‘กูเกิล-เมตา’ โอด ร้องรัฐบาลออสซี่ ชะลอผ่านกฎหมายห้ามเด็กต่ำกว่า 16 เล่นโซเชียล

‘กูเกิล-เมตา’ โอด ร้องรัฐบาลออสซี่ ชะลอผ่านกฎหมายห้ามเด็กต่ำกว่า 16 เล่นโซเชียล

กูเกิล และเมตา เรียกร้องรัฐบาลออสเตรเลียชะลอการผ่านร่างกฎหมาย ห้ามเด็กต่ำกว่า 16 ปีเล่นโซเชียล เนื่องจากบริษัทต้องการเวลาในการประเมินผลกระทบที่อาขเกิดขึ้น และแนะว่ารัฐบาลควรรอผลทดลองใช้ระบบยืนยันอายุก่อนอนุมัติกฎหมายดังกล่าว

กูเกิล (Google) และเมตา (Meta) บริษัทแม่เฟซบุ๊ก เรียกร้องให้รัฐบาลออสเตรเลียชะลอการอนุมัติร่างกฎหมายที่ห้ามให้เด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี เล่นโซเชียลมีเดีย เนื่องจากต้องใช้เวลาในการประเมินผลกระทบที่อาจขึ้น

ร่างกฎหมายดังกล่าวได้รับการเสนอในรัฐสภาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และเปิดให้ที่ประชุมแสดงความคิดเห็นได้เพียงหนึ่งวันเท่านั้น

ในการยื่นเรื่องต่อรัฐบาล กูเกิลและเมตา แนะว่ารัฐบาลควรรอผลการทดลองใช้ระบบยืนยันอายุก่อนที่จะอนุมัติร่างกฎหมายดังกล่าว

เมตาระบุ “หากไม่มีผลลัพธ์ดังกล่าว ทั้งอุตสาหกรรมและชาวออสเตรเลียจะไม่เข้าใจลักษณะ หรือระดับการรับรองอายุที่กฎหมายกำหนดไว้ รวมถึงผลกระทบของมาตรการดังกล่าวต่อชาวออสเตรเลีย” และว่า ร่างกฎหมายไม่มีความแน่นอนและไม่มีประสิทธิภาพ

 

ทั้งนี้ ระบบยืนยันอายุอาจพิสูจน์ด้วยไบโอเมตริกซ์ หรือการพิสูจน์อัตลักษณ์ด้วยอวัยวะของร่างกาย เช่น การสแกนนิ้วมือ หรือการระบุตัวตนจากรัฐบาล เพื่อจำกัดกลุ่มคนที่จะสามารถใช้โซเชียลมีเดีย

อนึ่ง กฎหมายดังกล่าวจะผลักดันให้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย (แต่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ปกครองหรือเด็ก) ดำเนินการอย่างเหมาะสมเพื่อให้แน่ใจว่ามีการป้องกันเข้าถึงโซเชียลด้วยการตรวจสอบอายุ และหากละเมิด บริษัทเหล่านั้นอาจถูกปรับสูงสุด 48.5 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย

ด้านพรรคเสรีนิยมซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน อาจสนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าว ขณะที่สมาชิกรัฐสภาอิสระบางคนกล่าวหาว่ารัฐบาลเร่งรัดกระบวนการทั้งหมดเร็วเกินไป ซึ่งมีเวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์

ส่วนติ๊กต็อก ออกมาบอกว่า ร่างกฎหมายขาดความชัดเจน และมีความน่ากังวลว่ารัฐบาลอาจผ่านร่างกฎหมายโดยไม่ได้ปรึกษาหารืออย่างละเอียดกับผู้เชี่ยวชาญ แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย องค์กรด้านสุขภาพจิต และคนรุ่นใหม่

ขณะที่แพลตฟอร์ม X ของ อีลอน มัสก์ ก็กังวลว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวจะสร้างผลกระทบเชิงลบต่อสิทธิมนุษยชนเด็ก และคนรุ่นใหม่รวมถึงสิทธิการมีเสรีภาพในการแสดงออกและเข้าถึงข้อมูล

มหาเศรษฐีมัสก์ ยังได้ออกมาโจมตีรัฐบาลออสเตรเลียเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า ร่างกฎหมายเหมือนเป็นช่องทางลับในการควบคุมการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต

 

อ้างอิง: Reuters