อย.เผยยอดโทรกัญชาทะลุกว่า 5,000 ราย และแจ้งครอบครองถึง 205 ราย
เผยยอดโทรกัญชาสัปดาห์นี้ (11-15 มี.ค.62) มีผู้สอบถามเข้ามาที่ อย. รวม 1,361 ราย และมีผู้ป่วยแจ้งครอบครองกัญชา 120 ราย รวมตัวเลขตั้งแต่เปิดรับแจ้ง 27 ก.พ.62 ถึงปัจจุบัน มีผู้สอบถามเข้ามาที่ อย. รวม 5,014 ราย และแจ้งครอบครองกัญชาแล้ว 205 ราย
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยา (อย.) ได้เปิดบริการให้สอบถามข้อสงสัยเกี่ยวกับกัญชา ภายหลังจากที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวเนื่องกับการนิรโทษและครอบครองกัญชา จำนวน 3 ฉบับ ได้มีผลบังคับใช้ สำหรับสัปดาห์นี้ (11-15 มี.ค.62) มีผู้สอบถามเข้ามาที่ อย. โดยสอบถามเข้ามายังช่องทางสายด่วน อย. 1556 จำนวน 1,277 ราย หมายเลขโทรศัพท์ของกองควบคุมวัตถุเสพติด อย. 71 ราย และที่ Counter Service 13 ราย คำถามที่พบส่วนใหญ่ยังคงสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการปลูก รายละเอียดของการนิรโทษ การนำเข้า และ การส่งออก เป็นต้น และมีผู้ป่วยมาแจ้งครอบครองกัญชาจำนวน 120 ราย สำหรับตัวเลขสะสมตั้งแต่วันที่เริ่มเปิดรับแจ้ง 27 ก.พ.62 ถึงปัจจุบันมีผู้โทรสอบถามเรื่องกัญชาเข้ามาที่ อย. จำนวน 5,014 ราย และแจ้งครอบครองกัญชาแล้ว 205 ราย
อนึ่ง ตามที่ปรากฏข่าวว่า มีการอนุญาตให้ปลูก/เสพกัญชาเสรี นั้น ไม่เป็นความจริง เนื่องจากตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ออกตามมาตรา 22 ของพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ซึ่งกำหนดให้ผู้ป่วยที่มีการครอบครองกัญชาไว้เพื่อรักษาโรคเฉพาะตัว ก่อนที่กฎหมายฉบับนี้มีผลใช้บังคับให้ผู้ป่วยมาแจ้งการครอบครองต่อเจ้าหน้าที่ แล้วจะถือว่าไม่มีความผิดตามกฎหมาย ดังนั้น จึงไม่ใช่เพิ่งปลูกหรือหามาใช้ภายหลังที่กฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังต้องไปตรวจสอบเฝ้าระวัง เพื่อให้มีการปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายและเมื่อครบกำหนด 90 วันแล้ว ผู้ป่วยจะครอบครองต้นกัญชาไม่ได้ กรณีผู้ป่วยที่แจ้งการครอบครองสำหรับใช้เกิน 90 วัน และเมื่อครบกำหนด 90 วันแล้ว หากยังไม่ได้รับการรักษาและได้รับยาในระบบที่ถูกต้องตามกฎหมาย ก็สามารถใช้ยาดังกล่าวตามที่แจ้งการครอบครองไว้ก่อนได้ ดังนั้น จึงขอให้เข้าใจถูกต้องตรงกันว่า กฎหมายไม่มีการอนุญาตให้ปลูก/เสพกัญชาเสรี
ทั้งนี้ การเสพกัญชามีอันตรายต่อร่างกาย โดยเฉพาะในเด็กวัยรุ่นกัญชาส่งผลเสียต่อพัฒนาการทางสมองทำให้ความจำบกพร่อง การเสพกัญชาจึงควรจำกัดให้ใช้ทางการแพทย์เพื่อการรักษาหรือบรรเทาอาการของโรคบางชนิดเท่านั้น และใช้ด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากกัญชามีฤทธิ์ต่อจิตและประสาท มีผลข้างเคียง เช่น ประสาทหลอน หวาดระแวง และความบกพร่องเรื่องความจำ
อย่างไรก็ตาม การแจ้งครอบครองกัญชา เป็นการดำเนินการตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ขอให้แจ้งข้อเท็จจริงต่อเจ้าหน้าที่เพื่อประโยชน์ในการติดตามตรวจสอบและเป็นประโยชน์ต่อผู้แจ้งเอง กรณีแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าหน้าที่ จะมีความผิดตามกฎหมายด้วย ผู้ป่วยบางรายเข้าใจว่าใบอนุญาตที่ อย. ออกให้สำหรับการครอบครองกัญชาเป็นการอนุญาตให้ปลูกกัญชาได้ด้วย และมีการนำไปเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด อย. จึงขอย้ำว่า ใบอนุญาตที่ อย. ออกให้ใช้ในวัตถุประสงค์การ “ครอบครอง” กัญชาเพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์หรือการรักษาพยาบาลเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตให้ “ปลูก” กัญชาแต่อย่างใด การที่นำไปเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ ผู้เผยแพร่อาจถูกดำเนินการตามกฎหมายได้ จึงขอให้ผู้ครอบครองกัญชาระมัดระวัง ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎระเบียบด้วย เลขาธิการฯ กล่าวในที่สุด