ป.ป.ช. ลงพื้นที่สังเกตการณ์การรับนักเรียน ป้องกันรับ 'แป๊ะเจี๊ยะ'
"ป.ป.ช." ร่วมกับ "สพฐ." ลงพื้นที่สังเกตุการณ์การรับนักเรียนปีการศึกษา 2562 ป้องกันการเรียกรับเงิน “แป๊ะเจี๊ยะ” ของโรงเรียนทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 21 มี.ค.62 นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่า สืบเนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เสนอมาตรการป้องกันการทุจริตในการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทนเพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ต่อคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562 มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง
คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) มีมติให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปรับนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียน ปีการศึกษา 2562 ให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี ดังนั้น สพฐ. จึงยกเลิกนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียน ปีการศึกษา 2562 ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2561 และให้ใช้ประกาศนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปีการศึกษา 2562 ลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2562 แทน โดยมีประเด็นสำคัญ อาทิ
1. กรณีการรับนักเรียนที่มีเงื่อนไขพิเศษ 7 ข้อ ได้มีการพิจารณายกเลิกหลักเกณฑ์ 3 ข้อ ให้คงเหลือไว้ 4 ข้อ
สำหรับเงื่อนไขพิเศษที่คงเหลือไว้ 4 ข้อ คือ นักเรียนที่อยู่ในอุปการะของผู้บริจาคที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อจัดตั้งโรงเรียน ซึ่งมีเงื่อนไขและข้อตกลงร่วมกันมาก่อนมติคณะรัฐมนตรี ณ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562 นักเรียนที่เป็นผู้ยากไร้และด้อยโอกาส นักเรียนที่เป็นบุตรผู้เสียสละเพื่อชาติหรือผู้ประสบภัยพิบัติที่ต้องได้รับการสงเคราะห์ดูแลเป็นพิเศษ นักเรียนที่เป็นบุตรข้าราชการครูและบุคลากรของโรงเรียน
สำหรับเงื่อนไขพิเศษที่ได้มีการยกเลิกไป คือ นักเรียนที่ได้คะแนนสอบเท่ากันในลำดับสุดท้าย นักเรียนโควตาตามข้อตกลงของโรงเรียนคู่สหกิจหรือโรงเรียนคู่พัฒนา หรือโรงเรียนเครือข่าย นักเรียนที่อยู่ในอุปการะของผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง
2. การรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่มีการแข่งขันสูง ให้รับนักเรียนในเขตพื้นที่บริการร้อยละ 60 และรับนักเรียนทั่วไปด้วยวิธีการสอบคัดเลือกร้อยละ 40 และต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการรับนักเรียนที่มีเงื่อนไขพิเศษ รวมกับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษของแผนการรับนักเรียน โดยประกาศหลักเกณฑ์ก่อนการพิจารณาและประกาศรายชื่อนักเรียนที่ได้รับการพิจารณาตามเงื่อนไขพิเศษให้สาธารณชนทราบ
3. การกำหนดนิยาม คุณสมบัติ และหลักเกณฑ์การเป็นนักเรียนในเขตพื้นที่บริการของโรงเรียนให้ มีความชัดเจนและเข้มงวดขึ้น โดยนักเรียนในเขตพื้นที่บริการ หมายถึง นักเรียนที่มีชื่อในทะเบียนบ้านที่อยู่ใน เขตพื้นที่บริการของโรงเรียน อย่างน้อย 2 ปี นับถึงวันที่ 16 พฤษภาคม 2562 และต้องอาศัยอยู่จริงกับบิดา มารดา หรือผู้ปกครองตามพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ. 2545 ที่เป็นเจ้าบ้านหรือเจ้าของบ้าน โดยให้เจ้าบ้านหรือเจ้าของบ้านรับรองการอาศัยอยู่จริง เพื่อให้ได้นักเรียนที่เป็นผู้มีภูมิลำเนาและอาศัยอยู่ในพื้นที่จริง มิใช่เพียงแต่ชื่อปรากฏในทะเบียนบ้าน แต่มิได้อาศัยอยู่ในทะเบียนบ้านดังกล่าวจริง
4. ให้ทุกสถานศึกษาประกาศผลการสอบโดยเรียงตามลำดับคะแนนสอบของผู้เข้าสอบแข่งขันได้ทุกคนโดยเปิดเผยอย่างชัดเจนต่อสาธารณะ ทั้งนี้ ในกรณีที่สถานศึกษามีการรับนักเรียนเพิ่มเติมไม่ว่าในกรณีใดให้ดำเนินการเรียกรับนักเรียนตามประกาศผลการสอบที่ได้เรียงรายชื่อตามลำดับคะแนนที่สอบแข่งขันได้
5. ให้โรงเรียนแจ้งค่าใช้จ่ายและรายละเอียดการเก็บเงินบำรุงการศึกษาไว้ในประกาศการรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อของแต่ละโรงเรียน เพื่อให้ผู้ปกครองได้รับทราบไว้โดยชัดเจน
6. ห้ามมิให้โรงเรียนดำเนินการเอื้อประโยชน์โดยให้สิทธิพิเศษหรือโควตาแก่สมาคมผู้ปกครองและครู สมาคมศิษย์เก่า หรือสมาคมที่เกี่ยวเนื่องกับด้านการศึกษาของแต่ละโรงเรียน ในลักษณะที่มีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ในการฝากเด็กเข้าเรียนหรือในลักษณะการมีผลประโยชน์ต่างตอบแทน
คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2562 ให้สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด ทุกจังหวัด ลงพื้นที่สุ่มติดตามและสังเกตการณ์การรับนักเรียน ปีการศึกษา 2562 ทั่วประเทศ โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีการแข่งขันสูง ร่วมกับ สพฐ. และกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมทั้งรายงานผลการติดตามและสังเกตการณ์ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบ เนื่องจากขณะนี้อยู่ในช่วงใกล้กำหนดระยะเวลาการรับสมัครนักเรียน ปีการศึกษา 2562 ระหว่างวันที่ 22 – 27 มีนาคม 2562
การลงพื้นที่สุ่มติดตามและสังเกตการณ์การรับนักเรียนของสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นประจำทุกปี จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเรียกรับเงิน “แป๊ะเจี๊ยะ” ของโรงเรียนทั่วประเทศ และลดปัญหาการทุจริตในระบบการศึกษา เพื่อยกระดับและพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาของประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน