"เรืองไกร" หอบฎีกายื่น กกต. สอบเพิ่ม คุณสมบัติ "บิ๊กตู่" หวังให้มีความชัดเจนก่อนปชช.ใช้สิทธิหย่อนบัตร อย่าปล่อยคาราคาซัง
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 18 มี.ค.62 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) เดินทางมายื่นเอกสารเพิ่มเติมคำร้องที่ให้กกต.พิจารณาว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคสช. เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ขาดคุณสมบัติเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โดยในวันนี้ได้นำคำสั่งศาลฎีภาแผนกคดีเลือกตั้งเมื่อปี 2550 ที่กกต.ได้ถอนชื่อผู้สมัครส.ส.นราธิวาส ซึ่งเป็นลูกจ้างชั่วคราวในโรงเรียนแห่งหนึ่งในภาคใต้ ซึ่งผู้สมัครเป็นเพียงแค่วิทยากร แต่กกต.ก็ร้องค้านว่าเข้าข่ายลักษณะเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ และไม่ประกาศรับรองให้เป็นผู้สมัคร แม้ผู้สมัครคนดังกล่าวก็คัดค้านแต่ศาลก็วินิจฉัยว่าบุคคลดังกล่าวซึ่งเป็นเพียงลูกจ้างชั่วคราวมีชั่วโมงการทำงานถือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ จึงไม่ประกาศคืนสิทธิ และอีกประเด็นคือการให้สัมภาษณ์ของนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล โฆษกพรรคพลังประชารัฐ ที่ให้สัมภาษณ์ยอมรับว่าพล.อ.ประยุทธ์เข้ามาดูแลนโยบายของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งถือว่าเป็นสารภาพว่าพรรคพลังประชารัฐมีพล.อ.ประยุทธ์เข้ามาชี้นำ จึงขอให้กกต. ไปเรียกพยานที่เกี่ยวข้องมาดำเนินการสอบสวน
นายเรืองไกร กล่าวด้วยว่า กรณีการเปิดคลิปปราศรัยของพล.อ.ประยุทธ์ บนเวทีปราศรัยของพรรคพลังประชารัฐที่ จ.สุโขทัย ที่พล.อ.ประยุทธ์ ปราศรัยโดยมีเนื้อความตอนหนึ่งว่า " ไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่ทำเพื่อประเทศชาติและพรรคพลังประชารัฐ " ซึ่งการนำคลิปดังกล่าวมาเปิดบนเวทีปราศรัย ถือว่าผิดพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 28 ที่ห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอมให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคควบคุม ครอบงำ ชี้นำ การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง ซึ่งในกรณีนี้กกต.จะอ้างว่าความยังไม่ปรากฏคงไม่ได้ เพราะทุกคนก็ได้รับทราบจากข่าว
นายเรืองไกร กล่าวด้วยว่า ยังได้นำคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ กรณีนายรังสิมันต์ โรม นายจาตุรนต์ ฉายแสง และน.ส.ณัฎฐา มหัทธนา ซึ่งเป็นพวกที่ถูกจับกุมเนื่องจากชุมนุมเกิน 5 คน ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยและจำหน่ายคดี โดยระบุว่า ต้องไปร้องต่อศาลยุติธรรม ซึ่งจะเห็นได้ว่าหัวหน้าคสช.ไม่ใช่รัฏฐาธิปัตย์และสามารถถูกตรวจสอบได้ นอกจากนี้ยังมีคดีที่ผู้สมัครไปร้องในกรณีที่กกต. ไม่รับรองให้เป็นผู้สมัครในการสมัครรับเลือกตั้งเมื่อวันที่ 4 มี.ค. ซึ่งได้พูดถึงคำสั่งคสช.ว่าเป็นคำสั่งทางการเมือง เมื่อศาลวินิจฉัยอย่างนี้กกต.จะยังเชื่อผู้ตรวจการแผ่นดินอยู่หรือไม่ ซึ่งผลไม่ใช่จะเกิดในตอนนี้ แต่จะมีผลต่อการโหวตนายกรัฐมนตรีในสภา ดังนั้นจึงเห็นว่ากกต.จึงควรส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพื่อไม่ให้เรื่องคาราคาซัง เพราะจะมีการเลือกตั้งในสัปดาห์นี้แล้ว