ค่านิยมมุ่ง ‘เทคคอมพานี’ ‘DICE-H’ ทราเวลโลก้า

ค่านิยมมุ่ง ‘เทคคอมพานี’ ‘DICE-H’ ทราเวลโลก้า

ในปี 2562 นี้ ทราเวลโลก้า (Traveloka) ซึ่งมีสาขาบริการอยู่ใน 6 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ปรับค่านิยมองค์กรใหม่เป็น 5 ด้าน เรียกสั้น ๆว่า “DICE-H”

มุ่งขับเคลื่อนการเติบโต ให้มีความยืดหยุ่นและปรับตัวเร็ว เหมาะกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง และความหลากหลายบนโลกใบนี้


ทั้งเพื่อให้สอดคล้องการเป็น “เทคคอมพานี” ซึ่งเห็นได้จากคำแนะนำตัวที่ว่า “Traveloka is a technology company based in Jakarta, Indonesia.” แม้คนส่วนใหญ่จะมองว่าเป็น ผู้ให้บริการจองตั๋วเครื่องบินและที่พักออนไลน์ชั้นนำ (Online Travel Agent หรือ OTA) แต่วิสัยทัศน์ของซีอีโอของทราเวลโลก้า “Ferry Unardi” ก็คือมุ่งสู่การเป็นเทคคอมพานีเพื่อหวังจะตอบโจทย์ชีวิตผู้คน ได้มากกว่าแค่เรื่องของการท่องเที่ยว


“โสภณ สุรเชษฎไพศาล” ผู้อำนวยการสายงานปฏิบัติการบุคคล ทราเวลโลก้า ประเทศไทย เล่าว่า แต่เดิมทราเวลโลก้ามีสไตล์การทำงานในกรอบกว้าง ๆ สามด้าน ซึ่งดูเหมือนจะเป็นอะไรที่จับต้องไม่ได้ และดูเหมือนว่าจะไม่สามารถตอบโจทย์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ก็คือ หนึ่ง embrace challenges พร้อมรับความท้าทาย สอง celebrate openness เปิดกว้างต่อความคิดสร้างสรรค์ และสาม value autonomy หมายถึงให้อิสระกับพนักงานให้ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรับผิดชอบเต็มที่


จึงนำไปสู่การจัดกระบวนทัพคอร์แวลลูหรือค่านิยมใหม่เป็น 5 ด้าน หรือ DICE-H ประกอบด้วย

1.D-Dedication ความทุ่มเทตั้งใจ เป็นผลจากการทำงานในส่วนของตนให้ดี (autonomy) เมื่อแต่ละส่วนดี ก็จะเสริมให้ทุกส่วนออกมาดี ไม่ส่งผลกระทบถึงคนอื่นหรือส่วนรวม หากมีปัญหาหรืออุปสรรค พนักงานทราเวลโลก้าก็จะช่วยฟันฝ่าไปด้วยกัน
2.I-Intellectual Honesty ซื่อตรงต่อความคิดและให้เกียรติทุกความคิดเห็น พนักงานทุกคนสามารถพูดถึงความต้องการหรือข้อสงสัยระหว่างที่ทำงานอยู่ได้ องค์กรพร้อมรับฟังทุกปัญหาและพนักงานทุกคนก็พร้อมจะช่วยกันแก้ปัญหาและปรับปรุงบรรยากาศในการทำงานให้ดีขึ้น  (openness) เพื่อสร้างบรรยากาศที่ทำให้ทุกคนความกล้าที่จะแสดงความคิดเห็น
3.C-Curiosity ความใฝ่หาความรู้อยู่ตลอดเวลา คิดค้นหาทางแก้ปัญหา หาโซลูชั่นสำหรับอุปสรรคหรือความท้าทายที่พบเจอ (challenge)
4.E-Empathy ความเข้าอกเข้าใจ ช่วยเหลือ สนับสนุน เพื่อนร่วมงาน พาร์ทเนอร์ และผู้ใช้งาน ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพราะเป็นองค์กรที่ใช้เทคโนโลยีมาทำงานกับคน การดีไซน์ระบบและการทำงานต่าง ๆจึงจำเป็นต้องมีความเข้าใจมนุษย์
5.H-Humility คือการถ่อมตน เหมือนกับน้ำที่ไม่เต็มแก้ว เพื่อให้ระลึกอยู่เสมอว่าทุกคนยังสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้เรื่อย ๆ รวมถึงสามารถยินดีกับความสำเร็จของคนอื่นได้ด้วยเช่นกัน


"ที่จริงในช่วงแรก ๆคุณธีร์ (ธีร์ ฉายากุล ผู้จัดการบริษัท ทราเวลโลก้า ประจำประเทศไทย) ได้ปรับค่านิยมเดิมออกมาเป็น 6 บุคลิกของพนักงานที่อยากเห็นทำเฉพาะสาขาเมืองไทยเท่านั้น และก็เข้ากับค่านิยมใหม่ได้พอดี แต่มีอยู่ตัวหนึ่งที่อาจไม่เข้าพวกก็คือคำว่า Fun เราอยากให้คนมาทำงานสนุกเพราะความเครียดจะทำให้การทำงานติดขัด คิดไม่ออกจะทำอะไรก็ไม่ได้ คุณธีร์พูดเสมอว่าอยากบริษัทเป็นเหมือนเพลย์กราวด์ ให้ทุกคนมาทำงานแล้วเป็นสนามเด็กเล่นให้ลองทำดู ลองเล่นดู"


เพราะเชื่อว่าหากได้ทดลองทำดูได้ แม้จะเฟลก็ไม่เป็นไร (ถ้าไม่ทำให้เกิดความเสียหายที่ร้ายแรงขั้นสุด) แน่นอนที่ผ่านมาการทดลองก็ย่อมต้องเคยเกิดความเสียหาย แต่ในทางกลับกันมันก็ทำให้ได้รับบทเรียนที่ดีๆ คือให้ได้เรียนรู้และหาวิธีว่ารับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างไร ได้เห็นว่าการทำแบบนี้แล้วจะเกิดผลลัพธ์อะไรขึ้นบ้าง ถ้าไม่เคยได้ลองทำก็ย่อมจะไม่มีวันรู้ว่าแบบไหนที่เวิร์ค หรือแบบไหนที่ไม่เวิร์ค


มีวิธีบ่มเพาะค่านิยมใหม่อย่างไร โสภณบอกว่า ง่ายที่สุดและดีที่สุดก็คือ ผู้นำต้องทำตัวเป็นโรลโมเดล ซึ่งเขาบอกว่าค่านิยมทุกข้อมีอยู่ครบถ้วนในตัวของธีร์ ฉายากุลอยู่แล้ว นอกจากนั้นก็พยายามแทรกเข้าไปในกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสร้างรับรู้และเข้าใจ


"เช่น เราให้พนักงานเล่นเกมถามตอบ โดยใช้โปรแกรม Kahoot เล่นง่าย ๆบนมือถือ โดยจะเซ็ทคำถามเกี่ยวกับค่านิยมให้พนักงานแย่งกันตอบภายในเวลา 15 วินาที ถ้าใครตอบเร็วก็จะมีรางวัลให้เพื่อจูงใจ นอกจากนั้น เรายังมีกล่องให้หย่อนการ์ดขอบคุณ เวลาที่พนักงานได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อน ๆซึ่งเห็นว่าเป็นการแสดงพฤติกรรมที่ตรงกับค่านิยมของบริษัท ซึ่งคนไทยเราอาจไม่ชอบพูดคำว่าขอบคุณ เราเลยมีกล่องให้เขาเขียนการ์ดมาหย่อนไว้ และทาง HR ก็จะมาไขกล่องเอาการ์ดขอบคุณไปให้คนที่ทำดี เป็นต้น"


พนักงานทราเวลโลก้า ประเทศไทยปัจจุบันมีจำนวนกว่า 300 คนและแทบทั้งหมดเป็นคนกลุ่ม “มิลเลนเนียลส์” ที่มีไอเดียและมีพลังที่เหลือเฟือ ดังนั้นการจัดกิจกรรมต่าง ๆจึงตอบโจทย์โดนใจกับไลฟ์สไตล์ของพวกเขาได้เป็นอย่างดี โสภณบอกว่าบริษัทจึงมีการจัดกิจกรรมให้พนักงานได้ร่วมสนุกในทุก ๆเทศกาล


"เมื่อวันวาเลนไทน์ที่ผ่านมา เรามีรถเข็นที่มีช็อคโกแล็ตเต็มคันเข็นแจกให้กับพนักงานทุกคน หรือวันตรุษจีน เราก็ให้เด็กแต่งตัวสไตล์จีนกันมาเลย ส่วนวันปีใหม่เราก็มีปาร์ตี้ที่ให้น้องๆได้จัดเต็ม ส่วนใหญ่ก็จะพวกเขาคิดกันเองว่าอยากจัดงานธีมแบบไหน งานปาร์ตี้ปีใหม่ปีนี้เป็นธีมแกสบี้ ซึ่งน้อง ๆก็สนุกกันมาก เราได้รับฟีดแบ็คจากทุกคนว่าเอาอีก จัดอีกนะ ผมมองว่าการทำแบบนี้ทำให้น้อง ๆได้ระเบิดพลังออกมา และจะมีเอ็นเนอยี่ในการทำงาน"


เห็นได้ชัดจากผลสำรวจความรู้สึกผูกพันของพนักงานองค์กร หรือเอนเกทเมนท์เซอร์เวย์ ซึ่งทราเวลโลก้าจัดทำขึ้นไตรมาสละครั้ง ซึ่งครั้งล่าสุดคะแนนได้เพิ่มสูงเป็น 80เปอร์เซ็นต์จากแรกๆที่มีเพียง 60 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น


"แต่ตอนนี้เรายังไม่ได้เข้าโครงการข้างนอกที่วัดความรู้สึก ความผูกพันของพนักงาน ยกตัวอย่างเช่น เบสท์เอ็มพลอยเยอร์ มองว่าขอเวลา ขอเชฟอะไรอีกนิด ซึ่งผมเองได้คุยกับคุณธีร์ในเรื่องนี้ คุณธีร์ก็บอกว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะที่ผ่านมามันเป็นการวัดกันเอง ตรงกันข้ามถ้าให้โครงการข้างนอกมาวัดก็อาจได้ผลที่แตกต่างกัน ต้องบอกว่าเราเองไม่ได้กลัวว่าคะแนนมันจะตกหรือมันจะมากขึ้นกว่าเดิม เพราะสุดท้ายมันคือความจริงที่ต้องยอมรับให้ได้ และถ้าไม่ดีก็ต้องรีบปรับปรุง"