กลยุทธ์ 4.0 สู่น่านน้ำสีคราม ‘สลิงชอท’

กลยุทธ์ 4.0 สู่น่านน้ำสีคราม ‘สลิงชอท’

เวลานี้คือยุค HR 4.0 ที่ว่าด้วยเรื่องของ HUMAN BEING ต้องบริหารพนักงานเป็นรายบุคคลไม่ควรคิดแพ็คเก็จแบบเหมารวม เพราะมนุษย์แต่ละคนมีความรู้สึก มีความต้องการ มีความสามารถที่แตกต่างกันไป

เป็นยุคที่เทคโนโลยีต่างๆ หุ่นยนต์ และเอไอ เข้ามาแทนที่งานของคนในหลายตำแหน่ง โดยเฉพาะงานรูทีนที่ทำแบบซ้ำๆเดิมๆ ในทุก ๆวัน ทางตรงข้ามเทคโนโลยีเหล่านี้ก็ต้องมีคนเข้ามาควบคุมอีกทีหนึ่ง ดังนั้นทักษะการทำงานของคนจึงต้องเปลี่ยนแปลงไป


ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่มาดิสรัปโลก ได้ทำให้งานของฝ่ายทรัพยากรบุคคล หรือ HR ต้องเปลี่ยนแปลงและปรับตัวเช่นกัน เพราะในทุกๆกระบวนการทำงานตั้งแต่คัดสรรคนเข้ามาทำงาน การพัฒนา การประเมินผลงาน ฯลฯ ในเวลานี้เริ่มมีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องแทบทั้งหมด


“เราเองก็พยายามว่ายน้ำไปหาน่านน้ำที่ยังแข่งไม่ดุเดือดมาก ปัจจุบันสลิงชอทได้ทำ 2-3 อย่างที่ไปตามกระแสและเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในยุคนี้ ”


“อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา” ผู้ก่อตั้ง สลิงชอท กรุ๊ป ซึ่งดำเนินการธุรกิจเป็นที่ปรึกษาและให้บริการด้านพัฒนาภาวะผู้นำและพัฒนาองค์กรมายาวนานถึง 15 ปีแล้ว บอกว่า สลิงชอทเองก็ต้องเร่งฝีเท้ามุ่งสู่เส้นทางดิจิทัลด้วยเช่นกัน


เรื่องแรก มีการพยายามนำเสนอสิ่งที่เป็นดิจิทัลมากขึ้น โดยเปิดชาแนลยูทูบในการถ่ายทอดพัฒนาความรู้ให้กับพนักงานองค์กร นำเสนอวิธีการเรียนรูปแบบของละครทำเป็นคลิปสั้นๆ ชื่อว่า "คลับมันส์เดย์" ซึ่งคอนเทนท์ส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาที่มักเกิดขึ้นในออฟฟิศ เช่น พนักงานเข้ากับหัวหน้าไม่ได้ ไม่ชอบหัวหน้า พนักงานควรทำอย่างไรดี ฯลฯ


"เราถ่ายทำคลิปและให้พนักงานเราเล่นเอง ตอนท้ายจะมีกูรูมาช่วยไขปัญหาว่าควรทำอย่างไร ที่ทำแบบนี้เพราะลูกค้า 90% ของเราเป็นองค์กรซึ่งต้องการจะพัฒนาทักษะด้านต่างๆให้พนักงาน โมเดลธุรกิจของสลิงชอทเป็นบีทูบี โฟกัสของเราจึงเป็นปัญหาภายในองค์กรเพราะตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมาความเชี่ยวชาญของเราคือการพัฒนาคนในองค์กร"


เรื่องที่สอง เทรนด์ในเวลานี้ว่าด้วย “ไมโครเลิร์นนิ่ง” สลิงชอทจึงผลิตวิดีโอเป็นคลิบสั้นๆให้ความรู้ด้านซอฟท์สกิลสอนเฉพาะเรื่อง เนื่องจากปัจจุบันการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่เป็นการเรียน “เมื่อต้องใช้” ไม่ใช่เรียน “เผื่อต้องใช้” และต้องเป็นการเรียนรู้ที่สั้นกระชับ ตอบประเด็นเรื่องใดเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องการรู้เพียงเรื่องเดียว


เรื่องที่สาม มีการทำ “โค้ชชิ่งออนดีมานด์” ต่างจากสมัยก่อนที่เวลาองค์กรหรือบริษัทต่างๆจ้างโค้ช ก็จะอยู่ในรูปการโค้ชให้ผู้บริหารและพนักงานแบบตัวต่อตัว ต้องทำตารางการพบเจอกันก่อนล่วงหน้า แต่โค้ชชิ่งออนดีมานด์เป็นการโค้ชบนโลกออนไลน์ ไม่จำเป็นต้องเดินทางมาเจอกัน และให้ผู้เรียนสามารถเข้าไปเลือกโค้ชที่ตัวเองสนใจ ทั้งเลือกเวลาโค้ชได้ตามความสะดวก เมื่อไหร่ที่ไหนก็ได้


"ล่าสุดเราเพิ่งเปิดแพลตฟอร์มชื่อ ฟิวเจอร์ แพลตฟอร์ม โดยจับมือกับพาร์ทเนอร์เป็นบริษัทต่างประเทศที่ทำการวิจัยว่าโลกเรามีแนวโน้มจะเกิดอะไรขึ้นบ้างในแต่ละช่วงเวลา ก็รวบรวมได้มากกว่า 400 เทรนด์และจะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บางเทรนด์ก็เกิดเร็วบางเทรนด์ก็เกิดช้า เมื่อก่อนบริษัทอาจใช้วิธีระดมสมองเพื่อมองอนาคต ข้อดีก็คือ ถ้าเราอยู่ในธุรกิจก็พอมองเทรนด์ออก แต่ก็จะได้มองเห็นแค่โลกของเราไม่เคยมองไกลไปกว่านั้นว่าโลกข้างนอกเป็นอย่างไร แต่แพลตฟอร์มนี้ทำให้คนในองค์กรรู้ว่ามีเทรนด์อื่นๆจำนวนมาก บางเทรนด์อาจเกี่ยวและบางเทรนด์อาจไม่เกี่ยวกับธุรกิจที่ทำอยู่ แต่ถ้าหากไม่เคยเห็นเลยเราก็อาจนึกไม่ถึงว่ามีแนวโน้มเหล่านี้ด้วย"


ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีการทำวิจัยพบเทรนด์ใหม่ว่า ในอนาคตการสร้างบ้านอาจทำได้ง่าย ๆด้วย “เทคโนโลยี3D” แปลว่าการสร้างบ้านไม่จำเป็นต้องใช้คนหรือเครื่องจักรอื่นๆ หากเทคโนโลยี 3D พัฒนาจนสามารถทำได้ถึงขั้นนั้น รวมถึงมีเทรนด์ที่บอกว่า คนทำงานในยุคนี้เริ่มไม่ต้องการออฟฟิศที่มีโต๊ะเล่นพูลหรือเครื่องนวด แต่อยากเห็นแสงธรรมชาติ อยากเห็นต้นไม้ ดังนั้นการดีไซน์จึงต้องเปลี่ยนไป เป็นต้น


"ลูกค้าองค์กรย่อมอยากรู้เทรนด์ในอนาคต ซึ่งที่ผ่านมาได้ใช้วิธีการหลากหลาย เช่นเสิร์ซหาเมกะเทรนด์ซึ่งมักจะพูดถึงเรื่องใหญ่ๆอย่างเดียว แต่ไม่ได้พูดถึงดีเทลปลีกย่อย เช่นบอกว่ามีเทรนด์ของสังคมสูงวัยแต่ก็ไม่ได้มีรายละเอียดที่ชัดเจน นอกจากนี้ส่วนใหญ่ระดับผู้บริหารอาจมองเห็นเทรนด์แต่พนักงานมักไม่รู้จึงทำให้พอคิดจะเปลี่ยนแปลงอะไรก็ทำได้ยาก องค์กรเลยอยากได้อะไรบางอย่างที่ทำให้พอมองเห็นภาพอนาคตได้ ซึ่งแพลตฟอร์มเราทำให้ได้เห็นและรู้ว่าเทรนด์จะมาช้ามาเร็วแค่ไหน มีอิมแพ็คมากหรือน้อย เมื่อเข้าใจแล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ต้องมาคิดกลยุทธ์รับมือ คือต้องไม่แค่รู้เทรนด์แล้วตระหนกกับมัน"


ถ้ามาดูในมุมของความท้าทาย อภิวุฒิมองว่า อุปสรรคใหญ่ในการปรับตัวไปสู่โลกใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงก็คือ “มายเซ็ท” ของทุกคนในทีมงานสลิงชอท โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับเนื้อหาที่ทีมงานทุกคนใช้สมองพัฒนาคิดค้นขึ้นมาจึงเปรียบเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่ควรต้องหวงแหนเอาไว้ไม่ควรเปิดเผย หรือให้ฟรี


"แต่ผมคิดว่ามายเซ็ทเรื่องนี้ต้องเปลี่ยนไป เพราะโลกปัจจุบันคอนเทนท์ฟรีมีเยอะแยะมากมาย ลูกค้าอาจไม่ได้รู้สึกว่าคอนเทนท์เรามีค่า ถ้าหวงเอาไว้ท้ายสุดมันก็อาจไม่มีค่าเลยก็ได้ นอกจากนี้เทรนด์ในอนาคตได้บอกว่า โลกจากนี้ไปจะไม่มีผู้เชี่ยวชาญ ต่อไปถ้าไม่สบายก็ไม่ต้องไปหาหมอ หรือถ้ามีปัญหาเรื่องข้อกฏหมายก็ไม่ต้องไปหาทนายแต่จะมีเอไอมาช่วย"


สรุปก็คือต้องหลุดจากกรอบวิธีคิดแบบเดิมๆ โดยยกตัวอย่างกรณีของ “Khan Academy” สถาบันการเรียนบนโลกออนไลน์ที่มีนักเรียนและผู้สนใจติดตามหลายสิบล้านคน จากการที่เปิดสอนวิชาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฟิสิกส์ เคมี ชีวะ คณิตศาสตร์ ฯลฯ แบบฟรี ๆ แต่มีรายได้จากโฆษณาจากการขายและดาต้าเบส


“ความยากที่สุดอยู่ที่ บางทีเราก็ไม่รู้ว่าเราไม่รู้อะไร พอไม่รู้ว่าเราไม่รู้อะไรก็เลยไม่รู้ว่าจะไปหาความรู้อะไร”


อภิวุฒิบอกว่าสุดท้ายก็ควรต้องทดลองทำดูก่อนว่าแบบไหนจะเวิร์คหรือไม่ พร้อมยอมรับว่าทุกแนวทางที่สลิงชอทได้ทำมาเวลานี้ก็ยังไม่สำเร็จ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของเทคโนโลยีที่ต้องเรียนรู้กับมันให้มากยิ่งขึ้น


"ปัญหาก็คือเวลาเราคุยกับคนทำไอทีมันเหมือนเราอยู่คนละโลก เราจึงควรรู้ภาษาไอทีด้วย และจำเป็นต้องปรับสปีดการทำงาน เมื่อก่อนเราอาจค่อยๆทำไป จะพัฒนาแต่ละหลักสูตรขึ้นมาก็ใช้เวลาเป็นปี แต่ตอนนี้มันไม่ทันแล้วคอนเทนท์เวลานี้มันหมดอายุเร็วคือล้าสมัยในวันที่เราพัฒนาเสร็จก็เป็นได้ ผมมองว่าไม่ต้องสมบูรณ์แบบแต่ต้องเร็ว Sense of urgency จึงมีความสำคัญทำอย่างไรให้คนในองค์กรเรารู้สึกว่ามันเร่งด่วน แต่โดยรวมที่ผ่านมาการปรับตัวของเราก็น่าพอใจอาจยังไม่ถึงกับดีมาก และอยากเห็นว่าต้องดีกว่านี้ขึ้นไปอีก"