แพทย์เตือนการฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองสำคัญ ช่วยฟื้นชีวิตกลับมา
สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ เผยการฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง มีความสำคัญเป็นอย่างมากที่จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาเคลื่อนไหวและดำเนินชีวิตได้ปกติหรือใกล้เคียงปกติมากที่สุด
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุหนึ่งที่พบบ่อยของความพิการ ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถประกอบกิจวัตรประจำวัน เคลื่อนไหวร่างกาย และเดินได้ตามปกติ ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วย ซึ่งการรักษาทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากที่จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาดำเนินชีวิต สามารถเคลื่อนไหวร่างกายและเดินได้ปกติหรือใกล้เคียงปกติมากที่สุด โดยหลักสำคัญจะต้องมีการฟื้นฟูสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้คือ การให้ผู้ป่วยฝึกการใช้งานซ้ำๆ บ่อยๆ ในรูปแบบเดิมๆ เพื่อให้เซลล์ประสาทสมองที่ยังเหลืออยู่ได้เรียนรู้และจดจำ
แพทย์หญิงไพรัตน์ แสงดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคหลอดเลือดสมองเป็นภาวะที่สมองบางส่วนขาดเลือดไปเลี้ยง เนื่องจากหลอดเลือดตีบ หลอดเลือดอุดตันหรือหลอดเลือดแตก ส่งผลให้เนื้อเยื่อสมองส่วนนั้นๆถูกทำลาย ไม่สามารถสั่งการให้ร่างกายที่ถูกควบคุมโดยสมองส่วนนั้นทำงานได้ตามปกติ โดยลักษณะที่พบได้บ่อยคือ แขนขาอ่อนแรง ชา หรือในบางรายไม่อาจรับรู้การเคลื่อนไหวของแขนขาได้ ทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวหรือใช้การได้ตามปกติ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการฟื้นฟูร่างกายโดยเร็วและต่อเนื่อง เพื่อให้กลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติ การฟื้นฟูสมรรถภาพครอบคลุมหลายมิติที่สำคัญประกอบด้วย การป้องกัน เฝ้าระวัง รักษาความเจ็บป่วยและภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น ลดความบกพร่องของระบบประสาทที่มีอยู่ ชดเชยและปรับเปลี่ยนกิจกรรมต่างๆ ให้เหมาะสมกับความพิการที่เหลืออยู่ ฝึกหัดให้ผู้ป่วยช่วยเหลือตนเองได้มากที่สุด โดยเป็นภาระแก่ครอบครัวและผู้ดูแลน้อยที่สุด กระตุ้นให้ผู้ป่วยและครอบครัวยอมรับและปรับตัวทางจิตสังคม ส่งเสริมให้ผู้ป่วยกลับเข้าร่วมกิจกรรมของครอบครัวและสังคมรวมทั้งอาชีพ รูปแบบการบำบัดฟื้นฟู พิจารณาตามความบกพร่องและการสูญเสียสมรรถภาพด้านต่างๆ ในผู้ป่วยแต่ละรายประกอบด้วยการทำกายภาพบำบัด เพื่อฝึกให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวยืนเดินได้อย่างปลอดภัย การทำกิจกรรมบำบัดเพื่อกระตุ้นการทำงานของแขนและมือข้างทีอ่อนแรงและฝึกกิจวัตรประจำวัน การทำกิจกรรมบำบัดการกลืน ฝึกการรับรู้และเชาว์ปัญญา การฝึกการแก้ไขการพูด การฝึกการควบคุมการขับถ่าย เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติโดยเร็วที่สุด