลาดำเนินงาน ทั้งประกาศเชิญชวน เอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) กำหนดขายซอง และการยื่นข้อเสนอ โดยขอให้ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย ส่วนรูปแบบการประมูลจะแบ่งสัญญาเป็นรายสินค้าหรือไม่ ขอให้ ทอท.พิจารณาให้รอบคอบ แต่เบื้องต้นก็พบว่าการแบ่งสัญญาเป็น 3 กลุ่ม คือ พื้นที่เชิงพาณิชย์ ดิวตี้ฟรี และพิคอัพเคาท์เตอร์ ก็ถือว่าดีแล้ว แต่ขอให้ไปดูอย่างรอบคอบอีกครั้ง
นายอาคม ยังกล่าวด้วยว่า จากการหารือกับ ทอท.ได้ทราบข้อมูลว่ายังไม่ได้นำโครงการประมูลดังกล่าวไปศึกษานำเข้า พรบ.ร่วมทุนปี 2562 เพราะ ทอท.มองว่าเป็นการดำเนินการภายใน ไม่เข้าข่าย พรบ.ร่วมทุนปี 2562 ดังนั้นกระทรวงฯ จึงขอให้กลับไปหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อศึกษากฎหมายให้ครบถ้วนก่อน และหากไม่เข้าข่ายตาม พรบ.ร่วมทุนปี 2562 จริง ก็ยังต้องดำเนินการตามมติ ครม.ที่จะต้องมีกลไกกลาง หากมองว่าทั้งหมดที่ทำเป็นการแข่งขันที่เป็นธรรมแล้ว ก็ขอให้หาหลักฐานมาชี้แจง
“มติ ครม.มอบให้กระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพ เรื่องการพิจารณาโครงการว่าเข้าข่ายหรือไม่เข้าข่าย พรบ.ร่วมทุน หากไม่เข้าข่ายและจะมีกลไกกลางอย่างไร นอกจากกระทรวงการคลังแล้ว ยังมีกระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ต้องช่วยกันพิจารณา และเพื่อความรอบคอบ ก็ขอให้ ทอท.รับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน ผู้ประกอบการทุกส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย”