ปธ.สภาองค์การนายจ้างฯเตรียมเเผนพัฒนาคุณภาพเเรงงานไทย

ปธ.สภาองค์การนายจ้างฯเตรียมเเผนพัฒนาคุณภาพเเรงงานไทย

เอกสิทธิ์ คุณานันทกุล ประธานสภาองค์การนายจ้างฯ เป็นห่วงเเรงงาน เตรียมเเผนพัฒนาคุณภาพเเรงงาน พร้อมเพิ่มศักยภาพคุณภาพแรงงานไทยผลักดันค่าแรงงานสูงขึ้นเทียบเท่าสากล

สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย (ECOT) ดำเนินองค์กรด้านการดูแลด้านแรงงานสัมพันธ์ในมิติต่างๆ ทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง ธุรกิจเอกชนและภาครัฐ ที่ผ่านมาทำหน้าที่ส่งเสริมการศึกษาภาคธุรกิจเอกชน และสนับสนุนให้มีการจัดการธุรกิจอย่างมีประสิทธิผลในหลายๆ เรื่อง อาทิ ความรู้ข้อกฎหมาย สิ่งแวดล้อม มาตรฐานอุตสาหกรรม และด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์หรือโรบอท รวมทั้งอินเตอร์เน็ตออฟธิงส์ ที่กำลังได้รับความสนใจอยู่ในปัจจุบัน

นายเอกสิทธิ์ คุณานันทกุล ประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย (ECOT) และประธานกรรมการบริหาร-การพัฒนาธุรกิจ บริษัท สยามอีสเทิร์น อินดัสเตรียลพาร์ค กล่าวว่า เรื่องการปรับตัวของนายจ้างภายในปี พ.ศ.2562 ซึ่งเป็นยุคดิจิทัลทรานส์ฟอร์เนชั่นนั้น การเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัลมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศไทยที่ส่วนมากเป็นการผลิต ซึ่งต้องอาศัยเทคโนโลยีในการผลิตมากมาย อาทิ หุ่นยนต์ต่างๆ ระบบเซ็นเซอร์เครื่องจักร ซึ่งมีข้อมูลมหาศาลอยู่ในระบบการผลิต

เทคโนโลยี AI กลายเป็นเทคโนโลยีที่ถูกจับตา และมีโอกาสที่จะนำมาใช้อย่างแพร่หลายในแทบทุกโรงงาน เพราะ AI ได้เข้ามาแบ่งเบาภาระงานบางอย่างของมนุษย์ เช่น งานอันตราย งานที่อาศัยการตรวจจับด้วยกล้องคอมพิวเตอร์ หรือการซ่อมบำรุงเชิงคาดการณ์ จริงอยู่ที่ AI สร้างความกังวลใจให้กับผู้ใช้แรงงาน แต่หน้าที่ของผู้ประกอบการและผู้ใช้แรงงานคือ ต้องพัฒนาทักษะให้ทันกับเทคโนโลยี และเป็นผู้ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควบคุมได้ จึงจะไปด้วยกันได้

ในกรณีดังกล่าว สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย (ECOT)  มีความเป็นห่วงถึงการเป็นอยู่ที่ดีของลูกจ้างทุกคน เพราะเห็นว่าเทคโนโลยี AI เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงมีแนวโน้มที่จะทำหลักสูตรการฝึกอบรมด้าน AI เพื่อเรียนรู้การบริหารจัดการ รวมถึงการใช้ประโยชน์สำหรับระดับบริหารขึ้น โดยจะเชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากต่างประเทศมาให้ความรู้ และตั้งเป้าหมายไว้ว่า ภายในปี พ.ศ.2562 สภาองค์การนายจ้างฯ ต้องการจัดอบรมด้าน AI ให้ได้ 6 คลาส คลาสละประมาณ 100 คน เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้

นอกจากการอบรมคนในอุตสาหกรรมแล้ว ยังมีแผนการพัฒนาแรงงานในสถาบันการศึกษา ด้วยการร่วมพัฒนาหลักสูตรด้าน AI กับมหาวิทยาลัย เพื่อผลิตบุคลากรรองรับภาคอุตสาหกรรม โดยที่สภาองค์กรนายจ้างฯ จะร่วมมือกับหลายภาคส่วน เพื่อรวบรวมความต้องการจากภาคธุรกิจจริง และส่งมอบให้ภาครัฐถึงความต้องการอย่างแท้จริงจากภาคอุตสาหกรรม สร้างบุคลากรพร้อมใช้งาน

นายเอกสิทธิ์ คุณานันทกุล ประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย (ECOT) ยังกล่าวต่อไปอีกว่า ผมมองว่า AI เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ องค์กรใดที่ยังไม่เปิดรับเทคโนโลยี หรือพยายามหาวิธีการใช้งานเทคโนโลยีเหล่านี้ ต่อไปในอนาคตอาจจะแข่งขันกับคนอื่นไม่ได้ ประสิทธิภาพ ความรวดเร็ว คือประเด็นที่เป็นประโยชน์ชัดเจนที่สุด ดังนั้น จึงต้องทำการพัฒนาฝีมือแรงงาน บริหารจัดการเรื่องคน เช่น การเปลี่ยนถ่ายย้ายแผนก การลดจำนวน เทคโนโลยีเกิดขึ้นเร็วมาก แต่ผู้ประกอบการหรือนายจ้างจะต้องตามให้ทันและทำความเข้าใจตั้งแต่เริ่มต้น ประเทศไทยต้องพัฒนา กลุ่มนายจ้างจะต้องเป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เป็นผู้ทดลองใช้ และเปิดรับเทคโนโลยี

ฉะนั้นการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาเสริมฝีมือและพัฒนาให้กับลูกจ้างในครั้งนี้นั้น จะเป็นการเพิ่มศักยภาพของลูกจ้างไทย ผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานไทย ให้มีฝีมือทัดเทียมหรือเหนือกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเป็นการสร้างรายได้ และมีการปรับฐานรายได้ขั้นต่ำให้สูงขึ้นตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน ซึ่งค่าแรงงานขั้นต่ำไม่ใช่เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงต่อไป ถ้าเรามีบุคลากรที่มีความสามารถในองค์กร ดังนั้นค่าแรงงานขั้นต่ำของลูกจ้างก็น่าจะสูงขึ้นเมื่อมีความสามารถมากขึ้นตามไปด้วย เป็นการทำให้ลูกจ้างและผู้ประกอบการมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในอนาคตอันใกล้

สำหรับลูกจ้างหรือพนักงานในองค์กร ก็จำเป็นต้องเรียนรู้พัฒนาตนเอง เพื่อสร้างโอกาสในการเติบโต การอยูในอุตสาหกรรมที่ต้องพัฒนา ผมเชื่อว่านายจ้างทุกคนต้องสนับสนุนให้แรงงานเติบโต ดังนั้น ผู้ใช้แรงงานต้องก้าวให้ทันโลก และพัฒนาอยู่ตลอดเวลา