‘ฟิล์มอาร์ต 2019’ โอกาสทองอุตฯ คอนเทนท์
งานตลาดภาพยนตร์และโทรทัศน์นานาชาติแห่งฮ่องกง ปี 2562 หรือ "ฟิล์มอาร์ต 2019" ซึ่งจัดขึ้น ณ ศูนย์ประชุมและนิทรรศการฮ่องกง ในเขตหว่านไจ๋ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ปิดฉากลงอย่างน่าประทับใจสำหรับบรรดาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และโทรทัศน์จากนานาชาติ
ข้อมูลจากสภาพัฒนาการค้าฮ่องกง (เอชเคทีดีซี) ซึ่งเป็นผู้จัดงานฟิล์มอาร์ต ครั้งที่ 23 ระบุว่า มีผู้ซื้อคอนเทนท์ต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงภาพยนตร์ โทรทัศน์ และเพลงในงานที่จัดขึ้น 4 วันรวมเกือบ 9,000 ราย และมีผู้เข้าร่วมงานหลายพันคน
จากการสำรวจภายในงาน พบว่า ประเทศและดินแดนที่เข้าร่วมจัดคูหาโปรโมทคอนเทนท์ของตน ประกอบด้วย ฮ่องกง จีน มาเก๊า ไต้หวัน อินเดีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ แคนาดา กัมพูชา เวียดนาม อิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมนี เกาหลีใต้ สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น สหรัฐ และไทย
ขณะที่ประเด็นสำคัญในปีนี้คือ การพัฒนาภาพยนตร์และโทรทัศน์ในกลุ่มเมืองในเขตอ่าวกวางตุ้ง ฮ่องกง และมาเก๊า (เกรทเตอร์ เบย์ แอเรีย)
งานฟิล์มอาร์ตปีนี้ มีผู้ซื้อภาพยนตร์และวีดิทัศน์จากทั่วโลกเข้าร่วมงาน ประกอบด้วย ผู้ผลิต/ผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ แอนิเมชั่นและสารคดี ธุรกิจบริการถ่ายทำภาพยนตร์ ธุรกิจรับผลิตงานโพสต์โปรดักชั่น ตัดต่อ ภาพ ระบบเสียง เทคนิคพิเศษ (Visual Effect) และบริการให้เช่าสตูดิโอถ่ายทำผลงาน
ตัวแทนประเทศไทย นำโดยกระทรวงวัฒนธรรม ได้ร่วมบูรณาการกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงพาณิชย์ และสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ จัดกิจกรรมส่งเสริมและเผยแพร่ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ในงานนี้ โดยเปิดคูหาประเทศไทย (Content Thailand Pavilion) นำผู้ประกอบการด้านภาพยนตร์และวีดิทัศน์ของไทย 22 ราย เข้าร่วมจัดจำหน่ายผลงานสร้างสรรค์และธุรกิจบริการภายในงาน
ขณะเดียวกัน ฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วยกฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และผู้บริหารกระทรวงฯ ได้เดินทางไปเข้าร่วมงานและเยี่ยมชมคูหาประเทศไทยด้วย
กระทรวงวัฒนธรรม คาดการณ์ว่า ตลอด 4 วันของงานฟิล์มอาร์ตปีนี้ บรรดาผู้ประกอบการไทยซึ่งได้รับความสนใจจากลูกค้าต่างชาติจำนวนมาก มีรายได้จากการจำหน่ายและลงทุนสร้างภาพยนตร์รวมกว่า 3,278 ล้านบาท
แรงหนุนสำคัญของรายได้สะพัดครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นภายใต้แนวคิด CONTENT THAILAND ของกระทรวงวัฒนธรรมที่ต้องการส่งเสริมนำคอนเทนท์ บุคลากร การให้บริการด้านการผลิตและการถ่ายทำคอนเทนท์ในไทย ก้าวสู่เวทีการเผยแพร่และการเจรจาธุรกิจระดับนานาชาติ
ขณะเดียวกัน กระทรวงวัฒนธรรมยังทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ส่งเสริมให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ โทรทัศน์ โฆษณาในไทย และจัดเวทีส่งเสริมการร่วมลงทุนด้านภาพยนตร์และวีดิทัศน์ระหว่างไทยกับจีน
หนึ่งในข้อตกลงสำคัญของผู้ประกอบการไทยที่เกิดขึ้นในงานนี้ คือ การตั้งกองทุนร่วมผลิตคอนเทนท์มูลค่า 100 ล้านหยวน ระหว่างบริษัทโพลี ฟิล์ม อินเวสท์เมนท์ โคของจีน กับบริษัททีดับบลิว อินเวสเมนท์ กรุ๊ปของไทย
ธนวัฒน์ วันสม ประธานกรรมการและประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของทีดับบลิว อินเวสเมนท์ กรุ๊ป เปิดเผยว่า กองทุนนี้จะมีเงินทุนเบื้องต้น 50 ล้านหยวน และจะดึงดูดเงินลงทุนเพิ่มเติมจากพันธมิตรรายอื่น ๆ โดยตั้งเป้าที่จะระดมทุนทั้งหมดให้ได้มากกว่า 100 ล้านหยวน
“ความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่องฉลาดแกมโกงในจีนเมื่อปีที่แล้ว ได้เพิ่มความเชื่อมั่นของบรรดาผู้ผลิตและนักลงทุนในไทย ที่จะทุ่มเงินลงทุนมากขึ้นในจีน” ธนวัฒน์ กล่าว และเสริมว่า กองทุนดังกล่าวมีโปรเจคที่เตรียมผลิตอยู่แล้วกว่า 10 โครงการ ซึ่งรวมถึงโปรเจคภาพยนตร์สำหรับฉายในโรงใหญ่ และแพลตฟอร์มสตรีมมิงทางอินเทอร์เน็ต
นอกจากนั้น ในการประชุมความร่วมมือเครือข่ายผู้ประกอบการด้านภาพยนตร์และโทรทัศน์ ไทย-จีน และกลุ่มเกรทเตอร์ เบย์ แอเรีย ซึ่งจัดขึ้นในสถานที่เดียวกัน มีนักลงทุนไทยและจีนเข้าร่วมกว่า 150 ราย และมีการร่วมลงนามบันทึกความความเข้าใจ (เอ็มโอยู) เพื่อร่วมลงทุนรวม 5 ฉบับ มูลค่าอย่างน้อย 138 ล้านหยวน (ประมาณ 690 ล้านบาท) ซึ่งตอกย้ำถึงความสัมพันธ์อันดีของไทยและจีน
ขณะเดียวกัน กระทรวงวัฒนธรรมยังเดินหน้าส่งเสริมความเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ของไทยในภูมิภาคอาเซียน และความร่วมมือระหว่างไทยกับเกาหลีใต้
กฤษศญพงษ์ ปลัดกระทรวงฯ ได้หารือนอกรอบกับ โอ ซ็อก-กึน ประธานสภาภาพยนตร์แห่งเกาหลีใต้ หรือ “โคฟิก” (Kofic) เกี่ยวกับการจัดตั้งศูนย์ภาพยนตร์แห่งเอเชีย (Asian Film Center) โดยมุ่งผลักดันและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของอุตสาหกรรมภาพยนตร์เอเชียกับภูมิภาคอื่น ๆ โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จในราวปลายปี 2563
ทั้งนี้ ทางเกาหลีใต้ให้ความสนใจที่จะหารือกับประเทศไทยเพื่อสร้างความร่วมมือ เนื่องจากเห็นว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ของประเทศไทยมีศักยภาพ และถือเป็นผู้นำในกลุ่มชาติอาเซียน
ปลัดกระทรวงวัฒนธรรมยังได้หารือกับผู้แทนเกาหลีใต้และจีน ในประเด็นการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2562 (Bangkok Asean Film Festival 2019) และเตรียมขยายรูปแบบการจัดงานเทศกาลดังกล่าวให้มีความยิ่งใหญ่มากขึ้น
ทางการไทยจะเชิญผู้ผลิตภาพยนตร์จากจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ร่วมนำภาพยนตร์ไปจัดฉายภายในเทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพมหานครประจำปีนี้ รวมทั้งจะจัดเวทีสัมมนาความร่วมมือระดับประเทศเพื่อขับเคลื่อนแผนการจัดตั้งศูนย์ภาพยนตร์เอเชีย และการจัดเวทีเสวนา ความร่วมมือระหว่างอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยกับจีน ครั้งที่ 2 ในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย
ขณะที่บรรดาตัวแทนบริษัทชั้นนำในกลุ่มเกรทเตอร์ เบย์ แอเรีย ต่างแสวงหาโอกาสความร่วมมือและการพัฒนาในอนาคตสำหรับอุตสาหกรรมคอนเทนท์ท้องถิ่น เช่น ภาพยนตร์ภาษากวางตุ้ง และ “แคนโตป๊อป” (Cantopop) หรือแนวเพลงป๊อปกวางตุ้ง
อัลลัน ซีแมน ประธานบริษัทหลัน ไคว่ ฟง กรุ๊ป เปิดเผยในช่วงเสวนาว่า เขาเชื่อว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์และโทรทัศน์ในกลุ่มเกรทเตอร์ เบย์ แอเรีย จำเป็นต้องทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน และศึกษาวิธีการทำงานร่วมกันเพื่อคว้าโอกาสสำคัญจากงานนี้ให้ได้
ด้านซิน ก๊วก-เอี๊ยม ประธานกิตติมศักดิ์และผู้ก่อตั้งบริษัทเนชันแนล อาร์ตส เอนเตอร์เทนเมนท์ แอนด์ คัลเชอร์ กรุ๊ป กล่าวว่า เขาหวังว่าจีนแผ่นดินใหญ่จะผ่อนคลายข้อจำกัดและโควตาเพิ่มเติมสำหรับภาพยนตร์ฮ่องกง ให้สามารถฉายในย่านเกรทเตอร์ เบย์ แอเรียซึ่งมีประชากรอยู่ราว 70 ล้านคนได้โดยตรง