ร้องผู้ตรวจฯพรุ่งนี้ จี้ส่งเรื่องให้ศาลรธน. วินิจฉัยกม.เลือกตั้ง
พรุ่งนี้ "เรืองไกร" ร้องผู้ตรวจการฯให้ส่งศาลรธน. วินิจฉัยกฎหมายเลือกตั้ง อ้างเขียนสับสนตีความได้หลายทาง หวั่นเปิดประชุมสภาฯไม่ได้
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักษาชาติ เปิดเผยว่าในวันที่ 18 เม.ย. เวลา 10.30 น. ตนจะไปยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้เสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญพ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส.ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในกรณีการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ ตามพ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส.มาตรา 128 เนื่องจากข้อความในกฎหมายดังกล่าววรรคหนึ่ง ( 2) ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 91 (2) กรณีกำหนดการคำนวณส.ส.พึงมีได้ แต่ในกฎหมายลูกกลับปรากฏคำว่า ส.ส.พึงมีได้ในเบื้องต้น
นอกจากนี้ยังเห็นว่าเนื้อหารัฐธรรมนูญมาตรา 91 ก็ขัดกันเอง คือวรรค 3 กับวรรค 1 (4) และมาตรา 91 วรรค 1 (4) ของรัฐธรรมนูญกับพ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส.มาตรา 128 (5) ขัดกับมาตรา 83 วรรค 1 (2) ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ เพราะถ้า กกต.จะคำนวณให้ครบ 150 คนก็อาจขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 91 วรรค 1(4)
“ผมเห็นด้วยกับสิ่งที่กกต.ออกมาระบุว่า ถึงทางตันแล้วจนต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งประเด็นทั้งหมดนี้อาจส่งผลกระทบต่อการประกาศรับรองผลเลือกตั้งร้อยละ 95 ไม่ทันวันที่ 9 พ.ค. และถึงแม้จะประกาศผลได้แต่จำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อก็อาจจะมีจำนวนไม่ถึง 150 ทำให้ส.ส.โดยรวมมีจำนวนไม่ถึงร้อยละ 95 จากส.ส.ทั้งหมด 500 คน ซึ่งอาจทำให้เปิดประชุมสภาครั้งแรกไม่ได้ โดยปัญหาที่เกิดขึ้นบางส่วนมาจากการร่างรัฐธรรมนูญไม่รอบคอบ และนำความไม่รอบคอบนั้นมาร่างพ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส. เมื่อมีการเลือกตั้งจริงทำให้เกิดการตีความจากหลายฝ่ายจนเกิดความสับสนวุ่นวาย” นายเรืองไกรระบุ
นายเรืองไกร กล่าวถึงปัญหาเกี่ยวกับการใช้อำนาจหน้าที่ของ กกต. ตามมาตรา 12 ของพ.ร.ป.กกต.ในการออกประกาศ กกต.เรื่องจำนวนส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดพึงมี ว่า การที่ กกต. ใช้จำนวนราษฎร ซึ่งไม่ได้มีสัญชาติไทยมาคิดคำนวณหาจำนวนส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีนั้น อาจขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 86 ประกอบมาตรา 85 หรือไม่ และอาจเป็นการกระทำที่ไม่สอดคล้องกับมาตรา 77 ที่ห้ามไม่ให้ผู้ใดซึ่งไม่มีสัญชาติไทยเข้ามามีส่วนช่วยเหลือในการหาเสียงเลือกตั้ง หรือกระทำการใด ๆ อันเป็นคุณเป็นโทษกับผู้สมัครพรรคการเมืองใด