สถานการณ์น้ำในอ่างทั่วประเทศ โดยรวมอยู่ในเกณฑ์พอใช้

สถานการณ์น้ำในอ่างทั่วประเทศ โดยรวมอยู่ในเกณฑ์พอใช้

วางแนวทางบริหารจัดการน้ำใน ปี61/62 เผยขณะนี้สถานการณ์น้ำในอ่างทั่วประเทศ โดยรวมอยู่ในเกณฑ์พอใช้

วันนี้ (17 เม.ย. 62) ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานจากกรมชลประทาน ในการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ครั้งที่ 8/2562 ซึ่งมีผู้แทนจากกรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทา-สาธารณภัย กรมทรัพยากรน้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เข้าร่วมประชุมฯ พร้อมทั้งถ่ายทอดสดผ่านระบบ VDO Conference ไปยังสำนักงานชลประทาน ทั่วประเทศ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำจากพื้นที่ต่างๆ พร้อมวางแนวทางในการบริหารจัดการน้ำใน ปี61/62

สภาพฝน
ในช่วงวันที่ 17 - 22 เม.ย. 62 หย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน กับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น สำหรับภาคใต้มีลมตะวันออกพัดปกคลุมตลอดช่วง ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง

สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ
สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน(17 เม.ย. 62) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 44,307 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 58 ของความจุเก็บกักรวมกัน โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้ 20,380 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 39 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ปัจจุบัน มีปริมาณน้ำรวมกัน 12,424 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 50 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 5,728 ล้าน ลบ.ม.

ส่วนสถานการณ์น้ำในการดูแลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำรวมทั้งสิ้น 61% ของความจุฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 41% ของน้ำใช้การได้รวมกัน ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ปกติ จะมีเพียงอ่างเก็บน้ำสิรินธร และอุบลรัตน์ ที่มีปริมาณน้ำน้อย สามารถระบายน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น ด้านการจัดสรรน้ำช่วงฤดูแล้งลุ่มน้ำเจ้าพระยา มากกว่าแผน 931 ล้าน ลบ.ม. และคาดการณ์ว่า เมื่อสิ้นสุดการระบายน้ำฤดูแล้งจะคงเหลือน้ำใช้การได้ประมาณ 4,900 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งใกล้เคียงกับแผนที่วางไว้(แผนคงเหลือน้ำประมาณ 5,000 ล้าน ลบ.ม.) ส่วนลุ่มน้ำแม่กลองระบายน้ำน้อยกว่าแผนเล็กน้อย


ด้านค่าความเค็มในแม่น้ำ 4 สาย นั้น เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาเกิดน้ำทะเลหนุนเล็กน้อยทำให้ค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำปราจีน-บางปะกง เพิ่มขึ้น แต่ยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถควบคุมได้ ส่วนแม่น้ำท่าจีนไม่ได้รับผลกระทบ ปัจจุบัน(17 เม.ย. 62) การควบคุมค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาที่สถานีสูบน้ำประปาสำแล อยู่ห่างจากปากแม่น้ำ 100 กิโลเมตร วัดได้ 0.15 กรัม/ลิตร(ควบคุมค่ามาตรฐานเพื่อการผลิตน้ำประปาไม่เกิน 0.50 กรัม/ลิตร) แม่น้ำแม่กลอง ที่สถานีปากคลองดำเนินสะดวก ห่างจากปากแม่น้ำ 27 กิโลเมตร วัดได้ 0.13 กรัม/ลิตร(ควบคุมตามเกณฑ์เฝ้าระวังเพื่อการเกษตรไม่เกิน 2 กรัม/ลิตร) แม่น้ำปราจีน-บางปะกง ที่สถานีปราจีนบุรี ห่างจากปากแม่น้ำ 181 กิโลเมตร วัดได้ 0.08 กรัม/ลิตร(ควบคุมตามเกณฑ์เพื่อการเกษตรไม่เกิน 2 กรัม/ลิตร) และแม่น้ำท่าจีน ที่สถานีปากคลองจินดา ห่างจากปากแม่น้ำ 53.6 กิโลเมตร วัดได้ 0.23 กรัม/ลิตร(ควบคุมตามเกณฑ์เฝ้าระวังสำหรับกล้วยไม้ 0.75 กรัม/ลิตร และเพื่อการเกษตรไม่เกิน 2 กรัม/ลิตร)

การเพาะปลูกข้าวนาปรัง ช่วงฤดูแล้ง ปี 61/62
สำหรับผลการเพาะปลูกข้าวนาปรังช่วงฤดูแล้ง ปี 2561/62 ทั้งประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 10 เม.ย. 62) มีการเพาะปลูกไปแล้ว 8.74 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 109 ของแผนฯ (แผน 8.03 ล้านไร่) เก็บเกี่ยวแล้ว 5.40 ล้านไร่
ในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการเพาะปลูกข้าวนาปรังไปแล้ว 5.85 ล้านไร่ (แผน 5.30 ล้านไร่) คิดเป็นร้อยละ 110 ของแผนฯ ซึ่งได้ทำการเก็บเกี่ยวไปแล้ว 4.53 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวใกล้เสร็จแล้ว

สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำโดยรวมทั่วประเทศอยู่ในเกณฑ์พอใช้ และปริมาณน้ำท่าอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย ซึ่งเป็นไปตามปกติของช่วงฤดูแล้ง สถานการณ์น้ำเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา กรมชลประทาน ได้ปรับแผนการระบายน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน พร้อมควบคุมระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม คงการระบายน้ำผ่านสถานีวัดน้ำบางไทรประมาณ 80-90 ลบ.ม./วินาที เพื่อควบคุมค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง (สถานการณ์ค่าความเค็มในแม่น้ำทั้ง 4 สาย ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำปราจีน-บางปะกง และแม่น้ำท่าจีน อยู่ในเกณฑ์ปกติ)

ด้านการบริหารจัดการน้ำในเขตชลประทาน ไม่มีปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคแต่อย่างใด ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทาน ได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ในการสนับสนุนเครื่องจักร เครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำ เป็นต้น กระจายอยู่ในพื้นที่โครงการชลประทานทั่วประเทศกว่า 4,850 หน่วย เพื่อสามารถเข้าช่วยเหลือประชาชนได้ตลอดเวลา หากได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ทั้งนี้ ต้องขอความร่วมมือจากเกษตรกร งดปลูกทำนาปรังต่อเนื่องหลังเก็บเกี่ยวแล้ว และขอให้ประชาชนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด