'บิ๊กฉัตร' เปิดงาน 'วันน้ำโลก' 22 มีนา 62
“บิ๊กฉัตร” เปิดงาน“วันน้ำโลก” 22 มีนา 62 ตั้งเป้า 7,490 หมู่บ้านขาดแคลน มีน้ำกินน้ำใช้ทั่วถึงภายในปีนี้
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน “วันน้ำโลกและสัปดาห์อนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ” ชูผลงานสำคัญเกิด 4 เสาหลักบริหารน้ำเป็นครั้งแรกในประเทศไทย พร้อมตั้งเป้าเดินตามแผนแม่บทน้ำ 20 ปี เน้นน้ำกินน้ำใช้ครบ 7,490 หมู่บ้านในปีนี้
วันนี้ (22 มีนาคม 2562) พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน “วันน้ำโลกและสัปดาห์อนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ” ณ ห้องเวสต์เกตฮอลล์ ชั้น 4 ห้างสรรพสินค้า เซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี โดยรองนายกรัฐมนตรีกล่าวภายหลังจากเป็นประธานในพิธิเปิดงานว่า ปัญหาการขาดแคลนน้ำสะอาดและน้ำดื่มเป็นปัญหาสำคัญของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ด้วยเหตุดังกล่าว ในปี 2535 องค์การสหประชาชาติ (UN) จึงประกาศให้วันที่ 22 มีนาคมของทุกปี เป็น “วันน้ำโลก” หรือ “World Water Day” ซึ่งแต่ละปีทุกประเทศทั่วโลกจะร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องน้ำแก่ประชาชน สำหรับในประเทศไทย รัฐบาลเห็นความสำคัญของการแก้ไขปัญหาน้ำของประเทศด้วยเป้าหมายหลักที่มุ่งพัฒนาประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และเป็นการเตรียมความพร้อมให้ประเทศไทยอย่างรอบด้าน สร้างความแข็งแกร่งให้ยืนอยู่ได้ในเวทีโลกทั้งในระดับเศรษฐกิจและสังคม โดยน้อมนำหลักการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ควบคู่กับการน้อมนำแนวทางของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 “สืบสาน รักษา ต่อยอด” มาเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำต่อยอดจากโครงการที่มีอยู่เดิม
ผลงานการบริหารจัดการน้ำที่ผ่านมาของรัฐบาล ทำให้เกิด 4 เสาหลักที่สำคัญครั้งแรกที่สำคัญของประเทศและต้องถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ไทย ได้แก่ 1.การจัดทำยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (2558-2569) 2.การตราพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2562 3.การจัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. เป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลการบริหารจัดการน้ำของประเทศ และเพื่อให้การบริหารจัดการมีความยั่งยืน มุ่งพัฒนาประเทศตามนโยบาย Thailand 4.0 และ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จึงได้จัดตั้งเสาหลักที่ 4 ที่ว่าด้วยการนำองค์ความรู้ โดยใช้ศาสตร์พระราชา งานวิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และความรู้จากต่างประเทศ มาประยุกต์ใช้เป็นพื้นฐานการบริหารจัดการน้ำของประเทศด้วย
ในส่วนของการดำเนินการตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (2558-2569) ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงและพัฒนาเป็นแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (2561-2580) เพื่อให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ประกอบด้วยแผนแม่บท 6 ด้าน โดยมีเป้าประสงค์ ดังต่อไปนี้
1.การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค ประชาชนทั้งในเมืองและชนบท มีน้ำอุปโภคและน้ำดื่มเพียงพอได้มาตรฐานสากล พร้อมจัดหาแหล่งน้ำสำรองอย่างเพียงพอ ในราคาที่เหมาะสม 2.การสร้างความมั่นคงด้านน้ำสำหรับภาคการผลิต สามารถจัดหาน้ำเพื่อการผลิตทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรมได้อย่างสมดุลระหว่างน้ำต้นทุนและความต้องการรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก เพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำของแหล่งน้ำทุกประเภท และการจัดหาแหล่งน้ำให้กับพื้นที่เกษตรน้ำฝน และพื้นที่เศรษฐกิจและพื้นที่อุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ 3.การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย มีระบบป้องกันน้ำท่วมและอุทกภัยที่มีประสิทธิภาพ ทั้งโครงสร้างและการบริหารจัดการ มีผังการระบายน้ำทุกระดับ การบริหารพื้นที่น้ำท่วมและพื้นที่ชะลอน้ำ ตลอดจนมีการบูรณาการเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำหลาก และน้ำท่วม ร่วมกับการคาดการณ์สภาพภูมิอากาศล่วงหน้า ที่รวดเร็ว ชัดเจน และใกล้เคียงมากที่สุด
4.การจัดการคุณภาพน้ำ และอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ โดยการฟื้นฟูแม่น้ำลำคลองและแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วประเทศให้มีคุณภาพตามมาตรฐาน มีการจัดการให้ชุมชนขนาดใหญ่ มีระบบบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการจัดการโดยการป้องกันและลดน้ำเสียที่ต้นทาง 5. การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรม และป้องกันการพังทลายของดิน ป่าต้นน้ำได้รับการฟื้นฟู สามารถชะลอการไหลบ่าของน้ำ มีการอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่ลาดชัน และ 6.การบริหารจัดการ มีระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มีธรรมาภิบาล ทันสมัย มีกฎหมาย ระเบียบ เกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำ มีโครงสร้างองค์กรที่เหมาะสมในการบริหารจัดการน้ำทุกระดับ เน้นการบริหารจัดการน้ำในเชิงเตรียมการป้องกันภัยจากน้ำ การมีส่วนร่วมจากการสร้างการรับรู้ การร่วมคิด ร่วมทำแผนหลัก และแผนปฏิบัติการระดับลุ่มน้ำ และระดับจังหวัดสะท้อนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ระดับพื้นที่ผู้ใช้น้ำ ลุ่มน้ำ และเชื่อมโยงไปถึงระดับนโยบาย ประกอบกับการมีระบบฐานข้อมูล ทรัพยากรมนุษย์ และงานวิจัยเพียงพอในการตัดสินใจและบริหารจัดการ
ทั้งนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการดำเนินการตามแผนแม่บทด้านที่ 1 คือ การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค ซึ่งเป็นด้านที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด มีกรอบการดำเนินการ 4 ประการ คือ 1.ต้องการให้ทุกครัวเรือนเข้าถึงน้ำอุปโภคบริโภค โดยตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2562 หมู่บ้านในพื้นที่ขาดแคลนน้ำ 7,490 หมู่บ้าน จะต้องมีน้ำกินน้ำใช้ให้ครบทุกหมู่บ้าน รวมทั้งปรับปรุงระบบประปาเดิมที่ชำรุดเพื่อให้ใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ 2.มุ่งพัฒนาระบบประปาหมู่บ้านให้ได้มาตรฐาน โดยมุ่งยกระดับให้ถึงเกณฑ์การตรวจวัดตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี 2573 (SDGs) 3.พัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพประปาเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจ แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ 404 เมือง 4.2 ล้านครัวเรือน รวมถึงการจัดหาแหล่งน้ำสำรองในพื้นที่ขาดแคลนแหล่งน้ำต้นทุน
และ 4.การประหยัดน้ำทุกภาคส่วน โดยส่งเสริมการลดการใช้น้ำในทุกภาคส่วน รวมทั้งการพัฒนานวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำอุปโภคบริโภค เช่น การแก้ปัญหาความสูญเสียน้ำของระบบท่อ ซึ่งปัจจุบัน ข้อจำกัดของการส่งน้ำด้วยระบบท่อ ทำให้เกิดการสูญเสียน้ำระหว่างทางไปไม่น้อยกว่า 30% โดยรัฐบาลตั้งเป้าไว้ว่า จะลดความสูญเสียของน้ำจากระบบท่อให้เหลือเพียง 20% เท่านั้น ซึ่งจะทำให้สามารถลดการหาแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อทดแทนปริมาณน้ำที่สูญเสีย และจากการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2562 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กนช. ยังได้กำชับให้การประปาทุกแห่งต้องมีแหล่งน้ำสำรองของตัวเอง สำหรับผลิตน้ำประปาให้ได้อย่างน้อย 15 วัน เพื่อให้มีน้ำกินน้ำใช้อย่างเพียงพอทั้งปี ทุกพื้นที่ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศด้วย
ด้าน นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวถึงรายละเอียดการจัดงานว่า กิจกรรม “วันน้ำโลกและสัปดาห์อนุรักษ์ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ” ว่า ในปีนี้องค์การสหประชาชาติได้กำหนดประเด็นหลักในการรณรงค์ในระดับโลก คือ “Leaving no one behind” ขณะที่ประเทศไทยได้กำหนดแนวคิดเพิ่มเติมในการรณรงค์ระดับประเทศคือ “ทั่วถึง..เท่าเทียม.. เพียงพอ” โดย สทนช. ได้เชิญหน่วยงานที่ต้องปฏิบัติดูแลเกี่ยวกับเรื่องการบริหารจัดการน้ำต้นทุน การผลิตและการกระจายน้ำ และหน่วยงานต่างประเทศ รวม 18 หน่วยงาน มาร่วมจัดนิทรรศการเพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจให้กับประชาชนเกี่ยวกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ โดยเฉพาะแผนแม่บทด้านที่ 1 ที่เป็นเรื่องการจัดการน้ำอุปโภคบริโภค ซึ่งประกอบไปด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับทิศทางการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ ผลงานที่ผ่านมา แผนการดำเนินงานในอนาคต ตลอดเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมต่าง ๆ ที่นำมาใช้ในบริหารจัดการน้ำ
รวมทั้งมีการจัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “ความท้าทายของการบริหารจัดการน้ำอุปโภคบริโภค” มีผู้เข้าร่วมเสวนา 5 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และกรมอนามัย ในประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการความท้าทายของการจัดหาน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเขตเมืองและพื้นที่ห่างไกล การพัฒนาคุณภาพน้ำประปาให้ได้มาตรฐานและราคาที่เหมาะสมโดยเฉพาะประปาหมู่บ้าน การขับเคลื่อนการดำเนินงานให้ประสบความสำเร็จภายใต้แผนแม่บทการจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้และตระหนักถึงคุณค่าของน้ำ อันจะนำไปสู่การปฏิบัติในการร่วมกันประหยัดและใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า สร้างความมั่นคงของทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน