เปิดเส้นทางคดีโอนหุ้น 'ธนาธร'
เปิดเส้นทางคดีโอนหุ้น "ธนาธร"
ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 42 (3) บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้สมัคร ส.ส. เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด
งานนี้ถือว่าซีเรียสไม่น้อยต่ออนาคตทางการเมือง เพราะในกฎหมายเลือกตั้ง มาตรา 151 เขียนเอาไว้ชัดว่า ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม แต่ยังฝืนสมัคร ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี ปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาทถึง 2 แสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกําหนด 20 ปี โทษขนาดนี้จึงไม่ใช่เรื่องเล่นๆ อีกต่อไป
ปัญหาของนายธนาธรก็คือ ที่อ้างว่าโอนหุ้นวันที่ 8 มกราคมนั้น เจ้าตัวพูดไม่ชัดว่าวันนั้นอยู่ที่ไหนกันแน่ เพราะการโอนหุ้นอ้างว่าเกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ ต่อหน้าพยาน 2 คน และ "ทนายโนตารี" ซึ่งหมายถึงทนายผู้รับรองเอกสาร แต่เมื่อสื่อมวลชนตรวจสอบข่าวย้อนกลับไป พบว่าในวันที่ 8 มกราคม นายธนาธรหาเสียงอยู่ที่จังหวัดบุรีรัมย์ตลอดทั้งวัน ขณะที่วันก่อนหน้าก็หาเสียงอยู่ที่จังหวัดสุรินทร์
เงื่อนงำเหล่านี้ถูกเลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย นายศรีสุวรรณ จรรยา ยื่นเรื่องให้ กกต.ตรวจสอบ ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม
จากนั้นวันที่ 4 เมษายน กกต.ชุดใหญ่ประชุมกัน และเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ จึงตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อช่วยตรวจสอบสำนวนกการสืบสวนหรือไต่สวน โดยคณะกรรมการชุดนี้มีผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกรวม 7 คน มี นายวินัย ดำรงค์มงคลกุล เป็นประธาน
ที่ผ่านมาคณะกรรมการช่วยตรวจสอบฯ ได้รวบรวมพยานหลักีฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ส่งหนังสือขอเอกสารหลักฐานไปยัง บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อนำมาประกอบสำนวน โดยมีรายงานว่าคณะกรรมการช่วยตรวจสอบฯ จะประชุมกันในวันนี้ คาดว่าจะสามารถสรุปผลการตรวจสอบเบื้องต้นได้ และจะเสนอมติไปที่ กกต.ชุดใหญ่เพื่อพิจารณาต่อไปในการประชุมวันที่ 23 เมษายน หาก กกต.เห็นว่ามีมูล ก็จะส่งหนังสือให้นายธราธรชี้แจงข้อกล่าวหาต่อไป