‘สิงคโปร์’ ขุดเมืองใต้ดินแก้ปัญหาพื้นที่จำกัด
รัฐบาลสิงคโปร์ประกาศแผนวางโครงสร้างพื้นฐานใต้ย่านการเงินอย่าง “มารีนา เบย์” และสิ่งปลูกสร้างสูงอื่น ๆ อันเป็นความพยายามล่าสุดในการเพิ่มพื้นที่ในเมืองที่มีอยู่จำกัดให้ได้มากที่สุด
แผนดังกล่าว มีขึ้นในช่วงที่จำนวนประชากรที่ขยายตัวยิ่งทำให้ข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ของประเทศเด่นชัดขึ้นและเริ่มแปรสภาพที่ดินเพื่อปลูกสร้างอาคารเพิ่มเติมไม่ได้ และเนื่องจากขณะนี้แทบจะไม่เหลือทางเลือกอื่นแล้ว แผนแม่บทฉบับใหม่ของประเทศจึงเรียกร้องให้มีการขุดอุโมงค์ใต้ดิน
ทั้งนี้ แผนซึ่งเผยแพร่โดยสำนักงานพัฒนาเมืองสิงคโปร์เมื่อปลายเดือนที่แล้ว มีระยะเวลาดำเนินการไปจนถึง 10-15 ปีข้างหน้า รายงานระบุว่า รัฐบาลมีจุดประสงค์ที่จะเพิ่มที่ดินเพื่อประโยชน์ใช้สอยของประชาชนเป็นหลัก ด้วยการย้ายระบบสาธารณูปโภค ระบบขนส่ง สถานที่เก็บสินค้า และโรงงาน ลงใต้ดิน
มารีนา เบย์ เป็น 1 ใน 3 เขตที่รัฐบาลสิงคโปร์มีแผนจะเปิดตัวสิ่งปลูกสร้างใต้ดิน ทางการเผยว่า เพื่อให้การใช้พื้นที่ใต้ดินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล รัฐบาลจะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 3 มิติในการอำนวยความสะดวกในการวางผังเมืองช่วงเริ่มต้นสำหรับพื้นที่ใต้ดิน และจะนำผังเมืองใต้ดิน 3 มิตินี้ไปใช้กับพื้นที่อื่น ๆ ในอนาคต
มารีนา เบย์เติบโตเป็นศูนย์กลางธุรกิจและการเงินที่คึกคัก เต็มไปด้วยตึกระฟ้าและรีสอร์ทกาสิโนชื่อดังซึ่งปรากฏในฉากหนึ่งของภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่อง “เครซี ริช เอเชียนส์เหลี่ยมโบตั๋น” ปัจจุบัน สิงคโปร์มีทั้งรถไฟใต้ดิน เช่นเดียวกับทางหลวง ลานจอดรถ และทางคนเดินใต้ดินอยู่แล้ว
ทั้งนี้ แผนเม่บทฉบับใหม่ปรับปรุงจากพิมพ์เขียวในปี 2557 ซึ่งไม่ได้เอ่ยถึงการสร้างโครงสร้างพื้นฐานใต้ดิน
“เรากำลังศึกษาความเป็นไปได้ของการใช้อุโมงค์สำหรับทำประโยชน์ เก็บสินค้า และกิจกรรมอุตสาหกรรมในพื้นที่อย่าง ตันจงกลิง” รัฐบาลสิงคโปร์ระบุ และว่า “นอกจากนั้น เรากำลังพัฒนาเครื่องมือวางผังเมืองเพื่อกำหนดพื้นที่ที่มีศักยภาพสำหรับพัฒนาอุโมงค์ที่สอดคล้องกับการใช้ประโยชน์บนดินและหลักธรณีวิทยาที่เหมาะสม”
หลายปีที่ผ่านมา สิงคโปร์จำเป็นต้องใช้พื้นที่อันจำกัดของตนไปกับพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เป็นส่วนใหญ่ โครงการแปรสภาพที่ดินต่าง ๆทำให้พื้นผิวดินของประเทศขยายใหญ่ขึ้นเป็น 724.2 ตร.กม. จาก 581.5 ตร.กม.ในปี 2502
ขณะเดียวกัน บรรดาบุคลากรเก่ง ๆ ชาวต่างชาติและแรงงานต่างด้าวยังคงหลั่งไหลเข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง ในสมุดปกขาวที่เผยแพร่เมื่อปี 2556 ระบุว่า รัฐบาลสิงคโปร์คาดการณ์ว่าประชากรจะเพิ่มขึ้นเป็น 6.9 ล้านคนภายในปี 2573 และหากนับถึงเดือนมิ.ย. 2561 สิงคโปร์มีผู้อยู่อาศัยราว 5.64 ล้านคน เทียบกับ 3.04 ล้านคนในปี 2533
ขณะที่ประเทศขนาดเล็กนี้เต็มไปด้วยผู้อยู่อาศัยนับล้าน รัฐบาลจึงพยายามที่จะสร้างพื้นที่อยู่อาศัยเพิ่มเติมอย่างหนัก แต่การแปรสภาพที่ดินกลายเป็น “อดีต” ทางเลือกยอดนิยมไปแล้ว
เอียน โรเวน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านภูมิศาสตร์และการวางผังเมืองจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง (เอ็นทียู) ของสิงคโปร์ กล่าวว่า ความพยายามแปรสภาพที่ดินของประเทศเผชิญกับอุปสรรคหลายด้าน เช่นความลึกของทะเล การสูญเสียแหล่งอาศัยต้นทุนสูงขึ้น และการนำเข้าทรายจากต่างประเทศได้น้อยลง
“ดูเหมือนว่าขั้นต่อไปจะต้องลงไปก่อสร้างใต้ดินกันแล้ว” โรเวนกล่าว
ข้อมูลจากกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (ดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟ) ระบุว่า สิงคโปร์เป็นผู้นำเข้าทรายรายใหญ่ที่สุดในโลก มีการคาดการณ์ว่า สิงคโปร์นำเข้าทรายกว่า 80 ล้านตัน มูลค่ากว่า 740 ล้านดอลลาร์จากกัมพูชาตั้งแต่ปี 2550-2559
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน กัมพูชาไม่ใช่แหล่งนำเข้าทรายใหญ่ที่สุดของสิงคโปร์อีกแล้ว หลังจากรัฐบาลพนมเปญห้ามส่งออกทรายเมื่อปี 2559 เนื่องจากสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้าง